การค้นหาแบบครอบคลุมทั้งหมดยังไม่ได้เปิดใช้งาน
ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

Blog entry by Anuntapong Chuen-im

ทำอาหารทานเองอย่างไรให้ปลอดภัย

ทำอาหารทานเองอย่างไรให้ปลอดภัย

เรื่องอาหารการกิน ถือเป็นค่าใช้จ่ายหลัก ๆ ในชีวิตประจำวันของทุกคน หลาย ๆ คนจึงเลือกทำอาหารทานเองที่บ้าน เพื่อประหยัดเงินในกระเป๋า และได้ทานในสิ่งที่ถูกปาก แต่ใช่ว่าทุกคนที่จะถนัดทำอาหารเองที่บ้าน บางครั้งเลือกทำแต่อาหารที่อร่อย แต่อาจจะไม่ปลอดภัยมากนัก

 

บทความนี้มูลาขอหยิบยกวิธีการทำอาหารทานเองให้ปลอดภัย เพื่อทุกคนจะได้ทานอาหารที่มีประโยชน์ ถูกปากและประหยัดเงินในกระเป๋ากันนะ มาดูกันเลย

 

  1. เลือกซื้อผักผลไม้สดตามฤดูกาล

อยากประหยัดเงิน ก็ต้องเลือกกินผักผลไม้สินะ อุ้ย จะเป็นเชอรี่ สตอรเบอรี่ หรือกีวี่ดีล่ะ ความจริงแล้ว ถ้าอยากได้ผลไม้ที่ปลอดภัย ในราคาประหยัด เราควรเลือกซื้อผักผลไม้ตามฤดูกาลหรือผักผลไม้ที่อยู่ในท้องถิ่นนั้น ๆ เพราะว่าเราจะได้ผักผลไม้ที่สดกว่าจากของต่างถิ่น มียาฆ่าแมลงหรือสารเคมีน้อยกว่า เพราะไม่จำเป็นต้องขนส่งมาไกล รวมทั้งผักผลไม้นอกฤดูกาลยังหายากกว่าปกติ และมีราคาสูงกว่าผักผลไม้ในฤดูกาลแน่นอน เพราะฉะนั้นถ้าเราซื้อผักผลไม้ที่มีขายตามฤดูกาล นอกจากจะมีสารเคมีน้อยกว่าแล้ว ยังประหยัดเงินในกระเป๋ามากกว่าอีกด้วย

 

  1. ทำความสะอาดภาชนะหรือเครื่องมือทั้งก่อนและหลังการทำอาหาร

อาหารของเราจะสะอาดได้อย่างไร ในเมื่อภาชนะของเราไม่สะอาด เพื่อน ๆ ไม่ควรละเลยการทำความสะอาดอุปกรณ์เครื่องครัวทั้งก่อนและหลังการทำอาหาร หากเป็นภาชนะที่ล้างแล้ว ก่อนหยิบใช้อาจผ่านน้ำร้อนเพื่อฆ่าเชื้อโรค ในกรณีที่ล้างเนื้อสัตว์ดิบ ไข่ไก่ อาจทำให้ซิงค์ปนเปื้อนได้ ฉะนั้นจะต้องใช้น้ำยาฆ่าเชื้อเช็ดอ่างล้างจานทุกครั้ง นอกจากนี้ มือของเราก็ต้องสะอาดอยู่เสมอเวลาทำอาหาร ล้างมือด้วยสบู่ทุกครั้งก่อนทำอาหารอย่างน้อย 20 วินาที ห้ามหลงลืมข้อนี้เป็นอันขาด ไม่เช่นนั้นแล้ว ไม่ว่าอุปกรณ์หรือวัตถุดิบสะอาดขนาดไหนก็ตาม อาหารก็ไม่สะอาด ปลอดภัยอยู่ดี

 

  1. เช็ควันหมดอายุของอาหารทุกครั้งก่อนนำมาปรุง

หลาย ๆ คนเก็บอาหารที่ทานเหลือใส่ตู้เย็น เพื่อนำมาอุ่นหรือปรุงต่อ จนหลงลืมไปว่าอาหารที่ปรุงแล้วสามารถนำมารับประทานต่อได้อีกไม่กี่วัน เราควรเก็บอาหารที่เก็บไว้มารับประทานใหม่ใน 1-2 วันเท่านั้น เพื่อป้องกันการหลงลืม มูลาขอแนะนำให้ติดวันที่บนกล่องเก็บอาหาร เขียนวันที่เก็บอาหารหรือวันหมดอายุให้ชัดเจน เพื่อความปลอดภัยของคนในครอบครัว ส่วนเรื่องวันหมดอายุ เราสามารถตรวจเช็คกับวัตถุดิบหรืออาหารในบรรจุภัณฑ์อื่น ๆ ด้วย เช่น ขนมปังแถว นมกล่อง เป็นต้น

 

  1. เน้นปรุงอาหารสุกเท่านั้น

ข้อนี้สำคัญมาก ๆ ความร้อนจากการปรุงอาหารนี่แหละเหมือนเป็นด่านสุดท้ายที่คอยฆ่าเชื้อโรคในอาหาร ไม่ว่าจะหุง อุ่น ตุ่น ต้ม นึ่ง หรือการประกอบอาหารรูปแบบอื่น ๆ ถือว่าใช้ได้ทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังมีเรื่องของอุณหภมิที่การปรุงอาหารที่เหมาะสมกับเนื้อสัตว์ประเภทต่าง ๆ ให้สุก และปลอดภัยอีกด้วย เช่น เนื้อไก่ หรือเป็ด อยู่ที่  74 องศาเซลเซียส ในขณะที่ เนื้อหมู เนื้อวัวและเนื้อปลา อุณหภูมิที่ปลอดภัยอยู่ที่ 63 องศาเซลเซียส เป็นต้น แต่ก็ไม่ต้องกังวลกับเรื่องอุณหภมิเหล่านี้มากนัก ขอแค่ดูให้มั่นใจว่าเนื้อสัตว์ของเราสุกทั่วถึงก็เป็นอันใช้ได้

 

ทีนี้เพื่อน ๆ ก็น่าจะได้เคล็ดลับในการทำอาหารทานเองที่บ้านให้ปลอดภัยมากขึ้นแล้วนะ หวังว่ามื้อต่อไปของเพื่อน ๆ จะทั้งอร่อย ปลอดภัยและประหยัดเงินในกระเป๋าสตางค์ไปพร้อมกันนะ

 

ที่มา:

https://www.wongnai.com/food-tips/seasonal-vegetable

https://www.ibtimes.com/7-reasons-why-should-you-eat-seasonal-fruits-vegetables-2848027

https://yummiestfood.com/5-tips-for-cooking-safely-at-home/

https://www.nhsinform.scot/healthy-living/food-and-nutrition/food-safety-and-hygiene/preparing-and-cooking-food-safely

https://www.fda.gov/consumers/free-publications-women/food-safety-home

 

บทความ: MULA Learning
รูปประกอบ: MULA Learning 

  • แชร์