Global searching is not enabled.
Skip to main content

Blog entry by Anuntapong Chuen-im

เคล็ดลับไม่กลับไปเป็นหนี้

หนี้สินเป็นภาระทางการเงินที่ใครหลายคนอาจหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะต้องกิน ต้องใช้ และมีภาระค่าใช้จ่ายที่จำเป็น(หรือไม่จำเป็น) เชื่อว่านักอ่านชาวมูลาหลาย ๆ คนมีวินัยทางการเงินและพยายามปลดหนี้ หรือใกล้จะปลดภาระหนี้ได้แล้ว และไม่อยากกลับไปเป็นหนี้อีก เพราะชีวิตที่ปลอดหนี้คือชีวิตที่เรามีอิสระและสามารถใช้เงินเพื่อความต้องการอื่น ๆ หรือเป้าหมายในชีวิตได้ แล้วเราจะทำอย่างไรได้บ้างที่จะไม่กลับไปเป็นหนี้ หรือมีแนวคิดการจัดการหนี้ในอนาคตอย่างชาญฉลาดอะไรบ้าง มูลารวบรวมเคล็ดลับที่เป็นประโยชน์มาไว้ในบทความวันนี้แล้ว ไปตามอ่านกันเลย

 

  1. ติดตามรายรับ รายจ่ายอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

เพราะการที่เรารู้ว่าเงินเราเข้ามาจากไหน เท่าไหร่และเสียไปกับอะไรเท่าไหร่ ถือเป็นข้อมูลพื้นฐานที่แต่ละคนควรรู้ เพราะนั่นสามารถบอกสถานะทางการเงินของเราในแต่ละเดือนได้

ก่อนหน้านี้ มูลามีบทความที่แนะนำเครื่องมือการจดบัญชีรายรับรายจ่ายที่เป็นประโยชนและเข้าใจง่ายมาแล้ว เพื่อน ๆ สามารถเข้าไปดูไอเดียได้ นอกจากนี้หากใครไม่ถนัด หรือคิดว่าการจดบัญชีรายรับรายจ่ายรายวันนั้นมันยุ่งยาก ไม่สะดวกเอาเสียเลย มูลาก็ขอแนะนำว่า เพื่อน ๆ สามารถจัดสรรเงินสดเป็นส่วน ๆ หลังจากมีรายได้เข้ามาทันที เช่น ส่วนแรกเป็นเงินเก็บ ส่วนต่อมาเป็นเงินค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าใช้จ่ายในบ้าน อีกรูปแบบของการจัดสรรเงินที่ฮิตกันมากในโซเชียลคือ การทำชาแลนจ์แบ่งเงินรายวัน กำหนดว่าหนึ่งวันเราจะใช้เงินไม่เกินกี่บาท ก็ดูเป็นไอเดียที่ดี และท้าทายตัวเองได้ด้วย

 

  1. เริ่มออมเงินสำรองฉุกเฉิน

เพราะเราไม่รู้ว่าในอนาคตจะเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันอะไรยังไงบ้าง หากเราเกิดหารายได้ไม่ได้ในช่วงเวลาหนึ่ง เช่น ตกงาน ประสบอุบัติเหตุ แต่ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นก็ไม่ได้หยุดตาม เพราะฉะนั้น เพื่อความมั่นใจว่าเราจะไม่กู้หนี้ยืมสินเพื่อเป็นหนี้อีกในอนาคต ขอแนะนำว่า เราควรเริ่มออมเงินสำรองฉุกเฉิน แม้ว่าจะเริ่มจากจำนวนเงินน้อย ๆ ก็ไม่เป็นไร โดยเงินสำรองฉุกเฉินนี้ควรมีอยู่ที่ 3 - 6  เท่าของเงินเดือน ส่วนคำถามที่ว่า ถ้าเรามีหนี้อยู่ แล้วเราจะออมเงินสำรองนี้ยังไงล่ะก็ เพื่อน ๆ สามารถหาคำตอบจากอีกบทความของมูลาได้เลย

 

  1. หลีกเลี่ยงแหล่งเงินกู้ที่มีความเสี่ยง

เพื่อน ๆ ที่มีรายได้ไม่สูงมากหรืออาจยังเข้าไม่ถึงเงินกู้จากธนาคาร มักจะได้เจอกับแหล่งเงินกู้อื่น ๆ ทั้งในและนอกระบบ ซึ่งอาจเสนอข้อเสนอแบบขูดรีดขูดเนื้อ หรือดอกเบี้ยสูงลิ่วแลกกับเงินกู้แบบฉับไว มูลาเลยอยากย้ำเตือนในเรื่องนี้ หากเป็นไปได้ เพื่อน ๆ ควรเลือกกู้เงินกับสถาบันการเงินที่น่าเชื่อถือ ถูกกฎหมายและมีเงื่อนไขที่ตอบโจทย์ความต้องการของเราด้วยนะ เพราะหากเรากลับไปกู้เงินจากแหล่งที่มีความเสี่ยง คงไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ที่เราจะปลดหนี้ก้อนนั้นได้แน่ ๆ

หรือหากใครกำลังประสบปัญหาในการแก้หนี้ ก็สามารถเข้าไปปรึกษาหน่วยงานของภาครัฐที่ให้ความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ เช่น การเจรจาประนอมหนี้ หรือความช่วยเหลือทางกฎหมายต่าง ๆ

  1. ฝืนใจ ไม่ใช้จ่ายตามเทรนด์

เข้าใจว่า นอกจากค่าใช้จ่ายจำเป็นในชีวิตประจำวันแล้ว เราเองก็มีค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นอื่น ๆ เช่น ค่าทานอาหารนอกบ้าน ค่าใช้จ่ายสังสรรค์กับเพื่อน ๆ ค่าช้อปปิ้งสินค้าออนไลน์ แม้ว่าจะเป็นไปเพื่อความสุขของเรา หรือประโยชน์ในการรักษาความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง เราเองจำเป็นต้องดูแลไม่ให้มีค่าใช้จ่ายส่วนนี้จนเกินตัว หลายคนเป็นหนี้เป็นสินเพราะว่าความหน้าบาง ต้องเลี้ยง ต้องดูแลเพื่อน ๆ คนรอบข้างเกินความพอดี ลองตั้งเป้าหมายลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ดูนะ

 

  1. ชำระเงินบัตรเครดิตให้ครบและตรงตามกำหนด

ความจริงแล้ว การมีบัตรเครดิตก็เป็นประโยชน์กับเรา ทั้งเรื่องสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ส่วนลด คะแนนสะสมที่เราสามารถนำมาแลกใช้ได้ หากเราจัดการได้ดี ชำระเงินรายเดือนให้ครบ ตรงเวลา ไม่จ่ายเฉพาะขั้นต่ำ ก็เชื่อได้เลยว่า เราจะได้ประโยชน์จากการใช้บัตรเครดิตอย่างเต็มที่ และไม่ตกลงไปในกับดักหนี้บัตรเครดิตที่ไม่จำเป็น

 

  1. คาดการณ์ค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตล่วงหน้า

หลายครั้งที่เราเป็นหนี้ เพราะมีเหตุการณ์ใหม่ ๆ เข้ามาเพิ่มค่าใช้จ่ายรายเดือน คำถามก็คือ เหตุการณ์เหล่านั้น เราสามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้าหรือไม่ ว่าเราต้องเตรียมค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ ใช้จ่ายเวลาไหนบ้าง เช่น เวลาเปิดเทอมของบุตรหลาน ซึ่งมักมีช่วงเวลาแน่นอน ผู้ปกครองก็สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าว่าต้องใช้เงินเยอะกว่าปกติในช่วงเวลานั้น ลองแจกแจงดูว่ามีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง เช่น ค่าหนังสือ ค่าเทอม ค่าชุดนักเรียนใหม่ เป็นต้น แล้วดูว่าตั้งแต่วันนี้จนถึงระยะเวลาที่ต้องใช้เงิน เราสามารถเก็บเงินเพื่อการนี้ได้ล่วงหน้าหรือไม่ หากรายรับในปัจจุบันของเราดูจะไม่พอ ก็ต้องหาทางลดค่าใช้จ่ายบางอย่าง หรือหารายได้เพิ่มในช่วงเวลาสั้น ๆ เพื่อรับมือกับค่าใช้จ่ายที่เราคาดไว้แล้วว่าจะเกิดในอนาคตนั่นเอง

เมื่อเราคาดการณ์ได้แบบนี้แล้ว โอกาสที่เราต้องไปกู้เงินก็อาจลดน้อยลง หรือหากจะกู้ ก็จะกู้อย่างมีสติ และเข้าใจสถานการณ์ทางการเงินของเราเองมากขึ้น

 

แน่นอนว่า การไม่มีหนี้เป็นจุดหมายทางการเงินที่ใครหลาย ๆ คนใฝ่ฝัน การจะปลอดหนี้ได้ต้องใช้ความพยายาม ความเข้าใจเรื่องการเงินของตัวเอง วินัยในการเงินและการวางแผน แต่มูลาก็เชื่อว่า หากเพื่อน ๆ มีความตั้งใจจริงแบบนี้แล้ว หนทางสู่การปลอดหนี้ก็เป็นเรื่องง่าย ๆ และทำได้อย่างแน่นอน

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

https://finred.usalearning.gov/Money/DebtTraps

https://www.ubs.com/ch/en/wealth-management/womens-wealth/magazine/articles/how-to-avoid-debt-trap.html

 

บทความ: MULA Learning
รูปประกอบ: MULA Learning

 

  • Share