Global searching is not enabled.
Skip to main content

Blog entry by Anuntapong Chuen-im

รวมหนี้อย่างไร ไม่ให้เสียประโยชน์

“การไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ” เป็นคำกล่าวที่หลาย ๆ คนเคยได้ยินกันมาบ้าง แต่ว่าเรื่องหนี้สิน ใช่ว่าทุกคนจะสามารถจัดการและทำให้ตัวเองไม่มีหนี้ได้ไปตลอด การเป็นหนี้จึงเป็นเรื่องปกติของวัยทำงานอย่างเรา ๆ ไม่ว่าจะเป็นหนี้เพื่อการซื้อที่อยู่อาศัย ซื้อรถยนต์ บัตรเครดิตหรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่จำเป็นหรือไม่จำเป็นก็ตาม เมื่อที่มาของหนี้นั้นมีหลากหลายอย่างนี้ หลาย ๆ คนจึงเป็นหนี้มากกว่า 1 แหล่งซึ่งทำให้การจัดการหนี้นั้นเป็นเรื่องยาก ซับซ้อนเข้าไปอีก

หากเพื่อน ๆ เคยได้อ่านบทความของมูลาเรื่องการจัดการหนี้มาบ้าง การรวมหนี้เป็นก้อนเดียวคือวิธีการหนึ่งที่ทำให้ลูกหนี้มีโอกาสและความสามารถในการจัดการหนี้ได้ดีมากกว่าเดิม ลดภาระค่าใช้จ่ายและปลดหนี้ได้เร็วมากยิ่งขึ้น แต่ใช่ว่าเมื่อมีหนี้หลายก้อนแล้วก็นึกว่าต้องหาทางรวมหนี้ให้ได้เร็ว ๆ หรือหาวิธีการรวมหนี้โดยไม่คิดให้รอบครอบ เพราะนั่นอาจเป็นการเพิ่มภาระหนี้ของเราโดยไม่รู้ตัว เพราะฉะนั้นแล้วบทความวันนี้ของมูลาจึงอยากบอกเล่าข้อควรระวัง หรือกับดักของการรวมหนี้ที่อาจซ้ำเติมลูกหนี้โดยไม่รู้ตัว

 

รู้จักการรวมหนี้เป็นก้อนเดียวให้มากขึ้น

อ้างอิงข้อมูลจากตลากหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย การรวมหนี้ คือ การรวมหนี้ที่มีปัญหาหรือคาดว่าจะมีปัญหาในอนาคตจากหลาย ๆ แหล่งและนำไปสู่วิธีการแก้ไขที่เหมาะสมกับสถานะของตัวเอง เช่น รวมเป็นก้อนเดียวกันที่ต้องเสียอัตราดอกเบี้ยน้อยกว่า

ธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า การรวมหนี้มีส่วนช่วยลูกหนี้ในเรื่องต่อไปนี้

  1. หากเจรจารวมหนี้ได้สำเร็จก่อนเป็นหนี้เสีย ลูกหนี้จะไม่เสียประวัติเครดิต
  2. ลูกหนี้จะมีสภาพคล่องมากยิ่งขึ้น เพราะอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อลดลง หลังจากที่รวมหนี้สำเร็จ
  3. เมื่อรวมหนี้เป็นก้อนเดียวและอัตราดอกเบี้ยเดียวแล้ว ทำให้ลูกหนี้สามารถชำระหนี้ได้สะดวกขึ้น

 

จะรู้ได้อย่างไรว่าจำเป็นต้องรวมหนี้แล้ว

          ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยยังให้เกณฑ์คร่าว ๆ ให้ลูกหนี้พิจารณาว่า หากถึงความจำเป็นต่อไปนี้แล้ว ลูกหนี้ควรพิจารณาทำเรื่องรวมหนี้

  1. มีภาระผ่อนชำระหนี้มากเกินไป เช่น ในปัจจุบันสามารถชำระหนี้ขั้นต่ำเท่านั้น หรือมีหนี้ถึง  60% ของรายได้
  2. ขาดสภาพคล่องทางการเงิน มีเงินไม่พอสำหรับการใช้จ่ายและการชำระหนี้
  3. เริ่มกู้เงินเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่

 

กับดักการรวมหนี้ที่ควรระวัง

  1. ไม่เปรียบเทียบเจ้าหนี้ก่อนรวมหนี้

ในปัจจุบัน มีเจ้าหนี้และสถาบันการเงินมากมายเปิดสินเชื่อรวมหนี้สำหรับลูกหนี้ที่มีปัญหาในการจัดการหนี้หลายแหล่ง ทั้งธนาคาร บริษัทบัตรเครดิต หรือหน่วยงานภาครัฐที่ต้องการให้ความช่วยเหลือประชาชน เจ้าหนี้บางรายอาจให้อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า ในขณะที่บางที่ให้เงื่อนไขการผ่อนชำระที่ตอบโจทย์กับแต่ละคนมากกว่า เพราะฉะนั้นแล้วเป็นหน้าที่ของลูกหนี้ที่ต้องทำการบ้าน ศึกษา รวบรวมสินเชื่อรวมหนี้ที่มีเงื่อนไข อัตราดอกเบี้ยหรือข้อกำหนดอื่น ๆ ที่เหมาะสมกับความสามารถในการชำระเงินของเรามากที่สุด ไม่ใช่ว่าเลือกเฉพาะเจ้าที่ให้อัตราดอกเบี้ยที่ถูกที่สุดเท่านั้น

เรา ๆ สามารถเปรียบเทียบสินเชื่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการสอบถามโดยตรงที่สถาบันการเงินนั้น ๆ ขอโบรชัวร์หรือการหาข้อมูลจากเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือ เพื่อเปรียบเทียบสิทธิประโยชน์และเงื่อนไขที่เราสามารถรับได้มากที่สุดนั่นเอง

 

  1. สร้างหนี้เพิ่มเมื่อรวมหนี้แล้ว

หลังจากการรวมหนี้แล้ว หลายคนก็ชะล่าใจ เพราะคิดว่าได้รับประโยชน์จากการรวมหนี้แน่ ๆ เช่น อัตราผ่อนชำระต่อเดือนที่น้อยกว่า หรืออัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าเจ้าหนี้เดิม แต่นี่ไม่ใช่สัญญาณที่ทำให้เราสามารถสร้างหนี้ก้อนใหม่ได้ เพราะนั่นทำให้เราไม่มีทางหลุดพ้นจากวงจรหนี้ได้เลย เพราะฉะนั้นเมื่อเราเริ่มแก้ปัญหาเรื่องหนี้ด้วยการรวมหนี้แล้ว ก็ขอให้ตั้งใจเสียใหม่ว่า จะหยุดการก่อหนี้ทุกรูปแบบ เพื่อให้หนี้ก้อนใหญ่ที่เรารวมไว้แล้วหมดลงในเร็ววัน หลังจากนั้นหากมีความจำเป็นในการก่อหนี้อะไรก็สามารถพิจารณาต่อไปได้อีก

 

  1. ไม่ตรวจสอบค่าใช้จ่ายแอบแฝง

ข้อนี้คล้ายกับข้อแรก คือเราในฐานะลูกหนี้ก็ควรมีความละเอียดรอบคอบในการตัดสินใจและพิจารณาเงื่อนไขของสินเชื่อรวมหนี้ก้อนใหม่อย่างถี่ถ้วน การรวมหนี้นั้นมักจะมีค่าใช้จ่ายแอบแฝงต่าง ๆ ที่ไม่โฆษณาออกมาให้เรารู้อย่างชัดเจน เช่น เรื่องค่าดำเนินการ ค่าปรับกรณีชำระคืนก่อนกำหนด หรือค่าธรรมเนียมรายปีเป็นต้น ซึ่งค่าใช้จ่ายแอบแฝงเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อการชำระหนี้ของเราแน่ ๆ

ทางที่ดี เพื่อน ๆ ควรศึกษาและสอบถามเรื่องค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากอัตราดอกเบี้ยให้ชัดเจนไปเลย หรือขอเอกสารเรื่องค่าใช้จ่าย เงื่อนไขในการทำสินเชื่อรวมหนี้อย่างละเอียด และไม่ต้องกลัวหรือเขินอายที่เราจะถามในสิ่งที่เราไม่เข้าใจกับเจ้าหนี้ เพราะเงินทุกบาททุกสตางค์ที่จะเสียไปก็เป็นเงินจากกระเป๋าสตางค์เราทั้งนั้น

 

  1. ไม่คำนวณยอดชำระทั้งหมด

อย่างที่บอกไปก่อนหน้านี้ว่า อัตราดอกเบี้ยที่ถูกลงเป็นประโยชน์อย่างหนึ่งสำหรับลูกหนี้ที่เลือกทำการรวมหนี้ แต่การได้อัตราดอกเบี้ยต่ำนั้นไม่ได้การันตีว่าเราประหยัดค่าดอกเบี้ยได้เสมอไป หากเราไม่คิดคำนวณยอดที่เราต้องชำระทั้งหมด บางทีได้ดอกเบี้ยต่ำก็จริง แต่งวดผ่อนชำระก็ยาวเหลือเกิน จนบางทีรวมยอดชำระแล้วอาจไม่คุ้มกันก็เป็นไปได้ ดังนั้นแล้วเพื่อน ๆ อย่าลืมคิดคำนวนในระยะยาวด้วยล่ะ

 

  1. เลือกรวมหนี้กับเจ้าหนี้ที่ไม่น่าเชื่อถือ

เพราะเดี๋ยวนี้มีเจ้าหนี้มากหน้าหลายตาให้เราเลือกทำสินเชื่อรวมหนี้ แน่นอนว่าอาจมีความสุ่มเสี่ยง ไม่ถูกกฎหมายและอาจก่อให้เกิดความเสียหายมากกว่าประโยชน์ เพื่อป้องกันตัวเองแล้วนั้น เราควรศึกษาดูว่าเจ้าหนี้ที่เราสนใจมีความน่าเชื่อมากน้อยขนาดไหน ได้รับการรับรองจากองค์กรภาครัฐที่เกี่ยวข้องหรือไม่ หรือมีการรีวิวจากลูกหนี้คนอื่น ๆ ว่าเป็นอย่างไรบ้าง เพื่อทำให้เราสามารถเลือกเจ้าหนี้ที่ปลอดภัยและให้ประโยชน์แก่เราในฐานะลูกหนี้มากที่สุด

 

เป็นอย่างไรกันบ้างสำหรับข้อควรระวังในการทำเรื่องรวมหนี้ที่มูลานำมาฝากกันในวันนี้ แม้ว่าหลายคนจะรู้เรื่องเหล่านี้มาบ้าง แต่อาจหลงลืมจนพลาดข้อระวังเหล่านี้ไป และทำให้การรวมหนี้สร้างโทษแก่เรา มูลาจึงอยากให้เพื่อน ๆ พิจารณาเลือกการรวมหนี้ที่เหมาะสมและปลอดภัย และขอให้เพื่อน ๆ ปลอดหนี้ในเร็ววันด้วยนะ

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

https://www.bot.or.th/th/our-roles/special-measures/Debt-Conso.html

https://www.setinvestnow.com/th/knowledge/article/10-benefit-of-debt-consolidation

https://krungthai.com/th/financial-partner/learn-financial/1574#:~:text=%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A7%20%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88,%E0%B8%87%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%82%E0%B8%B6%E0%B9%89%E0%B8%99%20%E0%B9%81%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%81%E0%B9%87%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87

 

บทความ: MULA Learning
รูปประกอบ: MULA Learning

 

  • Share