18
Decemberสร้างความมั่นใจง่าย ๆ ด้วยภาษากายที่ถูกต้อง
ความมั่นใจในตัวเอง เป็นเรื่องที่หลายคนอยากปรับปรุง พัฒนาเพิ่มเติม เพราะรู้ว่าการที่เรามีความมั่นใจในตัวเองจะช่วยให้เราทำเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่ เป็นตัวเอง และมีความสุขมากขึ้นในที่สุด แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเกิดมาพร้อมกับความมั่นใจอย่างล้นเหลือ บ่อยครั้งที่หลายคนเกิดอาการประหม่า ไม่ว่าจะเป็นการพบปะคนใหม่ ๆ การพูดต่อคนจำนวนมาก หรือการนำเสนอความคิดเห็นในการทำงาน พูดทีไร ก็ใจสั่น เสียงสั่นทุกที
เห้อ แล้วแบบนี้จะมีทางไหนไหมนะที่เราจะมั่นใจขึ้นได้ง่าย ๆ แบบที่ใครก็ทำได้ไหมนะ
มีสิ วันนี้มูลาจะบอกเล่าฮาวทูสร้างความมั่นใจในตัวเอง ด้วยภาษากายนั่นเอง
ทำไมภาษากายถึงสำคัญ
เมื่อพูดถึงการสื่อสาร หลายคนมักนึกถึงถ้อยคำ ภาษา ซึ่งนั่นไม่ใช่การสื่อสารทั้งหมด ความจริงแล้วการสื่อสารสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ คือ วัจนภาษา และอวัจนภาษา โดยการสื่อสารแบบแรกคือเราพูดคุยกัน เป็นคำหรือประโยค ส่วนการสื่อสารแบบที่สอง คือการสื่อสารโดยไม่จำเป็นต้องใช้ภาษา เช่น สีหน้า ท่าทาง อากัปกิริยา ที่คนอื่นมองและสามารถตีความได้ หรือเรียกง่าย ๆ ว่า ภาษากาย นั่นเอง
เอ แล้วทำไมภาษากายถึงสำคัญนัก เรื่องนี้มีนักวิจัยชื่อ อัลเบิร์ต เมห์ราเบียน (Albert Mehrabian) ได้ลองทำการศึกษาแล้วพบว่า ความจริงแล้ว คนเราตีความจากภาษากายมากกว่าอย่างอื่นในการสื่อสารนะสิ เมื่อเราสื่อสารกับคนตรงหน้า ผู้ฟังจะตีความจากท่าทางภาษากายของเราถึง 55% ตีความจากน้ำเสียง 38% และตีความจากถ้อยคำจริง ๆ เพียง 7% เพราะฉะนั้นภาษากายของเราจึงมีความสำคัญมากอย่างไรล่ะ
ภาษกายแบบที่ทำให้เรามั่นใจขึ้น
นอกจากผู้ฟังจะตีความสิ่งที่เราพูดแล้ว ยังจะประเมินความน่าเชื่อถือ หรือควรฟังคนพูดหรือไม่จากภาษากาย ฉะนั้นแล้ว การที่เรามีท่าทางที่เหมาะสม จะสื่อให้ผู้ฟังคล้อยตาม เชื่อถือ และทำให้ตัวผู้พูดเองรู้สึกประหม่าน้อยลงได้ ข้อมูลจากนักวิจัยมหาวิทยาลัยเวสต์เทิร์น ออนทาริโอ(University of Western Ontario) ระบุว่าภาษากายที่ให้เรามั่นอกมั่นใจมากขึ้นมีดังนี้
- ยืนตรง
เมื่อต้องยืนต่อหน้าคนเยอะ ๆ ขอให้ยืนตรงด้วยความมั่นใจ ไม่ห่อหลัง หรือทำตัวเล็กลีบ และสามารถใช้พื้นที่ตรงหน้าให้มากขึ้น ไม่จำเป็นต้องยืนชิดติดกับคนอื่น
- สบตา
การสบตานั่นสำคัญมาก เพราะทำให้ผู้ฟังสนใจเรามากขึ้น ไม่เผลอคิดเรื่องอื่นระหว่างที่เรากำลังพูด หลายคนคงเคยได้ยินว่า “ดวงตาเป็นหน้าต่างของหัวใจ” ซึ่งก็ถูกต้องอย่างไม่ต้องสงสัย เราสามารถสื่อสารอารมณ์ผ่านสายตาของเราได้นั่นเอง นั่นทำให้เราสามารถโน้มน้าว หรือแสดงความรู้สึกต่อเรื่องราวต่าง ๆ ได้อย่างดียิ่งขึ้น แต่ก็อย่าเผลอสบตาคนอื่นนานเกินไป จนเขารู้สึกกลัวล่ะ
- ไม่เอามือล้วงกระเป๋า
หลายคนเวลาประหม่าหรือกลัว มักไม่รู้ว่าจะต้องเก็บมือไว้ที่ไหน กระเป๋ากางเกงหรือกระโปรงก็มักเป็นที่ประจำของมือเราอยู่เสมอ การที่เราเก็บมือไว้ในกระเป๋าจะทำให้ผู้ฟังหรือคนอื่นตีความได้ทันทีว่าเรารู้สึกกังวล หรือประหม่า เพราะฉะนั้นควรปล่อยมือตามสบาย เก็บมือประสานกันไว้ข้างหน้า หรือทำท่าทางประกอบการพูด เพื่อให้เรารู้สึกเคอะเขินน้อยลงได้
- เชิดคาง
หลายคนที่ชอบก้มหน้าก้มตา หรือไม่สบตาคนฟัง ควรลองฝึกข้อนี้โดยด่วน เพราะการเชิดคางนั้นเป็นการบังคับให้เราต้องสื่อสาร หรือสบตาคนอื่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การเชิดคางใช้ได้ทั้งตอนเดิน หรือตอนยืนตรง เป็นท่าทางที่เสริมความมั่นใจกับเราได้ทันทีเชียวล่ะ
- ยื่นตัวไปข้างหน้าเวลาสนทนา
การโน้มตัวเพื่อรับฟังคนอื่นสามารถตีความได้ว่าเรามีความกล้าที่จะร่วมวงสนทนาหรือรับฟังคนอื่น
ข้อนี้นอกจากจะช่วยให้เราฟังได้ดี ฟังได้ชัดขึ้นแล้ว ยังเป็นการสื่อสารกับคนฟังหรือคนอื่นด้วยว่าเราสนใจสิ่งที่เขาพูดอยู่ ในทางตรงกันข้าม หากเมื่อไหร่ก็ตามที่เราฟังคนอื่น แต่ยังเว้นระยะห่าง อาจทำให้คนอื่นเห็นว่าเราไม่กล้ารับฟัง หรือไม่อยากฟังด้วยซ้ำ และอาจส่งผลเสียต่อทัศนคติของคนอื่นที่มีต่อเรานั่นเอง
- เปลี่ยนท่าทางด้วยความมั่นใจ
หลายคนชอบเปลี่ยนมือเร็วไป เดินวนไปวนมา หรือทำกิริยาอาการต่าง ๆ ด้วยความร้อนรน ท่าทางเหล่านี้จะทำให้ผู้ฟังสังเกตได้ถึงความไม่เป็นมืออาชีพ หรือความประหม่าทันที ฉะนั้นแล้วเราควรแสดงท่าทางต่าง ๆ ด้วยความมั่นใจ ผายมือให้ชัด เดินไม่เร็วหรือช้าเกินไป จะเป็นการสื่อสารโดยตรงกับผู้อื่นว่า เรามีความมั่นใจในตัวเอง และสิ่งที่เรากำลังสื่อสาร และทำให้การพูดคุยเป็นไปได้อย่างราบรื่นนั่นเอง
เอาล่ะ ทีนี้ถึงคราวที่เพื่อน ๆ ต้องฝึกภาษากายเพิ่มความมั่นใจกันบ้างแล้ว ลองฝึกทำท่าทางผ่านกระจกบ่อย ๆ ล่ะ รับรองว่า เพื่อน ๆ จะรู้สึกมั่นใจขึ้นโดยที่ไม่ต้องทำอย่างอื่นให้ยุ่งยากเลยล่ะ และอย่าลืมว่า ความมั่นใจในตัวเองที่เองจะทำให้เราทำสิ่งต่าง ๆ ได้ดีขึ้นและประสบความสำเร็จได้ดีขึ้นด้วยนะ
ที่มา:
https://online.utpb.edu/about-us/articles/communication/how-much-of-communication-is-nonverbal/
https://www.verywellmind.com/ten-ways-to-have-more-confident-body-language-3024855
บทความ: MULA Learning
รูปประกอบ: MULA Learning