
31
Marchอยากเผาผลาญพลังงานได้ดี ต้องรู้วิธีกระตุ้นเมตาบอลิซึม
ร่างกายของเรามีกระบวนต่าง ๆ มากมายที่ลึกลับ ซับซ้อน แต่ก็ทำให้เราดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข หนึ่งในนั้นคือ กระบวนการที่เรียกว่า “เมตาบอลิซึม (Metabolism)” ชื่ออาจจะฟังดูยากไปซักหน่อย แต่ถ้าบอกใบ้คร่าว ๆ ว่าเป็นกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการเผาผลาญของร่างกายแล้วล่ะก็ เป็นกระบวนการในร่างกายที่จำเป็น และเราควรทำความเข้าใจอย่างดีเลยล่ะ วันนี้มูลาเลยขออาสาเล่าเรื่องเมตาบอลิซึมแบบง่าย ๆ ให้เพื่อน ๆ ผู้รักสุขภาพเข้าใจ และได้วิธีการดูแลร่างกายตัวเองให้กระบวนการนี้ของเราเป็นไปอย่างดี ตามอ่านกันได้เลย
เมตาบอลิซึม คืออะไรกันนะ
อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์พบแพทย์ (Pobpad.com) ระบุว่า กระบวนการเมตาบอลิซึมนั้น ประกอบด้วย 2 กระบวนการหลัก ๆ คือ การย่อยสารอาหารจากอาหารที่ร่างกายได้รับ และซ่อมแซมหรือเสริมสร้างส่วนที่สึกหรอของร่างกาย พลังงานจากสารอาหารจะไม่สามารถนำไปใช้เลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ หากไม่มีกระบวนเมตาบอลิซึม หลาย ๆ คนจึงอาจเรียกกระบวนการนี้แบบง่าย ๆ ว่า กระบวนการเผาผลาญของร่างกาย นอกจากนี้พลังงานที่ได้หลังกระบวนการเมตาบอลิซึมยังทำให้ร่างกายของเราทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้เป็นปกติ ไม่ว่าจะเป็น หายใจ ขับของเสีย ควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย เป็นต้น
เมตาบอลิซึมสำคัญขนาดไหน
แน่นอนว่า ถ้าไม่มีกระบวนการนี้ เราไม่มีทางได้พลังงานจากอาหารที่เราทานเข้าไปอย่างแน่นอน ไหนจะเรื่องของการซ่อมแซมหรือเสริมสร้างส่วนต่าง ๆ ของร่างกายก็คงจะเป็นไปอย่างไม่ปกติ ความสำคัญอีกอย่างคือ เมตาบอลิซึมนั้นมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อน้ำหนักตัวของเรา ไม่ใช่แค่เพื่อความสวยงามว่าผอมหรือไม่ผอม แต่น้ำหนักตัวมีความสำคัญเป็นอันดับต้น หากเรามีน้ำหนักตัวที่สมส่วน ไม่อ้วนลงพุง ก็สามารถลดความเสี่ยงโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิต ซึ่งเป็นสาเหตุหลัก ๆ ต่อโรคร้ายแรงอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น
แล้วถ้าระบบเผาผลาญร่างกายไม่ดีขึ้นมา จะเป็นอะไรไหมนะ
เราอาจจะพอจินตนาการออกว่า ถ้าร่างกายของเราเผาผลาญได้ไม่ดี อาหารที่เรารับเข้าไปอาจจะไม่ได้เปลี่ยนเป็นพลังงานได้ใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งข้อนี้ไม่ใช่เรื่องที่เราควรละเลย อ้างอิงข้อมูลจากโรงพยาบาลกรุงเทพ ภาวะที่กระบวนการเมตาบอลิซึมทำงานได้ไม่เต็มที่จนเกิดผลกระทบนั้น เรียกว่า “ภาวะเมตาบอลิกซินโดรม (Metabolic Syndrome)” โดยภาวะนี้เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ไขมันสูง โรคหัวใจขาดเลือด อัมพฤกษ์หรืออัมพาตได้เลย ต้นตอของภาวะนี้โดยมากมาจากโรคอ้วน หรือแม้แต่การอ้วนลงพุง ก็ก่อให้เกิดภาวะนี้ได้ง่าย ๆ หรือบางคนอาจเป็นเรื่องของพันธุกรรม หรืออายุที่เพิ่มขึ้นก็เป็นได้
วิธีการรักษาหลัก ๆ ในปัจจุบันของภาวะเมตาบอลิกซินโดรม คือ การผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหาร ซึ่งอย่าให้ถึงขั้นที่เราต้องรักษาแบบนี้เลย เรามาวิธีดูแลและกระตุ้นระบบเผาผลาญของร่างกายกันดีกว่า
วิธีกระตุ้นเมตาบอลิซึมที่ใครก็ทำได้
อย่างที่กล่าวไปข้างต้น น้ำหนักตัวหรือภาวะโรคอ้วนนั้นมีผลทำให้ร่างกายของเราเผาผลาญพลังงานได้ไม่เต็มที่ เพราะฉะนั้นวิธีการกระตุ้นเมตาบอลิซึมจึงเกี่ยวข้องกับการควบคุมน้ำหนักให้สมส่วน ไม่อ้วนหรือผอมจนเกินไป โดยมีวิธีการหลัก ๆ ดังนี้
- เลือกทานอาหารที่มีคุณค่าทางสารอาหารครบถ้วน
โดยโปรตีนเป็นสารอาหารที่แนะนำ เพื่อน ๆ ควรเลือกอาหารที่มีส่วนประกอบของโปรตีนที่มีไขมันต่ำไม่ว่าเป็น เนื้อไก่ ไข่ไก่ นม ถั่ว เนื้อปลา เป็นต้น
นอกจากนี้ อ้างอิงจากเว็บไซต์ Hello คุณหมอ (Hellokhunmor.com) ยังมีอาหารที่กระตุ้นกระบวนการเผาผลาญของร่างกาย กล่าวคือ อาหารที่มีไฟเบอร์ ธาตุเหล็กหรือสังกะสี ซีลีเนียม ไม่ว่าจะเป็น บล็อกโคลี สาหร่ายทะเล พริก หรือขิง เป็นต้น - ออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ
ข้อนี้เป็นข้อเบื้องต้นที่ใคร ๆ ก็รู้กัน นอกจากเป็นประโยชน์ในการควบคุมน้ำหนักแล้ว การออกกำลังกายบางรูปแบบ ยังเป็นการเสริมสร้างกล้ามเนื้อ ยิ่งเป็นรูปแบบที่เราต้องใช้พลังงานมากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเผาผลาญพลังงานได้ดียิ่งขึ้นเท่านั้น - เปลี่ยนพฤติกรรมให้ได้ขยับร่างกายอยู่ตลอด
หากว่า เราอาจจะไม่ได้ออกกำลังกาย เข้ายิมอย่างจริงจังตลอด แต่เราก็สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ร่างกายของเราได้ใช้พลังงานที่สะสมไว้นั้นเอง เช่น เปลี่ยนการขึ้นลิฟต์เป็นการขึ้นลงบันได เปลี่ยนการนั่งวินมอเตอร์ไซต์เป็นการเดินหากระยะทางไม่ได้ไกลเกินไป ลุกขึ้นขยับแขนขาระหว่างการทำงาน หรือการทำงานบ้าน เป็นต้น - นอนหลับให้เพียงพอ
การนอนหลับก็เป็นเรื่องสำคัญ ยิ่งเรานอนหลับน้อยเท่าไหร่ กระบวนการเผาผลาญพลังงานของเราก็ทำงานได้แย่เท่านั้น เพราะฉะนั้นเราควรใส่ใจเรื่องการนอนหลับให้มีคุณภาพและมีระยะเวลาที่เพียงพอด้วย
เป็นอย่างไรกันบ้าง ทีนี้เพื่อน ๆ คงเข้าใจเรื่องระบบเผาผลาญของร่างกายมากขึ้นแล้ว แถมยังรู้วิธีดูแลให้กระบวนการนี้ทำงานได้อย่างดี เพื่อไม่เกิดภาวะความเสี่ยงโรคอื่น ๆ ที่ไม่มีใครอยากเป็น เพราะฉะนั้นแล้ว เรามาเริ่มดูแลกระบวนการเผาผลาญของร่างกายเราให้ทำงานอย่างเต็มที่กันเถอะ
ขอบคุณข้อมูลจาก
https://www.bangkokhospital.com/content/metabolic-syndrome
บทความ: MULA Learning
รูปประกอบ: MULA Learning