Global searching is not enabled.
Skip to main content

Blog entry by Anuntapong Chuen-im

“ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง” รู้ไว้ใช้ประโยชน์

การจับจ่ายใช้สอยเป็นกิจกรรมปกติในชีวิตประจำวันของเรา ไม่ว่าสถานะทางการเงินจะเป็นแบบไหน ล้วนก็ต้องการใช้เงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการมาตอบสนองความต้องการของตัวเองทั้งสิ้น แต่ใช่ว่าเราจะสามารถหาเงินก้อนมาซื้อของชิ้นโตๆ แบบเต็มจำนวนได้ทุกครั้งไป บางทีเพื่อน ๆ อาจเลือกใช้บริการบัตรเครดิตในการผ่อนชำระ ซึ่งเบ็ดเสร็จแล้วเราต้องเสียดอกเบี้ยเพิ่มไปด้วย แต่ตอนนี้ ในโลกการบริการทางการเงินเป็นรูปแบบบริการใหม่ที่สามารถตอบโจทย์เรื่องนี้แล้ว มีชื่อลำลองว่า “ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง” แค่ชื่อก็บอกแล้วว่าจะช่วยให้เรามีกำลังในการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นแน่ ๆ แต่ว่าเรารู้จักเรื่องนี้มากน้อยขนาดไหนกัน วันนี้มูลามาสรุปให้ฟังเกี่ยวกับเทรนด์ “ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง” ว่าคืออะไร และเราจะใช้ประโยชน์ได้จริงไหม มาทำความเข้าใจไปพร้อมกันเลย

“ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง” คืออะไรกันแน่
“ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง” เป็นคำแปลลำลองจากภาษาอังกฤษที่ว่า “Buy Now Pay Later” หรือเรียกย่อ ๆ ว่า “BNPL” เป็นรูปแบบการใช้จ่ายที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในผู้บริโภคกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งอาจจะไม่ได้มีกำลังซื้อมากมายแต่ต้องการใช้สินค้าและบริการในเวลานั้นจริง ๆ
อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บริการ “ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง” นี้คือการที่จุดขายอนุมัติให้ลูกค้าได้ใช้บริการหรือสินค้าที่ต้องการโดยที่ยังไม่ต้องชำระเงินเต็มจำนวน และค่อยผ่อนชำระค่าสินค้าและบริการเป็นงวด ๆ จนครบราคาสินค้านั้น ๆ ฟังดูแล้วก็เหมือนการรูดบัตรเครดิตผ่อนจ่ายสินค้า แต่ความแตกต่างคือ บริการ “ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง” ไม่มีการเก็บค่าดอกเบี้ยหรือค่าธรรมเนียมรายปีเหมือนกับบัตรเครดิต เว้นเสียแต่ว่าลูกค้าผิดกำหนดชำระ จึงจะต้องจ่ายค่าปรับทีหลัง ซึ่งค่าปรับโดยมากจะถูกกว่าค่าดอกเบี้ยจากบัตรเครดิตเสียด้วย แต่บริการ “ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง” ไม่ได้ใช้ได้หลากหลายเหมือนกับบัตรเครดิต เพราะฉะนั้นความสะดวกก็ต่างไปในลักษณะนี้

รูปแบบบริการ “ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง” ในประเทศไทย
อ้างอิงข้อมูลจากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ การซื้อขายสินค้าโดยใช้บริการ “ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง” ในประเทศไทยสามารถแบ่งได้ออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
1. แพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์เป็นผู้ให้บริการ
ถ้าใครเป็นสายช้อปปิ้งออนไลน์ เมื่อเราซื้อของผ่านแอปฯ ในบางแอปฯ เราจะเห็นว่าเราสามารถเลือกซื้อสินค้าแบบซื้อก่อน จ่ายทีหลัง ทำให้ไม่ต้องจ่ายเงินก้อนทีเดียว ลูกค้ามีหน้าที่จ่ายเงินเป็นงวดแก่แพลตฟอร์มออนไลน์เหล่านั้นโดยตรง ขอเพียงมีบัญชีของแพลตฟอร์มและใช้บัตรประชาชนของตัวเองในการสมัครบริการนี้
2. บุคคลที่ 3 เป็นผู้ให้บริการ
สำหรับบางร้านค้าที่ไม่ได้มีบริการซื้อก่อน จ่ายทีหลังเป็นของตนเองแต่อยากช่วยอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้า ก็จะแนะนำบุคคลที่ 3 ที่เป็นบริษัททางการเงินที่มีบริการนี้แก่ลูกค้าของตนเอง เมื่อลูกค้าต้องการซื้อสินค้าในรูปแบบนี้จะต้องลงทะเบียนกับบุคคลที่ 3 โดยตรง อาจต้องผูกบัญชีบัตรเดบิตหรือเครดิตเพื่อใช้งาน หลังจากนั้นชำระเงินงวดแรกเมื่อซื้อสินค้า และผ่อนจ่ายกับบุคคลที่ 3 โดยตรง

“ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง” อย่างไรให้ได้ประโยชน์สูงสุด
เพราะความสะดวกของบริการนี้ ทำให้ผู้บริโภคหลายคนเลือกใช้บริการนี้อยู่ไม่น้อย อย่างไรก็ตามขึ้นชื่อว่าเป็นบริการทางการเงิน ผู้บริโภคก็ควรทำความเข้าใจและเลือกใช้บริการ “ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง” อย่างรอบคอบ เคล็ดลับที่มูลาขอแนะนำมีดังนี้
1. ประเมินความสามารถในการแบ่งชำระ
แม้ข้อดีหลัก ๆ คือการไม่มีดอกเบี้ยในแต่ละงวด แต่การที่เราต้องมีภาระในการจ่ายเพิ่มขึ้นในอนาคตก็เป็นเรื่องที่เราต้องคำนึงให้ดี ดูว่าในอนาคตอันใกล้นี้ เรามีภาระทางการเงินก้อนโตอื่น ๆ ไหม เราจ่ายไหวจริง ๆ หรือเปล่า หรือเรามีแนวโน้มต้องใช้เงินไปกับอะไรอย่างอื่นที่คาดไม่ถึงหรือไม่ เพื่อให้เราไม่จ่ายเงินล่าช้าและเสียค่าปรับของบริการ “ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง” ในภายหลัง
2. ใช้บริการ “ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง” ให้พอดี ไม่เยอะจนเกินไป
ให้นึกไว้เสมอว่า นี่เป็นการเอาเงินในอนาคตมาใช้ ไม่ว่าจะมีดอกเบี้ยหรือไม่ก็ตาม อย่าตามใจตัวเองจนไม่ว่าจะซื้อของอะไร ก็จะใช้บริการ “ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง” เสมอ เพราะยิ่งใช้เยอะ เราก็ยิ่งงงและอาจหลงลืมจนผิดวันนัดชำระได้ เพราะฉะนั้นใช้ให้พอดี อย่าใช้เยอะจนเกินไปล่ะ
3. ชำระเงินรายงวดให้ตรงวัน
อย่างที่บอกไปตอนต้น บริการ “ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง” มักไม่มีดอกเบี้ยในการผ่อนชำระ แต่มีค่าปรับ ค่าธรรมเนียม หรือแม้แต่ค่าทวงหนี้เมื่อเราชำระเงินรายงวดล่าช้า เพราะฉะนั้นอย่าลืมจดวันชำระ ตั้งค่าเตือนวันชำระให้ดี ๆ จะได้ประโยชน์จากบริการนี้เต็มที่ ไม่เสียค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นล่ะ
4. ทำความเข้าใจรายละเอียดปลีกย่อยของบริการ “ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง”
ของดีและฟรีไม่ได้มีในโลกหรอกนะ ค่าบริการอื่น ๆ เช่น ค่าปรับ ค่าธรรมเนียม ค่าทวงหนี้ เราในฐานะผู้บริโภคเข้าใจเงื่อนไขมากขนาดไหน เพราะฉะนั้นต้องศึกษาให้เข้าใจทุกครั้งก่อนใช้บริการนี้นะ
5. ใช้เมื่อจำเป็น ไม่ใช้เพราะความอยาก
ประโยชน์อย่างหนึ่งของบริการ “ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง” คือทำให้เราได้สินค้าที่มูลค่าสูงมาใช้ก่อนโดยที่ไม่ต้องมีเงินก้อนครบจำนวน เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ แต่เดี๋ยวนี้สินค้าอื่น ๆ ที่อาจไม่จำเป็นนักก็มีการเสนอบริการนี้เช่นกัน หากเราติดใจใช้แต่บริการนี้อย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงกำลังการใช้จ่ายของเรา มันก็จะเป็นการใช้จ่ายที่เกินตัวในที่สุด เพราะฉะนั้น เราจึงควรเลือกใช้ “ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง” เมื่อจำเป็นจริง ๆ อย่าซื้อเพราะอยาก เพราะความอยากจะกลายเป็นภาระให้เราในที่สุด

แม้บริการ “ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง” จะช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้บริโภคยุคใหม่ แต่ก็ยังมีข้อระวัง มีกฎเกณฑ์ที่เราต้องทำความเข้าใจ ไม่อย่างนั้นแล้ว ความสะดวกสบายจะกลายเป็นภาระกับเรา เป็นหนี้สิน เป็นประวัติทางการเงินที่ไม่ดี ถ้าเราไม่สามารถจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะฉะนั้นเพื่อน ๆ ชาวมูลาลองศึกษาและเลือกใช้จ่ายให้เหมาะสมกับความสามารถทางการเงินของตนเองด้วยนะ

ขอบคุณข้อมูลจาก
https://www.investopedia.com/buy-now-pay-later-5182291
https://www.bangkokbiznews.com/finance/investment/1042564
https://thaipublica.org/2023/09/eic-bnpl/
https://www.setinvestnow.com/th/knowledge/article/29-tsi-buy-now-pay-later-new-payment-trend
https://www.moneybuffalo.in.th/business/buy-now-pay-later-2


บทความ: MULA Learning
รูปประกอบ: MULA Learning

  • Share