การค้นหาแบบครอบคลุมทั้งหมดยังไม่ได้เปิดใช้งาน
ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

Blog entry by Anuntapong Chuen-im

รวมสัญญาณ บอกอาการภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ

รวมสัญญาณ บอกอาการภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ

 เมื่อแก่ตัวลงไป อวัยวะและระบบต่าง ๆ ในร่างกายย่อมเกิดอาการเสื่อมถอย ภาวะหนึ่งที่เราได้ยินบ่อย ๆ ว่าเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุก็คือ ภาวะสมองเสื่อม แต่ลูกหลานที่ดูแลผู้สูงอายุรู้จักภาวะนี้มากน้อยขนาดไหน และเราจะรู้ได้อย่างไรว่า อาการแบบไหนที่เข้าข่ายภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ วันนี้มูลาจึงได้รวบรวมความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับภาวะสมองเสื่อมและสัญญาณเตือนของภาวะสมองเสื่อมในเพื่อนเข้าใจได้ง่าย ๆ มาฝากกันนะ

 

ภาวะสมองเสื่อมคืออะไร

              ตามคำจำกัดความจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ภาวะสมองเสื่อม (Dementia) เป็นความผิดปกติของสมองที่มีความสามารถด้อยลง จนมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตทั้งการเรียนรู้ การจดจำและการทำสิ่งต่าง ๆ

              หลายคนเข้าใจว่า สมองเสื่อม คือ โรคอัลไซเมอร์ อย่างเดียวเท่านั้น ความจริงแล้ว โรคอัลไซเมอร์ เป็นเพียงโรคหนึ่งในกลุ่มอาการสมองเสื่อมที่พบบ่อย ภาวะสมองเสื่อมครอบคลุมได้มากกว่านี้ เช่น เป็นภาวะสมองเสื่อมที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติของหลอดเลือดสมอง หรือเกิดจากโปรตีนที่ผิดปกติในสมอง

 

สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อม

              อ้างอิงข้อมูลจากโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ สาเหตุของภาวะสมองเสื่อมนั้น สามารถเกิดได้จากทั้งปัจจัยที่แก้ไขได้ และปัจจัยที่ไม่สามารถแก้ไขได้ เช่น โรคอัลไซเมอร์ โรคหลอดเลือดสมอง โรคพาร์กินสัน ขาดฮอร์โมนไทรอยด์ เนื้องอกในสมอง โพรงน้ำในสมองขยายตัว ขาดวิตามิน หรือแม้กระทั่งโรคติดต่อบางชนิดเช่น โรคเอดส์ โรคซิฟิลิส

 

ผลกระทบของการสมองเสื่อม

อ้างอิงข้อมูลจากคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ภาวะสมองเสื่อมสามารถส่งผลในด้านต่าง ๆ ดังนี้

  1. ทักษะความจำ ความตั้งใจและสมาธิ

ผู้ป่วยนอกจากมีอาการหลงลืมแล้ว บางครั้งไม่สามารถจดจ่อมีสมาธิทำอะไรได้นาน ๆ ซึ่งจะส่งผลต่อทักษะในด้านอื่น ๆ

  1. ทักษะด้านการรับรู้และความรู้ความเข้าใจ

ผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม เมื่อเห็นสิ่งต่าง ๆ อาจจะไม่เข้าใจเหมือนแต่ก่อนว่าคืออะไร เช่น เห็นหลุมอยู่ข้างหน้า แต่ไม่รู้ว่าหลุมอันตรายอย่างไร จนไม่เดินก้าวข้ามหลุมไป

  1. ทักษะด้านการบริหารจัดการ เช่น การวางแผน การจัดการ และลำดับขั้นตอนต่าง ๆ

ผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมอาจไม่สามารถจัดการแก้ไขปัญหาที่เคยทำได้ หรือไม่สามารถลำดับขั้นตอนในการทำสิ่งต่าง ๆ ก่อนหลังได้ถูกต้อง

  1. การสื่อสารหรือการเข้าใจคำศัพท์

ผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมจะค่อย ๆ สูญเสียความสามารถในการสื่อสาร เริ่มด้วยการหลงลืมชื่อคน ชื่อสถานที่ จนไปถึงการพูดซ้ำไปซ้ำมา หรือพูดเพียง 1-2 คำจนไม่พูดเป็นประโยคเพื่อสื่อสารได้

  1. การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ พฤติกรรม และบุคลิกภาพ

ผู้ป่วยจะมีอาการเศร้าหมอง วิตกกังวล ขาดความกระตือรือร้น มีความนับถือในตนเองลดลง หรือเกิดอาการทางจิตเวช เช่น หลงผิด หรือประสาทหลอน

สัญญาณเตือนภาวะสมองเสื่อม

ในหนังสือ “สูงวัย สุขภาพดี… ไม่ล้ม ไม่ลืม ไม่ซึมเศร้า กินข้าวอร่อย” ของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ระบุอาการเตือนภาวะสมองเสื่อม 10 ข้อได้แก่

  1. สูญเสียความทรงจำโดยเฉพาะเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้น
  2. ทำกิจวัตรประจำวันที่คุ้นเคยด้วยความยากลำบาก
  3. มีปัญหาในการใช้ภาษา
  4. สับสนวันเวลา และสถานที่
  5. ตัดสินใจไม่เหมาะสม
  6. มีปัญหาเกี่ยวกับความคิดรวบยอด
  7. เก็บสิ่งของผิดที่
  8. อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย
  9. บุคลิกภาพเดิมเปลี่ยนแปลง
  10. ชอบเก็บตัว ขาดความกระตือรือร้นในชีวิต

 

หากเราสังเกตได้ว่าผู้สูงอายุในครอบครัวมีอาการเหล่านี้ อย่าได้นิ่งนอนใจ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อทำการรักษาและให้ลูกหลานผู้ดูแลได้เรียนรู้วิธีการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมได้อย่างเหมาะสม เพื่อผู้สูงอายุในบ้านจะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี พึ่งพาตัวเองในเบื้องต้น และทำให้บรรยากาศในครอบครัวดีขึ้นนั่นเอง

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

https://pt.mahidol.ac.th/knowledge/?p=614

https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/alzheimer

https://eh.anamai.moph.go.th/th/elderly-manual/download/?did=201791&id=66210&reload=

https://www.bumrungrad.com/th/health-blog/january-2009/what-you-need-to-know-about-brain-health

 

บทความ: MULA Learning
รูปประกอบ: MULA Learning

 

  • แชร์