การค้นหาแบบครอบคลุมทั้งหมดยังไม่ได้เปิดใช้งาน
ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

Blog entry by 33dc3a9f-3429-40f0-8fc8-d04ea7cad623 Mula-X

“มิจฉาชีพทางการเงิน” ภัยร้ายที่ใกล้ตัวกว่าที่คุณคิด 😱😈

“มิจฉาชีพทางการเงิน” ภัยร้ายที่ใกล้ตัวกว่าที่คุณคิด 😱😈

แม้เทคโนโลยีจะเป็นสิ่งที่เข้ามายกระดับชีวิตประจำวันของเราทุก ๆ คนให้สะดวกสบาย ทำอะไรก็ง่ายกว่าสมัยก่อน แต่ใช่ว่าเจ้าการดำรงอยู่ของเจ้าเทคโนโลยีเหล่านี้ จะมีเพียงแต่ด้านดีเพียงอย่างเดียว และด้วยเหตุที่ว่าโลกในยุคปัจจุบันนั้นมีเทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนนั่นแหละ มันจึงทำให้ผู้ไม่หวังดีบางรายเห็นช่องทางในการ “โจรกรรม” หรือปล้นเงินออกจากกระเป๋าของเรา ๆ ด้วยการนำความล้ำสมัยของระบบปฎิบัติการเหล่านี้มาใช้ในทางมิชอบนั่นเอง ซึ่งเพื่อน ๆ นั้นไม่ต้องกังวลแต่อย่างได้ เพราะวันนี้เราจะขออาสามา “เปิดโปง” มิจฉาชีพทางการเงินเหล่านี้แบบละเอียดยิบ เพื่อไม่ให้เพื่อน ๆ ต้องตกเป็นเหยื่อของขบวนการไม่หวังดีเหล่านี้

ถ้าพร้อมแล้วไปดูกันเลย!


1. คอลเซ็นเตอร์ปลอม ⛔☎
“แก๊งคอลเซ็นเตอร์” ถือเป็นหนึ่งในรูปแบบของมิจฉาชีพทางการเงินที่สุดคลาสิกเลยก็ว่าได้ ซึ่งการกระทำรูปแบบนี้จะเกิดการที่เหล่าแก๊งมิจฉาชีพ สุ่มเบอร์โทรเพื่อมาหลอกถามข้อมูลส่วนตัวของเรา โดยการสนทนาที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะลวงให้เราพูดเกี่ยวกับข้อมูลที่ใช้ในการทำธุรกรรมทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็น หมายเลขบัตรประชาชน วัน-เดือน-ปีเกิด หมายเลขบัตรเครดิต เป็นต้น และเหล่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์เหล่านี้มักจะใช้จิตวิทยาโน้มน้าวให้เหยื่ออย่างเรา ๆ ตกใจ รู้สึกหวาดกลัว 😨 แล้วรีบเร่งให้เหยื่อทำธุรกรรมหรือให้ข้อมูลส่วนตัวเหล่านั้นไปแบบไม่ทันได้ตั้งตัว ผ่านสถานการณ์ปลอม ๆ เช่น การหลอกว่าบัญชีเงินฝากถูกอายัด หรือติดหนี้บัตรเครดิต, การหลอกว่าข้อมูลส่วนตัวสูญหาย, การหลอกคืนเงินภาษีผ่านตู้เอทีเอ็ม และหลอกว่าบัญชีพัวพันกับยาเสพติดหรือฟอกเงิน นั่นเอง 😵

 ทั้งนี้ หากเราอยากจะหลุดรอดจากเนื้อมือของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ แล้วล่ะก็ เราต้องนึกไว้เสมอเลยว่า ส่วนราชการ และสถาบันการเงินไม่มีทางติดต่อลูกค้าอย่างเรา ๆ เพื่อให้เปิดเผยข้อมูลส่วนตัว หรือข้อมูลสำคัญอื่น ๆ อย่างแน่นอน เพราะแท้ที่จริงแล้วพวกเขามีข้อมูลเหล่านี้ของเราอยู่อย่างครบถ้วน ฉะนั้นหากมีใครโทรมาสอบถามข้อมูลส่วนตัว ให้คิดไว้เสมอว่าอาจจะเป็นพวกมิจฉาชีพแน่นอน และห้ามเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวใด ๆ เด็ดขาดเลยนะ


2. อีเมลหลอกลวง 💻📧
อีกหนึ่งกลวิธีของเหล่ามิจฉาชีพทางการเงินทางการเงินที่ยากจะรับมือเป็นอย่างมาก เนื่องจากการปลอมแปลงอีเมลของกลุ่มคนเหล่านี้นั้นทำออกมาได้ในชนิดที่ว่า แทบจะถอดแบบกันมาเลยทีเดียวเชียว ฉะนั้นแล้วหากเราจะมองหาจุดสังเกตสำคัญที่กลุ่มมิจฉาชีพไม่สามารถปลอมแปลง หรือหลอกเรา ๆ ได้ เราต้องดูที่ “ชื่อผู้ส่ง” เป็นลำดับแรก เพราะแม้จะมีการพยายามทำให้แนบเนียนแค่ไหนก็ตาม แต่สิ่งที่ไม่สามารถหลบซ่อนได้ก็คือชื่ออีเมลนี่แหละ ฉะนั้นหากเราทำธุรกรรมกับธนาคารไหนเป็นประจำ ก็ควรจะจำชื่อที่อยู่ผู้ส่งอีเมลเอาไว้ให้ดี

นอกจากนี้อีกประการหนึ่งที่จะทำให้เราแยกอีเมลหลอกลวง จากอีเมลของธนาคารจริง ๆ ได้ก็คือลิงก์ที่แนบมาในอีเมลนั้น ๆ ซึ่งก่อนจะคลิกลิงก์ใด ๆ ทุกครั้ง เราต้องเช็คให้แน่ใจว่าที่อยู่เว็บไซต์นั้นน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด


3. เว็บไซต์หลอกลวง 🖥🖱
เว็บไซต์หลอกหลวงเป็นอีกหนึ่งกลวิธีให้การขโมยเงินออกจากกระเป๋าของเรา ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับอีเมลปลอมเป็นอย่างมาก นั่นก็คือเป็นสิ่งที่ “ยาก” จะจับผิด 😯
แต่ทว่ายากในที่นี้ ไม่ได้แปลว่าจับผิดของปลอมเหล่านี้ไม่ได้นะ เพราะแท้ที่จริงแล้วหากเรารู้จุดสังเกตสำคัญ การจะมองเว็บไซต์ปลอมให้ออกก็จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไปเลย โดยจุดที่เราทุกคนต้องหาให้เจอทุกครั้งเมื่อมีเว็บไซต์ปลอมก็คือ “ลิงก์ URL” นั่นเอง ซึ่งหากเราใช้บริการธนาคารไหนเป็นประจำ เราก็ควรจะสังเกตว่าเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของธนาคารของเรานั้นมี URL ว่าอะไรกันแน่ ฉะนั้นแล้วเพื่อน ๆ ต้องเช็คตัวสะกดทุกตัวของที่อยู่เว็บไซต์ต่าง ๆ ให้ดี ๆ ก่อนจะกรอกข้อมูลใดใดก็ตาม หรือถ้าไม่แน่ใจว่าลิงก์ดังกล่าวใช่ของธนาคารจริง ๆ หรือไม่ ก็สามารถโทรสอบถามโดยตรงกับคอลเซ็นเตอร์ของธนาคารนั้น ๆ ได้เลย


4. การแฮ็กไลน์ หรือเฟซบุ๊ก เพื่อหลอกให้คนอื่นโอนเงิน 📳💬
บอกได้เลยว่าในยุคแห่ง Social Media ที่เราทุกคนใช้ชีวิต และทำกิจกรรมต่าง ๆ บนโลกออนไลน์มากขึ้น ได้ทำให้เหล่ามิจฉาชีพหันมาใช้ช่องทางดังกล่าวเพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากความไม่รู้ของเรา ๆ ซึ่งการแฮ็กที่ว่านี้ก็จะเกิดจากการส่งลิงก์เว็บไซต์ที่แฝงไปด้วยระบบดึงข้อมูลจากบัญชี Social Media ของเรานั่นเอง ซึ่งเมื่อเหล่าแฮ็กเกอร์ได้รหัสของเราไป พวกเขาก็จะอาศัยข้อมูลจากแชทหรือโพสต์ต่าง ๆ ของเราเป็นตัวช่วยในการสวมรอยหรือปลอมแปลงข้อมูลเพื่อหลอกลวงคนอื่น ๆ ผ่านการส่งข้อความแชทเพื่อหลอกให้โอนเงิน หรือการปลอมแปลงสลิปโอนเงินในการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ เป็นต้น 😲

ฉะนั้นแล้ววิธีรับมือ และการป้องกันสำหรับกรณีแบบนี้ก็คือ การไตร่ตรองให้ดีทุกครั้งก่อนคลิกลิงก์ที่ถูกส่งมาอย่างไม่มีที่มาที่ไป และอย่าหลงเชื่อข้อความผ่านแชทเพื่อขอให้โอนเงินหรือขอข้อมูลใด ๆ ก็ตาม ทั้งนี้หากคนส่งข้อความเป็นเพื่อน ควรติดต่อเพื่อนโดยตรงผ่านช่องทางอื่นเพื่อยืนยันให้แน่ชัดว่าคนที่ขอให้เราโอนเงินนั้นคือเพื่อนเราจริง ๆ  

 
มาถึงตรงนี้แล้ว เพื่อน ๆ ก็คงจะถึงบางอ้อกันแล้วใช่ไหมล่ะ ว่าแท้ที่จริงแล้ว มิจฉาชีพทางการเงินในยุค 4.0 แบบนี้ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่เราคิด หากเรามีสติที่ดี และหมั่นสังเกตรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ รอบตัวเสมอ ฉะนั้นแล้วหลังจากนี้ ไม่ว่าเพื่อน ๆ จะทำธุรกรรมทางการเงินรูปแบบไหนก็ตาม อย่าลืมเช็คให้รอบคอบกันด้วยนะ ✅✅


บทความ: MULA Learning
รูปประกอบ: MULA Learning

 

 

 

รับมูลาคอยน์เลย

  • แชร์