Global searching is not enabled.
Skip to main content

Blog entry by Anuntapong Chuen-im

เก็บเงินแบบมือโปร! เพียงคุณรู้จัก “ค่าใช้จ่ายคงที่” และ “ค่าใช้จ่ายผันแปร”

เพื่อน ๆ เคยสงสัยกันไหมว่า ไม่ว่าจะได้เงินเดือนมาเท่าไหร่ก็ตาม ท้ายที่สุดพอถึงช่วงสิ้นเดือน (บางคนนี่กลางเดือนเสียด้วยซ้ำ) เงินก้อนเหล่านั้นก็หายวับไปกับตาในทันที ทั้ง ๆ ที่ตัวเราเองนั้นก็ไม่ได้รู้สึกว่าจะใช้จ่ายฟุ่มเฟือย หรือสุรุ่ยสุร่ายกับอะไรเป็นพิเศษเลยแม้แต่น้อย

แต่อย่างกังวลไป เพราะปัญหาเหล่านี้ไม่ได้มีเราแค่คนเดียวที่เผชิญ เพราะมูลาขอรับประกันได้เลยว่าเหตุการณ์ที่เงินไม่พอใช้ในแต่ละเดือน จนทำให้ชักหน้าไม่ถึงหลังเนี่ย เป็นปัญหาที่แพร่หลายมากในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะกับหนุ่มสาวหาเช้ากินค่ำไฟแรงเฟ่อร์แบบพวกเรา

แล้วอะไรกันนะที่ทำให้จู่ ๆ เงินที่เราอุตส่าห์หามาอย่างยากลำบาก เหงื่อไหลแล้ว เหงื่อไหลอีก หายไปเฉย ๆ แบบที่เราไม่รู้ตัว วันนี้ Mula-X มีคำตอบให้เพื่อน ๆ แล้ว!

 

เราอาจจะติดกับดักของรายจ่ายโดยไม่รู้ตัว

หนึ่งปัญหาที่มักจะคอยทำให้ใครหลาย ๆ คน ไม่มีเงินเก็บ หรือใช้เงินไม่พอในแต่ละเดือนนั้นก็คือ “การไม่วางแผน” นั่นเอง เพราะไม่ว่าเพื่อน ๆ จะมีเงินเดือนหลักหมื่น หรือแม้แต่แสนก็เถอะ แต่หากขาดการวางแผนจัดการเงินทองที่ดีแล้วล่ะก็ ไอ้เจ้าเงินเดือนที่ได้รับก็จะเป็นเพียงสายลมที่ผ่านมา และก็จากไปอย่างรวดเร็วโดยไม่หวนกลับคืน เนื่องจากปกติแล้วทุก ๆ คนต่างก็มีภาระที่จะต้องจ่ายทุก ๆ เดือนเท่า ๆ กันอยู่แล้ว มิหนำซ้ำยังมีค่าใช้จ่ายเพื่อความสำราญ หรือการให้รางวังแก่ตัวเองอีก แม้จะอยากประหยัดแค่ไหน พอถึงจังหวะที่จะต้องใช้จ่ายเพื่อของที่มันต้องมีแล้วล่ะก็ เราทุกคนก็มักจะ “ลืมเนื้อลืมตัว” และมักจะให้รางวัลตัวเองมากเกินจำเป็นเสมอ ยิ่งหาได้มาก ก็ยิ่งใช้มาก ท้ายที่สุดพอจะรู้ตัวอีกทีก็คือเวลาที่ไม่มีเงินคงเหลือในบัญชีแล้วนี่แหละ

รู้แบบนี้แล้ว ก็ถึงเวลาต้องหันมาปรับแก้วิถีชีวิตแบบเดิม ๆ พร้อมเริ่มต้นวางแผนใช้จ่ายเงินกันแล้ว โดยจุดเริ่มต้นที่ง่ายที่สุดในการปราบเจ้าค่าใช้จ่ายตัวร้ายนั่นก็คือ การรู้เท่าทันถึงลักษณะตามธรรมชาติของรายจ่ายนั่นเอง

 

แล้วค่าใช้จ่าย “ตัวร้าย” ของเรานั้นมีแบบไหนบ้าง?

โดยปกติแล้ว ค่าใช้จ่ายนั้นมีทั้งแบบที่ดี และแบบที่เป็น “เจ้าตัวร้าย” เสมอ กล่าวคือ ค่าใช้จ่ายที่ดี ก็จะทำให้เรามีเงินเพิ่มพูนยิ่งขึ้นในอนาคต ยกตัวอย่างเช่น “ค่าใช้จ่ายเพื่อการออม และการลงทุน” ซึ่งเป็นเงินที่เราจ่ายเพื่อให้เรามีเงินมากขึ้น แต่ทว่าค่าใช้จ่ายที่ดีนั้นเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเรา “มีแผน” ทางการเงินที่ดีเท่านั้น เพราะท้ายที่สุดหากเราขาดแผนล่ะก็ สุดท้ายก็ต้องลงเอยด้วยการหยิบเงินออม มาใช้อยู่เสมอ

ส่วนค่าใช้จ่ายที่ไม่เป็นที่ปลื้มสำหรับใครหลาย ๆ คนเท่าไหร่ ก็คือสิ่งที่เสียแล้วเสียเลยนั่นเอง โดยค่าใช้จ่ายในลักษณะนี้จะถูกแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ “ค่าใช้จ่ายคงที่” และ “ค่าใช้จ่ายผันแปร”

 

  1. ค่าใช้จ่ายคงที่ (Fixed expense)

คือ ค่าใช้จ่ายที่เราทุกคนต้องจ่ายเป็นจำนวนเงินที่ “เท่ากัน” ในทุกเดือน เช่น ค่าผ่อน หรือค่าเช่าบ้าน, ค่าผ่อนรถ ค่าเบี้ยประกัน, ค่าผ่อนสินค้า หรือเงินกู้ต่าง ๆ เป็นต้น

 

  1. ค่าใช้จ่ายผันแปร (Variable expense)

คือ ค่าใช้จ่ายที่มีจำนวน “ไม่เท่ากัน” ในแต่ละเดือน บางเดือนก็มีมากเป็นพิเศษ  บางเดือนก็อาจจะมีน้อยหน่อย หรือบางเดือนอาจจะไม่มีเลย ซึ่งลักษณะสำคัญของเจ้าค่าใช้จ่ายผันแปรก็คือ “ความไม่แน่นอน” นั่นเอง โดยมันจะยืดหยุ่นไปตามกิจกรรมที่เราทำในเดือนนั้น ๆ ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้ก็จะได้แก่ ค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าเสื้อผ้า ค่าเดินทาง ค่ารักพยาบาล ค่าของมันต้องมี ค่าสิ่งบันเทิงเริงใจ เงินทำบุญ เป็นต้น

 

การรู้จักค่าใช้จ่ายทั้ง 2 แบบ จะช่วยให้เรามีเงินเก็บได้อย่างไร?

หัวใจสำคัญของการมีเงินเก็บเงินก้อน นอกจากจะต้องหาช่องทางเพิ่มรายได้แล้ว การลดรายจ่ายนั้นถือเป็นอีกวิธีที่ง่ายกว่ากันเยอะมาก แถมเห็นผลดีกว่าเสียด้วยซ้ำ เหมือนกับที่บอกไปข้างต้นแล้วว่า การหาเงินได้มากแต่ไม่มีแผนการใช้เงิน ท้ายที่สุดเงินที่หามาก็หมดได้เช่นกัน

 

ซึ่งการรู้จักลักษณะตามธรรมาชาติของค่าใช่จ่ายทั้ง 2 ประเภทนี้นั้น ทำให้เราเห็นถึงวิธีการจัดการ หรือการรับมือกับค่าใช้จ่ายในลักษณะที่แตกต่างกันอย่างเหมาะสม

 

โดยค่าใช้จ่ายที่เราไม่สามารถจัดการกับมันได้ในทันที เพราะเป็นสิ่งจำเป็นที่เราต้องจ่ายมันเท่า ๆ กันอยู่แล้วในทุก ๆ เดือน หรือในที่นี้ก็คือ ค่าใช้จ่ายคงที่ ก็จะมีวิธีเฉพาะในการบริหารจัดการกับค่าใช้จ่ายประเภทนี้ และวิธีเดียวที่จะปราบค่าใช้จ่ายคงที่นี้ได้นั่นก็คือ เร่งผ่อนหนี้อย่างสม่ำเสมอให้มันหมด และพยายามไม่สร้างนี่เพิ่มนั่นเอง

 

ในทางกลับกัน ค่าใช้จ่ายผันแปรทั้งหลาย ที่เพิ่ม หรือลดได้ตามแต่ใจเรานี่แหละ จะสามารถช่วยให้เรามีเงินเก็บได้อย่างน่าอัศจรรย์ เพียงแค่เพื่อน ๆ ตัดสิ่งไม่จำเป็นบางอย่างออกจากชีวิตไปบ้าง หรือกำหนดรายจ่ายก้อนนี้ให้เป็นเงินที่ตายตัว ท้ายที่สุดเพื่อน ๆ ก็จะเหลือเงินเก็บได้นั่นเอง

 

ท้ายที่สุดนี้ เพื่อน ๆ ก็จะเห็นได้ว่า การรู้จักถึงลักษณะตามธรรมชาติของค่าใช้จ่าย และวิธีในการรับมือกับการใช้จ่ายนั้นสำคัญมากเพียงใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเหล่ามือใหม่ที่เพิ่งเบนเข็มอยากสร้างเนื้อสร้างตัวด้วยล่ะก็ เรื่องนี้ต้องจำให้ขึ้นใจเลยทีเดียว รับรองได้เลยว่า หากจำแม่น และใช้มันได้อย่างคล่องแคล่วแล้วการมีเงินเก็บเงินก้อนนั้นไม่ไกลเกินเอื้อมเลยแม้แต่น้อย!

 

บทความ : MULA Learning
รูปประกอบ : MULA Learning

 

  • Share