การค้นหาแบบครอบคลุมทั้งหมดยังไม่ได้เปิดใช้งาน
ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

Blog entry by Anuntapong Chuen-im

“ตั้งเป้าหมาย” อย่างไร...? ให้ใช้ได้จริง ไม่มีเฟล

“ตั้งเป้าหมาย” อย่างไร...? ให้ใช้ได้จริง ไม่มีเฟล

เราทุก ๆ คนย่อมมี “สิ่งที่อยากได้” หรือ “สิ่งที่อยากเป็น” กันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะทั้ง การมีหุ่นที่ดีเหมือนนางแบบ นายแบบ การมีสุขภาพที่แข็งแรงไร้โรคภัยไข้เจ็บ การมีอาชีพการงานที่ดี มีเงินเดือนที่มั่นคง การมีบ้านในฝัน หรือแม้แต่การมีรถคันเก่งของตัวเอง ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็คือ “เป้าหมาย” ในชีวิตของเรายังไงล่ะ โดยคนเราแต่ละคนนั้นก็จะมีเป้าหมายเหล่านี้แตกต่างกันไปตามแต่ละคน

 

ใช่ว่าทุก ๆ คนที่มีเป้าหมาย จะทำเป้าหมายได้สำเร็จ เพราะยังมี “อุปสรรค” ชิ้นสำคัญที่คอยขัดขวางไม่ให้เราทั้งหลายก้าวไปถึงฝั่งฝันได้ นอกจากเหนือจาก “การไม่พยายาม” แต่ “การตั้งเป้าหมาย” ที่ผิดพลาดก็สามารถขัดขวางไม่ให้เราไปถึงเป้าหมายได้

 

แม้การตั้งเป้าอาจจะเป็นเรื่องที่ใครหลาย ๆ คนนั้นมองข้ามไป แต่แท้ที่จริงแล้ว นี่ถือเป็น “หัวใจสำคัญ” ที่จะส่งเราให้ถึงฝั่งฝันเลยเชียวนะ และเพิ่มโอกาสให้เราประสบความสำเร็จได้ เพราะว่าการตั้งเป้าหมาย ก็เหมือนเราปักหมุดไว้บนแผนที่ว่าเราจะไปที่ไหน เมื่อไหร่ ที่สำคัญเมื่อเรามองเห็นเป้าหมายที่เรากำหนดเอาไว้ เราจะมองเห็นวิธีการไปให้ถึงเป้าหมายได้อย่างชัดเจนมากขึ้นนั่นเอง

 

ดังนั้นเพื่อช่วยให้เพื่อน ๆ สามารถตั้งเป้าหมายได้อย่างถูกต้อง ซึ่งจะส่งผลให้ท้ายที่สุดแล้วเพื่อน ๆ บรรลุสิ่งที่ตัวเองต้องการในที่สุด วันนี้มูล่าจะมานำเสนอขั้นตอนการตั้งเป้าหมายให้ใช้ได้จริง ไม่มีเฟล พร้อมทั้งอธิบายด้วยว่าอะไรที่ทำให้การตั้งเป้าหมายที่ไม่ดีนั้นขัดขวางไม่ให้เราไปถึงสิ่งที่เราต้องการ

 

เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา ไปดูกันได้เลย!

 

อะไรกำลังทำให้เราตั้งเป้าหมายแล้วทำไม่สำเร็จ?

ก่อนที่เราจะไปดูกันว่าเราควรจะต้องตั้งเป้าหมายอย่างไรถึงจะได้ผล มูลาขออธิบายให้เพื่อน ๆ เข้าใจถึงสิ่งที่คอยขัดขวางเราไม่ได้ประสบความสำเร็จ และบรรลุเป้าหมายที่เราได้วางเอาไว้เสียก่อน โดยปัจจัยหลักทั้งหมดนั้นมีดังนี้

  • เป้าหมายไม่ชัดเจน : เมื่อเป้าของเราไม่ชัด การจะเดินตามเป้าที่ว่านั้นจึงเป็นเรื่องยาก เปรียบเสมือนเรากำลังหลงทาง และไม่มีที่ไป ท้ายที่สุดพอเราจมอยู่กับมันมาก ๆ “กำลังใจ” ในการสู้ต่อก็จะหายไปอย่างไม่ต้องสงสัย
  • เป้าหมายยากเกินไป : แม้การทำสิ่งที่ “ยากเกินตัว” นั้นจะเป็นเรื่องดีก็จริง เพราะมันกำลังส่งเสริมให้เราออกจาก Comfort Zone และเป็นคนที่เก่งขึ้น ดีขึ้น แต่หากสิ่งนั้น “ยากมากเกิน” แล้วล่ะก็... จากที่เราพอมองเห็นแววว่าจะเอาชนะมันได้บ้าง ก็กลับมืดมนไร้ทางออกไปในที่สุด แทนที่จะรู้สึกดีกับตัวเอง กลับต้องมาเสียใจสะอีกเนี่ย
  • ไม่กำหนดระยะเวลาการพิชิตเป้า : แม้เป้าหมายของเรานั้นจะดีแค่ไหนก็ตาม หากแต่เราไม่มีกรอบเวลาที่แน่นอนว่าเราจะพิชิตเป้าหมายนี้เมื่อใด ท้ายที่สุด “ไฟ” ในการพุ่งชนอุปสรรค ก็จะค่อย ๆ มอดดับไป และท้ายที่สุดก็จะเลิกล้มการเอาชนะตัวเองไปโดยปริยาย

 

แล้วเราควรตั้งเป้าหมายอย่างไร?

  • ขั้นตอนที่ 1 : “ตัดสินใจ” ให้ชัดว่า เราต้องการอะไรกันแน่
    ถ้าเราอยากจะไปเที่ยวสักที่ ๆ หนึ่ง แต่ดันไปยืนงงอยู่ในดงตู้ขายตั๋ว เพราะไม่รู้ว่าสถานที่ที่เรากำลังจะไปนั้นมันคือที่ไหนกันแน่ ท้ายที่สุดเราก็จะไม่มีวันไปไหน มิหนำซ้ำไม่มีใครสามารถอ่านใจของเราได้ นั่นแปลว่าเมื่อเราอยากจะไปไหน หรือมีเป้าหมายอะไร เราต้องเลือก “ด้วยตัวเอง”

    ดังนั้นขั้นตอนแรกของการตั้งเป้าหมายให้ได้ผล ก็คือ “การตัดสินใจ” ให้ชัด ๆ ไปเลย ว่าอยากไปไหน อยากเป็นใคร อยากได้อะไร เพราะถ้าเรายังไม่เคลียร์กับตัวเองว่าสิ่งที่เรานั้นต้องการคืออะไร เราก็คือคน ๆ นั้นที่ยืนงงอยู่หน้าตู้ขายตั๋วนั่นแหละ งงแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ ก็ไม่ได้ไปกันกันสักที

    ทั้งนี้ เพื่อให้เป้าหมายที่เราตั้งนั้นยิ่งเห็นผลมากขึ้น การจะรู้แค่ว่าไปที่ไหนอย่างเดียวนั้นยังไม่ใช้คำตอบที่ดีที่สุด ก็เหมือนเวลาเราจองตั๋วรถทัวร์ที่แหละ เพราะมันจะมีระบุด้วยเลยว่า การเดินทางครั้งนี้จะออกตั้งแต่กี่โมง ถึงเวลากี่โมง ใช้เวลาโดยรวมนานแค่ไหน แวะสถานที่อะไรบ้าง ฉะนั้นหากเราอยากถึงที่หมาย และพิชิตเป้าที่วางเอาไว้ได้ การทำให้เป้าหมายยิ่งชัด ยิ่งละเอียด ก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสที่เราจะไปถึงมันมากขึ้นนั่นเอง

    ยกตัวอย่างเช่น หากเราอยากลดน้ำหนัก เราก็ต้องกำหนดด้วยเลยว่าจะลดกี่กิโลฯ ภายในกี่เดือน หรือถ้าอยากมีรายได้เพิ่มขึ้น อยากมีเพิ่มอีกกี่เปอร์เซ็นต์หรือต้องการมีเงินจำนวนเท่าไรภายในกี่เดือน เป็นต้น

 

  • ขั้นตอนที่ 2 : “เขียน” เป้าหมายที่เราเลือกไว้ให้เห็นชัด ๆ
    เมื่อเรามีเป้าที่แน่นอนจากขั้นตอนที่ 1 แล้ว อย่าเก็บมันไว้คนเดียว เราต้องตอกย้ำเป้าหมายให้ขึ้นใจ ทำให้เห็นทุกวัน เพราะถ้าเราทิ้งเป้าที่อยู่นี้ไว้แค่ในความคิด ท้ายที่สุดเราก็จะเผลอ “ลืม” มันไปได้โดยไม่รู้ตัว ดังนั้นการเขียนมันออกมาจึงเป็นทางแก้ที่ดีที่สุดแล้ว

    ทั้งนี้หากให้มูลาเปรียบเทียบให้เห็นภาพแล้วล่ะก็ การเขียนเป้าหมายใส่กระดาษก็เหมือนกับการวาดแผนที่นั่นแหละ พอเรามีแผนที่ที่ดี มีความละเอียด เราก็จะ “มองเห็น” จุดมุ่งหมายของมันชัดขึ้น แถมยังง่ายต่อการเห็นอุปสรรค หรือข้อจำกัดด้วยเช่นกันนะ ซึ่งทำให้เราปรับเปลี่ยนเส้นทาง ไปทางที่ดีขึ้นได้อีกด้วย เริ่ดป่ะล่ะ

 

  • ขั้นตอนที่ 3 : “เส้นตาย” ของเป้าหมายต้องมี!
    ระยะเวลาจะเป็นตัวคอยบังคับให้เราเดินตามเป้าหมายได้อย่างชัดเจนขึ้น เหมือนเวลาที่เราทำงานแล้วมีเส้นตาย หรือวันกำหนดส่งงานนั่นแหละ ถ้าไม่มีเส้นตายเหล่านี้ เราอาจจะไม่มีวันทำงานเสร็จเลยก็เป็นได้ ดังนั้นเราเองก็สามารถใช้ประโยชน์ของเส้นตายดังกล่าวกับการตั้งเป้าหมายในชีวิตของตัวเราเองได้เช่นกัน

    ที่สำคัญ การมีระยะเวลาที่แน่นอนให้กับเป้าหมายของตัวเอง ยังช่วยลดอาการ “หยวน” หรือผลัดวันประกันพรุ่งได้อีกด้วยนะ เนื่องจากคนส่วนมากก็มักจะคิดว่าไม่ทำวันนี้ ก็ค่อยทำพรุ่งนี้ก็ได้ ซึ่งนี่ไม่ใช่เรื่องดีสำหรับการพิชิตเป้าหมายเลยแม้แต่น้อย เพราะเมื่อเราผลัดมันไปเรื่อย ๆ ท้ายที่สุดก็สรุปว่าไม่ได้ทำสักที นั่นเอง

    เพราะฉะนั้น อยากให้เป้าหมายที่เราวางไว้ไม่มีเฟล เราต้องกำหนดเวลาที่ชัดเจน ไม่ใช่แค่คร่าว ๆ นะ เรียกได้ว่าต้อง ลงวันที่ เดือน และเวลาไปด้วยเลย นับว่าเจ๋งสุด ๆ ทั้งนี้หากการวางเป้าระยะยาวอาจจะยากเกินไป เราก็สามารถเริ่มจากเป้าหมายรายวันก็ได้เช่นเดียวกัน ซึ่งข้อดีของการมีเป้าเล็ก ๆ ที่ไม่ยากเกินตัวก็คือ พอเราทำสำเร็จในแต่ละวัน เราจะรู้สึกภูมิใจ และมีไฟทำมันต่อไป พอไฟของเราแรงมากเข้า เราก็ค่อยตั้งเป้าหมายระยะยาว เป็นรายเดือนหรือรายปี ก็ไม่สาย

 

  • ขั้นตอนที่ 4 : ทำรายการสำหรับ “ทุกสิ่งที่ต้องทำ” เพื่อให้เราก้าวไปถึงเป้า
    มูลาบอกเลยว่าการเขียนเป้าหมายออกมาอย่างเดียวนั้นยังไม่พอ ถ้าเราอยากให้มันได้ผลยิ่งขึ้น เราต้องเขียน “วิธีการ” ควบคู่ไปด้วย ไม่อย่างนั้นเป้าหมายที่เราอุตส่าห์คิดมาแทบตายก็จะเป็นเพียงแค่ความฝันที่อาจจะเกินตัวเกินไป และยังทำไม่ได้จริง

    ดังนั้นสิ่งที่เราทุก ๆ คนต้องทำก็คือเขียนวิธีการ อุปสรรคที่จะเจอ หรือแม้แต่คนที่เราต้องขอคำปรึกษาหรือความช่วยเหลือเพื่อให้ไปถึงเป้า กลั่นกรองสิ่งต่าง ๆ ที่ต้องทำในแต่ละขั้นตอนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายใหญ่ของเราให้ได้ออกมาให้ครบ เมื่อได้เขียนออกมา เราก็จะมีแผนพิชิตเป้าหมายที่ดี มีรายละเอียด ซึ่งใครที่ชอบเดินทางจะรู้เลยว่า ยิ่งแผนที่ละเอียดเท่าไร เรายิ่งประหยัดเวลาในการเดินทางมากขึ้นเท่านั้น และเปอร์เซ็นต์ของการหลงทางก็แทบจะเป็นศูนย์ ปังสุดอะไรสุด

 

  • ขั้นตอนที่ 5 : “เรียงลำดับ” สิ่งที่ต้องทำตามความสำคัญ
    หลังจากเรามีแผนสุดเจ๋งแล้ว เราก็ต้องมา “จัดลำดับ” ความสำคัญ จากมากไปน้อย พูดง่าย ๆ ก็คือเราต้องทำสิ่งสำคัญก่อนนั่นแหละ เพราะบางอย่างนั้นสำคัญมาก ๆ และไม่สามารถรอได้ ในขณะที่อีกอย่างอาจจะรอไปทำทีหลังก็ได้ หากแต่เรามัวไปทำสิ่งที่รอได้ และไม่ยอมทำสิ่งที่ไม่สามารถรอได้เนี่ย มันก็จะไม่เป็นผลดีต่อการบรรลุเป้าหมายของเราอย่างแน่นอน

 

  • ขั้นตอนที่ 6 : “ลงมือ” ทำตามแผนทันที ไม่ต้องรีรอ
    ไม่มีการรีรอหรือผลัดวันประกันพรุ่ง เพราะนั่นคือสาเหตุหลักที่ทำให้เราไม่เคยสำเร็จตามเป้าหมายสักที ดังนั้นเมื่อเรามาถึงขั้นตอนนี้แล้ว ก็ต้อง “เริ่มเลย” เริ่มทันที ทั้งนี้ สิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าการเริ่มลงมือทำ ก็คือการทำมันอย่างสม่ำเสมอ และมีความต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเจออุปสรรคมากแค่ไหน เราก็ต้องทำไปตามแผนของเราเรื่อย ๆ อย่าหยุด เมื่อเราทำแบบสม่ำเสมอแล้วล่ะก็... สิ่งที่จะได้ตามมาก็คือ “วินัย” และความเคยชิน ซึ่งเป็นอีกตัวช่วยสำคัญที่จะผลักดันเราให้ประสบความสำเร็จกับทุก ๆ เรื่องที่เราตั้งใจเอาไว้

 

  • ขั้นตอนที่ 7 : สำเร็จแล้ว ก็ต้อง “เดินต่อ!”
    เมื่อเราได้เริ่มทำสิ่งต่าง ๆ จนสำเร็จตามเป้าหมายแล้ว ก็อย่าลืมรักษามาตรฐานนี้เอาไว้ให้คงที่ อย่ามัวแต่หลงอยู่กับความสำเร็จที่ได้มา เพราะไม่รู้ว่าความสำเร็จที่ได้มานั้นจะอยู่กับเราไปตลอดหรือไม่ ดังนั้นเพื่อน ๆ จงควรหมั่นเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ เพื่อการพัฒนาตัวเองให้ประสบความสำเร็จในทุก ๆ ด้าน นั่นเอง

 

มาถึงตรงนี้ มูลาขอบอกเลยว่า หากเพื่อน ๆ ทำครบทั้ง 7 ขั้นตอนนี้ ไม่ใช่แค่จะสำเร็จถึงเป้าหมายกันทั่วหน้า แต่ยังสร้างนิสัยแห่งการพัฒนา หรือ “วินัย” ให้แข็งแรงขึ้นอีกด้วยนะ มูลากล้ารับประกันเลยว่าการมีวินัยนี่แหละจะทำให้ทุก ๆ เรื่องในชีวิตของเพื่อน ๆ จะกลายเป็น “เรื่องง่าย” อย่างไม่เคยเป็นมาก่อนเลย ไม่เชื่อก็ลองทำดูนะ!

 

 

บทความ: MULA Learning

รูปประกอบ: MULA Learning

  • แชร์