
24
Aprilเคล็ดลับช้อปปิ้งให้เหลือเงินเก็บ
พอพูดถึงเรื่องความสุขในชีวิต แต่ละคนมีวิธีการทำให้ตัวเองแฮปปี้ในรูปแบบที่แตกต่างกัน แต่วิธีการอย่างหนึ่งที่หลายคนเห็นตรงกันว่าทำแล้วมีความสุข คือการช้อปปิ้งซื้อของ จับจ่ายใช้สอยไปกับสินค้าหรือบริการเพื่อความสุขของตัวเองหลังจากที่เราได้เงินมากอย่างยากลำบาก แน่นอนว่าการช้อปปิ้งที่ดีควรมีขอบเขต เพราะไม่อย่างนั้น จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพทางการเงินของเราเอง ในเมื่อเราไม่สามารถอยู่บนโลกนี้ได้ด้วยการไม่ซื้อของ แล้วเราจะทำอย่างไรให้การช้อปปิ้งแต่ละครั้งมีความคุ้มค่า และทำให้เราเหลือเงินเก็บในกระเป๋าได้ วันนี้มูลาได้รวมเทคนิคการช้อปปิ้งอย่างชาญฉลาด ที่จะถนอมเงินในกระเป๋าของเพื่อน ๆ มาในบทความนี้แล้ว ตามอ่านกันได้เลย
ช้อปอย่างไรให้เหลือเงินเก็บ
- ทำรายการสิ่งของที่ต้องซื้อ
ก่อนอื่นเลย เราต้องสามารถแยกแยะได้ว่า ความจำเป็นและความต้องการคืออะไร ของที่เราจำเป็นต้องใช้ในตอนนั้นมีอะไรบ้าง เมื่อทราบความจำเป็นเหล่านั้นแล้ว เราก็ควรลิสต์ออกมาให้ได้ว่ามีอะไรบ้าง เมื่อเราไปถึงห้างหรือร้านค้าก็ได้มีสมาธิ จดจ่อ ไม่วอกแวกไปกับชั้นวางของอื่น ๆ ที่ล่อตาล่อใจ หรือถ้าเรายังวอกแวก มีแนวโน้มในการหยิบของอย่างอื่นมาด้วย ก็ต้องตั้งชาแลนจ์ให้ตัวเองว่า จะต้องซื้อของที่อยู่ในรายการนี้ให้หมดภายในครึ่งชั่วโมง หรือระยะเวลาอื่น ๆ ที่ไม่ทำให้เราสามารถแวะดูของที่ไม่จำเป็นได้
- ท้าทายตัวเองด้วยการตั้งเวลาก่อนการซื้อ
สืบเนื่องจากข้อข้างต้น ความจำเป็นควรเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้เราซื้อของต่าง ๆ แต่ก็ไม่ได้หมายความ เราจำเป็นต้องงดซื้อของที่อยากได้ไปเสียทั้งหมด คำถามคือ ถ้าเจอของอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ และรู้สึกอยากซื้อมาก ๆ อยากเป็นเจ้าของแล้วเราจะตัดสินใจได้อย่างไร มูลาอยากให้เพื่อนลองตั้งเวลาพิจารณาซักหน่อยก่อนซื้อ เช่น ซัก 1 วัน หรือมากกว่านั้น หากว่า เรารู้สึกว่า เรายังอยากได้จริง ๆ หลังจากที่หมดระยะเวลานั้นแล้ว นั่นหมายความว่า แม้ว่าสิ่งของนั้นจะไม่ใช่ปัจจัยสี่ แต่ว่าเรารู้สึกชอบและอยากเป็นเจ้าของมากพอ ไม่ใช่ความอยากซื้อเพราะราคาโปรโมชั่น อยากซื้อเพราะพนักงานเชียร์ขาย หรือเป็นความอยากซื้อแบบประเดี๋ยวประด๋าว นี่ก็เป็นวิธีที่เราช่วยให้เราซื้อของที่ทำให้เรามีความสุขได้จริง ๆ และไม่ทำให้เราซื้อของที่อยากได้จนเกินความจำเป็นนั่นเอง
- ไม่ซื้อของเพียงเพราะมีป้ายลดราคา
เมื่อพูดถึงการซื้อของ เรามักนึกว่า ต้องซื้อของที่ราคาถูกเท่านั้น คือการที่เราจะประหยัดเงินได้ ความคิดนี้อาจจะไม่ถูกต้องเสมอไป ความจริงแล้ว เราซื้อของเพราะเราอยากได้ประโยชน์หรือคุณค่าบางอย่างจากสิ่งของเหล่านั้นไม่ใช่เหรอ เพราะฉะนั้น เราไม่ควรซื้อของเพราะว่ามีป้ายลดราคา หรืออยู่ในช่วงโปรโมชั่นที่บรรดาห้างร้านต่าง ๆ ประกาศเสมอไป การลดราคาหรือโปรโมชั่นลดแหลกแจกแถมอาจเป็นเพียงกลยุทธในการขายของให้ได้มากขึ้น โดยราคาของไม่ได้ถูกลงตามไปด้วย เราในฐานะผู้ซื้อที่ชาญฉลาดจึงควรซื้อของโดยดูที่คุณค่าหรือประโยชน์เป็นสำคัญ ยกตัวอย่างเช่น ชุดทำงาน ที่ราคาแพงกว่าเสื้อผ้าทั่ว ๆ ไป แต่หากเราใส่แล้วดูดี มีเนื้อผ้าหรือการตัดเย็บที่ดี การลงทุนซื้อของใช้ดี ๆ เหล่านี้แทนของใช้แฟชั่นที่คุณภาพต่ำกว่านั้นก็ดูเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล สำหรับเพื่อน ๆ ที่ต้องการลงทุนในการดูแลตัวเองนะ
- ดูว่าของที่ต้องใช้สามารถหยิบยืมได้หรือไม่
บางโอกาส เราจำเป็นต้องใช้ของนั้นเป็นระยะเวลาสั้น ๆ และอาจไม่ได้ใช้อีก ถ้าเราต้องเสียเงินซื้อ เพื่อน ๆ คิดว่าจะคุ้มค่าการซื้อหรือเปล่า ถ้าเพื่อน ๆ ตอบว่า คุ้ม เพราะสามารถใช้ในโอกาสอื่น ๆ ได้ต่อไป การซื้อของเหล่านั้นก็สมเหตุสมผล แต่ว่าถ้าเรารู้ว่า คงไม่มีโอกาสหรือมีโอกาสน้อยมาก ๆ ที่เราจะใช้ของเหล่านั้นอีก เป็นไปได้ไหมว่า เราจะขอหยิบยืมของเหล่านั้นจากคนรอบข้างเสียก่อน ตรงนี้แหละที่ทำให้เราประหยัดเงินได้มากทีเดียว และที่สำคัญคือ เมื่อยืมอะไรจากใครแล้ว ก็อย่าลืมดูแลรักษาสิ่งของเหล่านั้นให้อยู่ในสภาพที่ดีและคืนให้ตรงเวลาด้วยนะ
- ดูของมือสอง หรือของใช้แล้วเป็นตัวเลือก
หลายครั้งที่ของมือสองสภาพดีเป็นตัวเลือกในการซื้อที่เหมาะสมกับเรา หากเพื่อน ๆ ไม่ติด ไม่ถือเรื่องผ่านการใช้งาน การเลือกซื้อของที่ใช้แล้วที่คุณภาพดีจะช่วยให้เราประหยัดเงินได้อย่างแน่นอน ข้อควรระวังคือ เราควรเห็นสภาพของดังกล่าวและสอบถามเรื่องการใช้งานจากเจ้าของเดิมให้เข้าใจ เพื่อพิจารณาดูว่า เราสมควรซื้อของชิ้นนี้จริง ๆ หรือไม่ อย่าคิดแต่ว่าเราจะเอาของถูกอย่างเดียวนะ
- เปรียบเทียบราคา และซื้อในเวลาที่เหมาะสม
ข้อนี้เป็นข้อเบสิคที่ทุกคนรู้ แต่มูลาขอนำมาทบทวนอีกรอบ เราอย่าลืมว่า เรามีตัวเลือกในการซื้อมากมาย ช่องทางการซื้อที่หลากหลาย หากเป็นสินค้าเดียวกัน คุณภาพเดียวกัน เราจะจ่ายเงินซื้อในที่ที่แพงกว่าไปทำไม นั้นจึงเป็นเหตุผลว่า เราในฐานะผู้บริโภคควรทำการบ้าน เปรียบเทียบราคา ข้อเสนอจากที่ต่าง ๆ หรือดูว่ามีช่วงเวลาไหนเป็นช่วงเวลาพิเศษหรือไม่ที่เราจะซื้อของชิ้นนี้ในราคาที่ถูกกว่าปกติ
- ไม่จำเป็นต้องทำตัวเป็นแฟนคลับของแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่ง
เพื่อน ๆ หลายคนปวารณาตัวเป็นแฟนคลับของแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่ง เมื่อแบรนด์นั้นมีสินค้าใหม่ ก็อดไม่ได้ที่จะต้องซื้อมา เพราะเราเป็นแฟนคลับเขานี่นา มูลาเข้าใจเรื่องความสุขตรงนี้ แต่หากพิจารณาดีแล้ว การที่เราซื้อเพราะเราเป็นแฟนคลับของแบรนด์ โดยที่เราไม่ดูว่าเราจะมีโอกาสใช้ของหรือได้ประโยชน์จากของนั้น ๆ จะใช่การใช้จ่ายที่เราได้ประโยชน์จริง ๆ หรือเปล่านะ หรือเรากำลังปล่อยให้ความอยากได้เป็นเหตุผลหลักในการใช้เงินของเรากันนะ
- เปลี่ยนความคิดว่า การซื้อของเยอะ ๆ อาจไม่ได้สร้างความสุขเสมอไป
ข้อสุดท้าย เราอาจจะต้องเตือนตัวเองว่า การซื้อของเยอะไม่เท่ากับความสุขในชีวิต ซื้อเยอะเท่ากับเงินไหลออกเยอะหรือภาระในการดูแลรับผิดชอบเยอะต่างหาก และลองมองหาดูว่า มีวิธีการสร้างความสุขรูปแบบอื่นบ้างไหมที่ตอบโจทย์เรา และทำให้กระเป๋าสตางค์ไม่ฟีบ
แม้ว่า เราจะปฏิเสธไม่ได้ว่า การซื้อของทำให้เรามีความสุข แต่เราก็สามารถเป็นผู้ซื้อ ผู้บริโภคที่ชาญฉลาดได้ ด้วยการวางแผนการซื้อ ซื้อเมื่อมีความจำเป็นและได้รับประโยขน์จากสินค้าเหล่านั้น หากเพื่อน ๆ มีแนวคิดแบบนี้แล้ว การช้อปปิ้งก็จะไม่ส่งผลร้ายต่อเงินในกระเป๋าสตางค์ของเพื่อน ๆ อย่างแน่นอน
ขอบคุณข้อมูลจาก
https://blog.leaderscu.com/smart-shopping-hacks-to-save-money
https://hackslifestyle.com/money-saving-hacks/save-money-on-online-shopping/
https://gosharpener.com/blogs/497463/The-Ultimate-Guide-to-Smart-Shopping-Tips-for-a-Budget
https://www.investopedia.com/5-expert-approved-money-saving-shopping-tips-8745602
บทความ: MULA Learning
รูปประกอบ: MULA Learning