
19
Marchความเสี่ยงคืออะไร? ทำไมเราต้องรู้จัก?
หลายคนอาจเคยได้รับรู้ถึงคำว่า “ความเสี่ยง” ไม่ว่าจะจากโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ หรือแม้แต่ตามโซเชียลมีเดียต่าง ๆ แต่ทว่ากลับไม่มีความเข้าใจ และยังคงสงสัยว่าเจ้าความเสี่ยงนั้นมันสำคัญแก่ชีวิตประจำวันของเรามากแค่ไหน ซึ่งแท้ที่จริงแล้วมนุษย์เราทุกคนต่างต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้วยกันทั้งนั้น และด้วยการดำเนินชีวิตในยุคอันแสนเร่งรีบอย่างปัจจุบันนี้ ที่ไม่ว่าจะทำอะไรก็ต้องรวดเร็ว เร่งรัด และคอยแข่งขันกับเวลาอยู่เสมอ ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กระตุ้นให้ “ความเสี่ยง” เกิดขึ้นมากขึ้นเป็นเท่าทวีคูณ บางคนเสี่ยงน้อย ก็ยังถือว่าดีไป แต่ในบางครั้งหากเสี่ยงมากอาจจะเป็นอันตรายแก่ชีวิตเลยก็ว่าได้
และเพื่อไม่ให้เพื่อน ๆ ต้องพลาดสิ่งดี ๆ ในชีวิตจากการมองข้ามสิ่งที่เรียกว่าความเสี่ยงไป วันนี้ Mula-X ขออาสามาไขข้อข้องใจ และเพิ่มความกระจ่างให้คุณเอง!
ความเสี่ยงคืออะไร?
ความเสี่ยงนั้นหมายถึง “เรื่องบังเอิญ” ที่ถือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเราได้เสมอ ทั้งในการดำเนินชีวิตประจำวัน หรือการทำงานต่าง ๆ ซึ่งสาเหตุที่ทุก ๆ คนนั้นมีความเสี่ยงก็เพราะว่าไม่มีใครสามารถล่วงรู้อนาคตได้ยังไงล่ะ แม้ว่าเราจะพอมีวิธีการในการคาดเดาสิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคตได้บ้างก็ตาม แต่ท้ายที่สุดมันก็มีโอกาสที่จะคลาดเคลื่อน และเกิดเรื่องผิดแผนอยู่เสมอ นั่นจึงเป็นที่มาของความเสี่ยงในการดำเนินชีวิต และการทำงานของคนเรานั่นเอง
หากให้อธิบายคำว่า “ความเสี่ยง” ง่าย ๆ แล้วล่ะก็ ความเสี่ยงที่เราพบเจอในการดำเนินชีวิตทุก ๆ วันก็คือ เรื่องที่มันเกิดขึ้นโดยเราคาดไม่ถึงนั่นแหละ ยกตัวอย่างเช่น เดินเล่นอยู่ดี ๆ ก็มีอะไรไม่รู้ลอยมาจากบนฟ้า และหล่นมาโดนหัวเรา ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากให้เกิด ทั้งยังส่งผลร้ายต่อความเป็นอยู่ของเราอีกด้วย
การรู้จักความเสี่ยงช่วยอะไรเรา?
การรู้จักความเสี่ยงนั้นเป็นผลดีอย่างมากต่อการช่วยให้ชีวิตของเรานั้นดำเนินไปได้อย่างราบรื่น ไม่มีสะดุด เพราะเมื่อเรารู้จักสิ่งที่เรียกว่าความเสี่ยง และมองเห็นว่าชีวิตนั้นมักจะมีเรื่องไม่แน่นอนเกิดขึ้นอยู่เสมอ แถมเรื่องไม่แน่นอนบางประการยังส่งผลร้ายแรงต่อทั้งตัวเราเอง และคนที่เรารักอีกตะหาก นั่นจึงทำให้เราได้มีเวลาหันกลับมามองถึงการใช้ชีวิตของตัวเอง และเพิ่มมีความรอบคอบมากขึ้นในการดำเนินสิ่งต่าง ๆ ทั้งยังเป็นแรงจูงใจชั้นดีในการหาวิธีการป้องกัน และรับมือกับความเสี่ยงนั่นเอง
แล้วเราจะรับมือกับความเสี่ยงได้อย่างไร?
แม้ความเสี่ยงจะเกิดควบคู่กับความไม่แน่นอนก็ตาม แต่ใช่ว่าเราจะไม่สามารถป้องกัน หรือรับมือกับความเสี่ยงได้ โดยสิ่งที่สองมือของเราพอจะจัดการกับเรื่องไม่คาดฝันก็คือการลด หรือการควบคุมความไม่แน่นอนบางประการเพื่อให้มีความเสี่ยงน้อยที่สุด และส่งผลเสียให้น้อยที่สุดนั่นเอง โดยเราจะต่อกรกับเรื่องเหล่านี้ได้ ไม่ว่าจะด้วยการหลีกเลี่ยงความเสี่ยง หรือการไม่พาตัวเองเข้าไปอยู่ในสภาะที่อาจจะเกิดภัยร้ายนั่นแหละ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเห็นฝนตกหนักจนมองทางไม่เห็น ก็อาจจะหยุดรถรอจนฝนซา หรือฝนหยุดก่อน แล้วค่อยขับรถกลับบ้าน เป็นต้น
อีกวิธีที่ผู้คนนิยมใช้ก็คือการการหาวิธี “จำกัด” โอกาสที่จะส่งผลต่อความเสียหาย เช่น หากอยากสุขภาพดี ไม่ต้องการเจ็บป่วย ก็ต้องเลือกที่จำกัดโอกาสนี้ด้วยการออกกำลังกาย ดูแลอาหารการกิน หรือแม้แต่ตรวจสุขภาพทุก ๆ ปี เพื่อไม่ให้มีโรคร้ายหลบซ่อนอยู่โดยที่ไม่รู้ตัวนั่นเอง
นอกจากนี้การโอนความเสี่ยงก็เป็นอีกหนทางที่น้อยคนไม่ค่อยรู้ ซึ่งนี่ไม่ใช่การให้คนมาเจ็บปวดแทนเราแต่อย่างใดนะ หากวิธีการนี้ก็คือการทำสัญญาให้บุคคลอื่นมาชดใช้ความเสียหายแทน เช่น การทำประกัน เพราะเมื่อเราล้มป่วย หรือเกิดอุบัติเหตุ อย่างน้อยก็จะสบายใจได้ว่ามีคนจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้เรา
ความเสี่ยงไม่ได้มีแต่เรื่องแย่
แม้คำว่าความเสี่ยงนั้น อาจจะฟังดูออกแนวเชิงลบเสียมากกว่า แต่แท้ที่จริงแล้วการเสี่ยงแล้วได้ผลประโยชน์ก็มีเช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น เราลองเสี่ยงซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลในทุก ๆ เดือน อยู่มาเดือนหนึ่งเราก็ถูกรางวัล หรือเราลองเสี่ยงทำงานที่ท้าทายเกินตัว ผลที่ได้ก็คืองานออกมาดี จนเราได้เลื่อนตำแหน่ง เป็นต้น ซึ่งนี่หมายความว่าการใช้ชีวิต “แบบไม่เสี่ยง” ก็ไม่ใช่เรื่องดีเช่นเดียวกัน เพราะจะทำให้เราพลาดโอกาสอันดีที่เราจะได้หากเรา “กล้าเสี่ยง” แต่อย่าลืมจะ จะเสี่ยงก็ต้องเสี่ยงอย่างมีขอบเขตด้วย ไม่งั้นเจ็บตัวขึ้นมาจะหาว่า Mula-X ไม่เตือน!
เป็นยังไงกันบ้าง? หลังจากอ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ความสงสัยที่เพื่อน ๆ มีต่อคำว่า ความเสี่ยง นั้นคงหายเป็นปลิดทิ้งไปเลยล่ะสิ อย่าลืมนะ ว่าเราได้รู้จักกับความเสี่ยงแล้ว เพราะฉะนั้นเราจึงควรเห็นคุณค่าของการใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง เพื่อไม่ให้เรื่องไม่คาดคิด มาทำร้ายชีวิตเราได้!
บทความ : MULA Learning
รูปประกอบ : MULA Learning