การค้นหาแบบครอบคลุมทั้งหมดยังไม่ได้เปิดใช้งาน
ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

Blog entry by Anuntapong Chuen-im

ปกป้องผู้สูงอายุอย่างไร ให้ปลอดภัยจากมิจฉาชีพ

ปกป้องผู้สูงอายุอย่างไร ให้ปลอดภัยจากมิจฉาชีพ

ภัยร้ายจากมิจฉาชีพนับวันยิ่งน่ากลัวและยิ่งมีผู้ตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก ข้อมูลจากโครงการศึกษาสถานการณ์ภัยคุกคามทางออนไลน์ ปี 2567 โดย สสส และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยระบุว่า มีคนไทยตกเป็นเหยื่อ 36 ล้านคน และเป็นผู้สูงอายุถึงครึ่งหนึ่ง หรือ 18 ล้านคน เลยทีเดียว นั้นทำให้ผู้สูงอายุหลาย ๆ ท่านต้องสูญเสียเงินออมทั้งชีวิต ชีวิตบั้นปลายที่เคยวางแผนก็อาจจะพังทลายลงได้

ในฐานะที่เราเป็นลูกหลานที่คอยดูแลผู้สูงอายุ จะมีวิธีการไหนบ้างหรือไม่ที่เราจะปกป้องหรือสอนผู้สูงอายุเรื่องภัยจากมิจฉาชีพดังกล่าว เพื่อให้พวกท่านสามารถดูแลตัวเองได้ และไม่ถูกหลอกเมื่อเราไม่ได้อยู่ใกล้ ๆ บทความวันนี้ของมูลาจึงอยากมาแชร์เคล็ดลับดี ๆ ในการสอนและปกป้องผู้สูงอายุในบ้านเรื่องมิจฉาชีพกันนะ

 

ภัยจากมิจฉาชีพที่ผู้สูงอายุควรรู้

ตอนนี้รูปแบบการหลอกลวงของมิจฉาชีพนั้นมีมากมายหลายประเภทมาก ๆ แต่รูปแบบหลัก ๆ ที่มิจฉาชีพมักใช้ได้ผลกับผู้สูงอายุมีดังนี้

  1. ชวนลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนสูง

ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ทองคำ ที่ดิน หุ้นหรือเงินดิจิตอล มิจฉาชีพมักหลอกล่อด้วยประโยคที่ว่า มีผลตอบแทนสูง มีผู้ร่วมลงทุนเป็นคนดังมากมาย พร้อมรูปของผู้ลงทุนที่ประสบความสำเร็จ

  1. ติดหนี้บัตรเครดิต

ข้อนี้มิจฉาชีพอาจใช้ความตกใจของผู้สูงอายุเป็นเครื่องมือ แม้ว่าผู้สูงอายุจะไม่ได้มีบัตรเครดิต แต่มิจฉาชีพก็สามารถหาวิธีสร้างความน่าเชื่อถือได้ ไม่ว่าการให้ข้อมูลส่วนตัวของเหยื่อที่ถูกต้อง และข่มขู่ว่าหากไม่ชำระ ต้องเจอค่าปรับ ยึดบ้าน หรือขึ้นบัญชีดำต่าง ๆ ที่สร้างความกลัวให้ผู้สูงอายุ

  1. ปลอมเป็นคนใกล้ชิด

ด้วยเทคโนโลยี AI ทำให้การปลอมหน้า ปลอมเสียง หรือปลอมไลน์เพื่อหลอกลวงทำได้แนบเนียนมากยิ่งขึ้น อาจมาด้วยรูปแบบลูกหลานมาขอเงินเพราะเดือดร้อน ลูกหลานถูกเรียกค่าไถ่ หรือปลอมเป็นเจ้าหนี้ของลูกหลานก็ทำให้ผู้สูงอายุลนลานและตกเป็นเหยื่อได้อย่างแน่นอน

  1. บัญชีเงินฝากถูกอายัด หรือบัญชีธนาคารถูกพัวพันกับการฟอกเงิน

แน่นอนว่า ใครได้ยินแบบนี้ก็ต้องตกใจเป็นธรรรมดา ยิ่งผู้สูงอายุท่านใดที่เก็บเงินก้อนทั้งหมดไว้ในบัญชีเงินฝากแล้วล่ะก็ ความลนลานยิ่งทำให้ผู้สูงอายุตกเป็นเหยื่อได้ง่ายขึ้น มิจฉาชีพอาจขอข้อมูลส่วนบุคคลเช่น เลขบัตรประชาชน รหัสผ่านเอทีเอ็ม เพื่ออ้างว่าจะทำธุรกรรมให้เรียบร้อย

 

วิธีการสอน หรือป้องกันภัยจากมิจฉาชีพในผู้สูงอายุ

  1. ดูแล พูดคุยกับผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง

ผู้สูงอายุบางคนมีความกังวลใจ ความเครียดแต่ไม่กล้าบอก เป็นไปได้ว่า อาจกำลังเจอปัญหาจากมิจฉาชีพที่หลอกลวง หรือขู่ให้ตกใจ หากลูกหลานหมั่นติดตาม สังเกตผู้สูงอายุว่ามีความผิดปกติอะไรก็สามารถลดความเสี่ยงที่เกิดจากมิจฉาชีพได้

  1. จำหลักการ 5 อ. ให้ขึ้นใจ

กรมกิจการผู้สูงอายุแนะนำหลักการ 5 อ. สำหรับผู้สูงอายุไว้คือ

“อย่ากด” อย่ากดข้อความหรือลิงก์แปลก ๆ

“อย่าโอน” อย่าโอนเงินเด็ดขาด ไม่ว่าปลายสายจะอ้างเหตุผลอะไร

“อย่าเชื่อ” อย่าเชื่อว่าหน่วยงานราชการ ธนาคารต่าง ๆ จะแจ้งเรื่องผ่านช่องทางเหล่านี้ ต้องตรวจเช็คเสียก่อน

“อย่าบอก” อย่าบอกข้อมูลส่วนตัว เช่น เลขบัตรประชาชน รหัสบัตรเอทีเอ็ม

“อย่าคุย” รีบวางสาย หากรู้ว่าเป็นมิจฉาชีพ

  1. ติดตั้งแอปพลิเคชันเพื่อการตรวจสอบมิจฉาชีพ

เดี๋ยวนี้มีแอปในมือถือที่เราสามารถตรวจเช็คคร่าว ๆ ว่าปลายสายจะเป็นใคร เป็นมิจฉาชีพได้หรือไม่ ลูกหลานสามารถติดตั้งแอป และสอนการใช้งาน เพื่อป้องกันมิจฉาชีพที่อาจติดต่อมาได้

  1. อัพเดตข่าวและกลโกงใหม่ ๆ ของมิจฉาชีพ

เพราะมิจฉาชีพเก่งขึ้นทุกวัน กลโกงต่าง ๆ ก็ยิ่งจะซับซ้อนและแนบเนียนขึ้นไปอีก นั่นทำให้ผู้สูงอายุคาดคิดไม่ถึง และอาจรู้ไม่เท่าทันผู้ร้ายเหล่านี้ ฉะนั้นแล้ว เราในฐานะผู้ดูแลผู้สูงอายุก็ควรเล่าข่าว เหตุการณ์มิจฉาชีพที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

  1. เตรียมโค้ดลับสื่อสารระหว่างคนใกล้ชิด

ในกรณีที่สงสัยว่ามิจฉาชีพปลอมแปลงเป็นคนใกล้ชิด หลอกให้โอนเงิน หรือหลอกเอาข้อมูล ควรหาวิธีการยืนยันตัวตนระหว่างคนใกล้ชิด เช่น การถามคำถามที่คนในครอบครัวจะรู้เท่านั้น หรือโค้ดลับอื่น ๆ ที่เมื่อสื่อสารแล้วจะรู้ว่าได้คุยกับคน ๆ นั้นจริง ๆ

 

แม้ว่ามิจฉาชีพจะมีรูปแบบเปลี่ยนไปเร็วขนาดไหน สมจริงขนาดไหน แต่หากเราเอาใจใส่ผู้สงอายุ หมั่นพูดคุยใกล้ชิดกับผู้สูงอายุ รวมทั้งบอกเล่าวิธีการที่มิจฉาชีพใช้ในปัจจุบันให้ผู้สูงอายุรับรู้ ก็เชื่อว่าผู้สูงอายุของเราก็จะไม่เป็นเหยื่อรายต่อไปของเหล่ามิจฉาชีพอย่างแน่นอน  

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

https://www.tiscoasset.com/providentfund/protecttheelderlyfromfraudsters/

https://www.dop.go.th/th/know/13/1569

https://www.dop.go.th/th/news/1/3718

https://www.tcc.or.th/elder-cybercrime/

https://op.mahidol.ac.th/ga/tricks-scammers/

 

บทความ: MULA Learning
รูปประกอบ: MULA Learning

 

  • แชร์