การค้นหาแบบครอบคลุมทั้งหมดยังไม่ได้เปิดใช้งาน
ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

Blog entry by Anuntapong Chuen-im

ทำเรื่องการเงินให้สำเร็จได้ ด้วยปรัชญาสโตอิก

หากใครชอบอ่านหนังสือเพื่อการพัฒนาตัวเอง จะเห็นว่าช่วงนี้มีหนังสือหรือบทความออนไลน์ที่แนะนำปรัชญายุคกรีกโบราณที่ชื่อ สโตอิก (Stoicism) ออกมาจำนวนไม่น้อย ว่ากันว่าเป็นแนวทางในการใช้ชีวิตอย่างดี อย่างเต็มประสิทธิภาพ หลักการนี้ยังเป็นยอมรับในระดับสากลและบุคคลที่มีชื่อเสียงระดับโลกก็นำมาปรับใช้ แนวคิดสโตอิกนี้เองนอกจากจะเอามาใช้พัฒนาชีวิตตัวเองแล้ว มูลายังเห็นว่า จะดีไม่น้อยหากเรานำหลักการใหม่ ๆ มาปรับใช้เพื่อสุขภาพทางการเงินที่ดีขึ้น วันนี้มูลาจะมาบอกเล่าแนวคิดปรัชญาสโตอิก และมาดูกันว่าเราจะนำแนวคิดเหล่านี้มาจัดการการเงินให้ดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง ว่าแล้วไปอ่านกันเลย

 

ปรัชญาสโตอิกคืออะไร

              ปรัชญาสโตอิก เป็นหลักการที่เน้นเรื่องการฝึกใช้ความคิดเพื่อก้าวข้ามความยากลำบากในชีวิต ต้นกำเนิดเกิดขึ้นเมื่อพ่อค้าที่ชื่อซีโนแห่งเมืองซิทิอุม (Zeno of Citium) เกิดประสบอุบัติเหตุเรือล่ม เปลี่ยนชีวิตจากที่ร่ำรวยเป็นหมดเนื้อหมดตัวด้วยเหตุการณ์นี้เพียงครั้งเดียว หลังจากนั้นจึงได้ค้นพบหลักการดำเนินชีวิตเพื่อจัดการความยากลำบากที่เอเธนส์ และหลักการนี้ได้ถูกสอนและนำมาใช้ต่อมาเป็น 2000 ปีจนถึงปัจจุบัน

          หลักการหลัก ๆ ของปรัชญาสโตอิกได้แก่

  1. สนใจสิ่งเราควบคุมได้ (Dichotomy of Control)

เหตุการณ์ต่าง ๆ บนโลกนี้ มีทั้งแบบที่เราสามารถควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ หากเราสนใจแต่สิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ เราก็จะเสียเวลาในการทำชีวิตให้ดีขึ้นนั่นเอง

  1. ควบคุมความต้องการของตัวเอง (Discipline of Desire)

ไม่ใช่ความต้องการในชีวิตทุกอย่างที่จำเป็นหรือเกี่ยวข้องกับคุณค่าในชีวิตเรา หากเราจะเลือกทำอะไร ควรเลือกทำในสิ่งที่ถูกต้อง

  1. ใช้ชีวิตอย่างมีคุณธรรม (Practicing Virtue)

เลือกทำสิ่งที่ดีงาม ถูกต้องตามครรลองคลองธรรมเพื่อความสุขในชีวิต

  1. ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิต และรับมืออย่างเหมาะสม (Amor Fati)

ไม่ว่าเรื่องที่เกิดขึ้นจะดีหรือร้าย เราควรยอมรับ สุดท้ายแล้วผลกระทบของเหตุการณ์เหล่านี้จะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับว่าเรารับมือกับเหตุการณ์เหล่านั้นอย่างไรต่างหาก

 

          แนวทางการใช้ปรัชญาสโตอิกเพื่อการจัดการการเงิน   

          หลักการสโตอิกแบบย่อที่มูลานำเสนอข้างต้นนั้น เราสามารถนำมาปรับใช้เพื่อความสำเร็จทางการเงินของเราได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสร้างวินัยทางการเงิน การทำตามเป้าหมายทางการเงินหรือการรับมือเมื่อมีเหตุการณ์ฉุกเฉินทางการเงินได้เช่นกัน ได้แก่

  1. สนใจเรื่องการเงินในสิ่งที่เราควบคุมได้

การที่เราจะมีความมั่งคั่งหรือมีสุขภาพทางการเงินที่ดีนั้น อาจจะประกอบด้วยหลายองค์ประกอบ แต่เราควรสนใจ โฟกัสกับสิ่งที่เราจัดการได้ แทนที่จะมานั่งกลุ้มกับเรื่องที่ใหญ่เกินตัว

เรื่องการเงินที่เราควบคุมได้ ได้แก่ พฤติกรรมการใช้จ่าย แนวทางการออม แผนการทางการเงินที่รอบคอบ การสร้างรายได้ในช่องทางใหม่ ๆ ส่วนเรื่องที่เราคุมไม่ได้ก็เช่น แนวโน้มเศรษฐกิจที่มีขึ้นลง เงินเฟ้อ หรือการที่คนอื่นขอหยิบยืมเงินเรา อาจเป็นเรื่องที่เราควบคุมหรือช่วยเหลืออะไรไม่ได้

  1. คาดการณ์เหตุการณ์ร้าย ๆ ที่อาจเกิดขึ้น

ในเมื่อชีวิตนั้นมีส่วนที่เราคุมได้และไม่ได้ เหตุการณ์ร้าย ๆ ทางการเงิน เช่น ตกงาน ประสบอุบัติเหตุนั้นก็อาจเป็นเรื่องที่ควบคุมไม่ได้ในชีวิต ดังนั้นปรัชญาสโตอิกนั้นสอนให้เรายอมรับและหาทางจัดการรับมืออย่างเหมาะสม เมื่อเราไม่ประมาท และเข้าใจว่าเหตุการณ์ร้าย ๆ อาจเกิดขึ้นกับเราได้ทุกเมื่อแล้ว เราก็ควรมีแผนสำรองในการรับมือ เช่น การออมเงินสำรองฉุกเฉินให้ได้อย่างน้อย 3 – 6 เดือนของค่าใช้จ่ายจำเป็นรายเดือน เพื่อทำให้เรารับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันได้อย่างดีขึ้น

  1. ควบคุมความต้องการของตัวเองในเรื่องการเงิน

 เราควรจะแยกแยะให้ได้ระหว่างความต้องการและความจำเป็นในชีวิต ไม่ใช่ของทุกอย่างที่เราต้องมี พยายามเลือกใช้จ่ายกับสิ่งที่จำเป็น ด้วยความไม่แน่นอนบนโลก เรายังมีเรื่องค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดฝันในอนาคต การจัดการความต้องการใช้จ่ายให้ดี ไม่ใช้จ่ายเกินตัวจึงเปรียบเสมือนวิธีการที่เรารับมือกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ในอนาคต

  1. เก็บออมอยู่เสมอ

วิธีการรับมือความไม่แน่นอนในอนาคต คือการที่เรามีทรัพยากรหรือเงินที่สามารถใช้ช่วยเหลือตัวเองได้ วิธีการพื้นฐานคือ การออมเงินนั่นเอง จำไว้เสมอว่า เราควรออมก่อนที่จะจ่ายเงินออกไป เพราะเป็นการบังคับตัวเองให้มีเงินออมที่ง่ายที่สุดและทำได้จริง

  1. จดบันทึกความเปลี่ยนแปลงทางการเงิน

ผู้ที่เชื่อเรื่องหลักการสโตอิก มักได้รับคำแนะนำให้จดบันทึกประจำวันอยู่เสมอ เพราะการจดบันทึกเปรียบเสมือนการสะท้อนความคิดและวิธีการแก้ปัญหาของเราในแต่ละวัน รวมทั้งบันทึกสิ่งที่เราได้เรียนรู้หรือพัฒนาในแต่ละวันด้วย เราสามารถนำหลักการการจดบันทึกนี้มาใช้กับการดูแลจัดการทางการเงินได้ เช่น การจดบันทึกรายรับรายจ่าย การประเมินค่าใช้จ่ายในอนาคต การเปรียบเทียบดูว่าเรามีความก้าวหน้าและกำลังทำตามเป้าหมายทางการเงินที่เรามีอยู่หรือไม่ ทำให้เราเห็นภาพและเข้าใจพฤติกรรมทางการเงินของตัวเองได้มากขึ้น

 

หลักการสโตอิกนั้นนอกจากจะทำให้เราจัดการชีวิตให้ดีขึ้น รับมือกับเรื่องต่าง ๆ ได้ดีขึ้นแล้ว ยังสามารถนำมาปรับใช้เพื่อประโยชน์ทางการเงินได้อีกด้วย หากเพื่อน ๆ อยากเข้าใจหลักการสโตอิกมากขึ้น สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมจากแหล่งข้อมูลอื่น ๆ ได้ด้วยนะ เพื่อเราจะได้นำมาปรับใช้ในด้านอื่น ๆ ของชีวิตให้ดีมากขึ้นไปอีก

 

         

ขอบคุณข้อมูลจาก

 

https://dailystoic.com/what-is-stoicism-a-definition-3-stoic-exercises-to-get-you-started/

https://dailystoic.com/9-core-stoic-beliefs/

https://www.thoughtco.com/stoics-and-moral-philosophy-4068536

https://thepotential.org/life/stoicism/

https://thestandard.co/life/get-to-know-stoic/

https://becommon.co/culture/thought-stoicism/

https://www.livetolife.com/art-culture/living-culture/stoic-stoicism

 

บทความ: MULA Learning
รูปประกอบ: MULA Learning

 

  • แชร์