การค้นหาแบบครอบคลุมทั้งหมดยังไม่ได้เปิดใช้งาน
ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

Blog entry by Anuntapong Chuen-im

เปลี่ยนชีวิตด้วยนิสัยเล็ก ๆ แต่ทรงพลัง

ใคร ๆ ก็อยากทำชีวิตของตัวเองให้ดีขึ้น ให้ประสบความสำเร็จหรือไปถึงเป้าหมายตามที่วางไว้ แต่แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะไม่อย่างนั้นแล้ว ทุกคนคงมีชีวิตที่ใฝ่ฝันกันทั้งหมดแล้วแน่ ๆ ความจริงอย่างหนึ่งก็คือ เราทุกคนต่างมีพลังและความสามารถในการเปลี่ยนแปลงให้ชีวิตเราดีขึ้น แต่ขึ้นอยู่กับว่า เราจะสามารถหาทางที่เหมาะสมได้หรือไม่ หนึ่งในวิธีนั้นก็คือ การสร้างนิสัยที่ดีที่จะทำให้เราเติบโตและเก่งขึ้นในทุกวัน วันนี้มูลาจะมาบอกเล่าแนวทางการสร้างนิสัยที่ดีที่เราสามารถทำได้อย่างต่อเนื่องนั่นเอง

 

นิสัยที่ดีจะช่วยให้ชีวิตเราดีได้อย่างไร

อาจจะดูเป็นคำถามแบบกำปั้นทุบดินไปเสียหน่อย แต่อยากเน้นย้ำว่านิสัยที่ดีเป็นพื้นฐานของการพัฒนาตัวเองและความสำเร็จ หลายคนอาจจะพึ่งพาแรงบันดาลใจหรือความอยากทำให้เป้าหมายสำเร็จแบบชั่วครู่ ซึ่งมักจะไม่ทำให้เราทำได้อย่างต่อเนื่องจนไม่ประสบความสำเร็จตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ ตามหนังสือ“เพราะชีวิตดีได้กว่าที่เป็น” (Atomic Habits) โดย เจมส์ เคลียร์ (James Clear) นั้นเสนอว่า การที่เราสร้างนิสัยที่ดี และพยายามทำให้ชีวิตของตัวเองดีขึ้นในทุก ๆ วัน ผลลัพธ์จากการทำต่อเนื่องเหล่านั้นจะสะสม ทบต้นไม่ต่างจากการลงทุนอย่างต่อเนื่อง และทำให้ชีวิตของเราดีขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งบทความนี้ของมูลาได้แรงบันดาลใจจากหนังสือเล่มนี้ด้วยนั่นเอง

 

ตัวอย่างนิสัยที่ควรสะสมและทำอย่างต่อเนื่อง

หลาย ๆ คนอาจจะยังไม่ได้มีเป้าหมายในชีวิตที่ชัดเจน อาจจะเริ่มจากเป้าหมายด้านเหล่านี้ ซึ่งการันตีว่าหากทำได้ ยังไงชีวิตก็มีแต่ดีขึ้น

  1. นิสัยด้านการเงิน เช่น เก็บเงินให้ได้วันละ 50 บาททุกวัน หรือจดบันทึกรายรับรายจ่ายทุกวันก่อนนอน
  2. นิสัยด้านสุขภาพ เช่น งดน้ำหวานให้เหลือ 1 แก้วต่อสัปดาห์ ทานผักอย่าน้อย 3 อย่างในทุกมื้อ หรือออกกำลังกายอย่างน้อย 4 ครั้งต่อสัปดาห์
  3. นิสัยด้านการเรียนรู้ เช่น อ่านหนังสือให้ได้วันละ 5 หน้า ฝึกฟังข่าวภาษาอังกฤษวันละ 10 นาที
  4. นิสัยด้านความสัมพันธ์/การเข้าสังคม เช่น นัดพบเพื่อน ๆ สัปดาห์ละ 1 วัน แบ่งเวลาให้กับครอบครัวทุกวันตอนเย็น

 

แล้วจะสร้างนิสัยที่ดีได้อย่างไร

เจมส์ เคลียร์ได้ให้แนวทางในหนังสือไว้ 4 ข้อคือ

  1. ทำให้เห็นชัดเจน (Make it obvious)

คือ การสร้างสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมและสามารถกระตุ้นให้เรานึกถึงนิสัย/เป้าหมายที่เราต้องทำอย่างต่อเนื่องได้ เช่น สมมติว่า เพื่อน ๆ ตั้งเป้าหมายว่าเราจะหยอดกระปุกทุกวัน เราอาจจะต้องเอากระปุกออมสินไปวางในที่ที่เราสามารถเห็นได้อย่างชัดเจน หรือมีปฏิทินที่เราสามารถติดตามว่าทุกวันเราออมได้ตามเป้าหมายจริงหรือไม่

  1. ทำให้น่าสนใจ น่าดึงดูด (Make it attractive)

คือ การทำให้นิสัยเหล่านั้นเชื่อมโยงกับสิ่งที่ตัวเองชอบ เช่น หากตั้งเป้าหมายว่าอยากวิ่งตอนเช้าอย่างต่อเนื่อง และเราก็เป็นคนชอบฟังเพลงสนุก ๆ เราก็ควรเตรียมเพลย์ลิสต์เพลงโปรดเพื่อฟังขณะวิ่ง เพื่อให้การวิ่งของเราสนุกมากขึ้น หรือการเข้าไปอยู่ในสังคมคนชอบวิ่งตอนเช้า เพื่อให้เราได้เรียนรู้จากคนอื่น และมีแรงผลักดันว่าการวิ่งสนุก มีประโยชน์กับเราแค่ไหนนั่นเอง

  1. ทำให้เป็นเรื่องง่าย (Make it easy)

คือ การทำให้พฤติกรรมเริ่มต้นนั่นไม่อยากเกินไป เช่นว่า เราอยากอ่านหนังสือให้เยอะขึ้น แต่เราดันตั้งเป้าหมายวันแรกเลยว่า วันนี้จะอ่านให้ได้ 30 หน้า ซึงเป็นเป้าหมายที่เกินตัวและเราต้องใช้ความพยายามมากว่าปกติ ในระยะแรกอาจจะทำได้ แต่นานไป เราก็คิดล้มเลิกได้ง่าย ๆ นั่นเอง

  1. ทำให้เป็นเรื่องสนุกและมีความสุข (Make it satisfying)

คือ การที่เราควรมีความสุขระหว่างการทำตามเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง เช่น การให้รางวัลตัวเองระหว่างทางหรือเมื่อทำตามเป้าหมายสำเร็จ การติดตามพัฒนาการตัวเองอย่างต่อเนื่องและมีมุมมองว่าเรากำลังทำสิ่งที่ดีให้ตัวเอง เพื่อให้เรารู้สึกดีและมีความสุขกับตัวเองนั่นเอง

 

นอกเหนือจากการพยายามสร้างนิสัยหรือพฤติกรรมดีที่เราทำได้อย่างต่อเนื่องแล้ว เราเองก็จำเป็นต้องพยายามลดพฤติกรรมแย่ ๆ ที่เราทำไปเพราะเคยชิน ทั้งนี้ก็เพราะพฤติกรรมไม่ว่าจะดีหรือไม่ดี หากทำต่อเนื่อง ผลกระทบก็จะสะสม ทบต้นกันไปไม่ต่างกันนั่นเอง

 

เป็นอย่างไรกันบ้างกับแนวคิดพัฒนาตัวเองในวันนี้ มูลาเห็นด้วยมาก ๆ ว่าการที่เราพยายามเปลี่ยนแปลงตัวเองไปในทางที่ดีขึ้น แม้เพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ผลลัพธ์ก็จะยิ่งใหญ่ได้ หากเราทำได้อย่างต่อเนื่องและจริงจัง เพื่อน ๆ อย่าลืมเอาแนวทางเหล่านี้ไปใช้กันนะ ถ้าทำแล้วเวิร์ค ก็อย่าลืมบอกเล่าให้คนรอบข้างได้ลองพัฒนาตัวเองไปในทางที่ดีขึ้นนะ 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

https://jamesclear.com/atomic-habits-summary

https://fourminutebooks.com/atomic-habits-summary/

https://thaipublica.org/2019/01/pridi130/

 

บทความ: MULA Learning
รูปประกอบ: MULA Learning

  • แชร์