การค้นหาแบบครอบคลุมทั้งหมดยังไม่ได้เปิดใช้งาน
ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

Blog entry by Anuntapong Chuen-im

ไขมันดี ไขมันเลวคืออะไร ต่างกันแบบไหนบ้าง

ไขมันดี ไขมันเลวคืออะไร ต่างกันแบบไหนบ้าง

 ใครเป็นเหมือนกันบ้างไหม ไปตรวจสุขภาพทีไร งงเรื่องไขมันตลอด ร่างกายเรามีไขมันอะไรเยอะแยะ ที่ว่าไขมันดี ไขมันเลวนั้นคืออะไรกันบ้าง มันต่างกันอย่างไรแล้วส่งผลอะไรกับเราบ้าง อันไหนที่ต้องลด ต้องเพิ่ม น่าสับสนไปหมด ในวันนี้มูลาได้สรุปรวมเรื่องเรื่องไขมันดี ไขมันเลวที่เราควรรู้มาไว้ในบทความนี้แล้ว ตามอ่านกันเลยดีกว่า

 

ไขมันดี ไขมันเลวคืออะไร

              อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ไขมันดี และไขมันเลว เป็นชื่อลำลองของคอเลสเตอรอลที่พบในร่างกาย 2 ประเภทหลัก ๆ คือ

  1. คอเลสเตอรอลชนิดดี (High density lipoprotein หรือ HDL) หรือที่เราเรียกกันคุ้นปากว่า ไขมันดี ทำหน้าที่ขนส่งคอเลสเตอรอลและกรดไขมันจากส่วนต่าง ๆ ของร่างกายไปที่ตับ เพื่อทำลายและขับออกทางน้ำดีโดย HDL จะช่วยป้องกันไม่ให้ไขมันเลวเข้าไปสะสมในหลอดเลือดแดง
  2. คอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (Low density lipoprotein หรือ LDL) หรือที่เราเรียกว่าไขมันเลว ทำหน้าที่เป็นตัวนำพาไขมันคอเลสเตอรอลไปใช้ยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย แต่ถ้ามีระดับที่สูงเกินไปจะเข้าไปสะสมที่ผนังหลอดเลือด ทำให้เกิดหลอดเลือดตีบและแข็ง ระดับ LDL-C ที่เหมาะสม ขึ้นอยู่กับอายุและปัจจัยเสี่ยงของแต่ละบุคคลโดยทั่วไปไม่ควรเกิน 100-130 มีลลิกรัมต่อเดซิลิตร (mg/dl)

 

คอเลสเตอรอลส่งผลอย่างไรกับร่างกายเราบ้าง

อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ Primocare.com คอเลสเตอรอลนั้นเป็นสารที่จำเป็นในการสร้างเซลล์ ผลิตวิตามินและฮอร์โมนให้ร่างกายดำเนินไปได้อย่างปกติ โดยร่างกายของเราสามารถผลิตคอเลสเตอรอลเองได้ ในขณะเดียวกันก็สามารถได้รับจากอาหารที่เรารับประทานด้วยเช่นกัน แต่เมื่อใดที่เรามีระดับคอเลสเตอรอลสูงและไขมันสูงเกินไป สามารถเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคร้ายแรงอื่น ๆ ตามมาเช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด เป็นต้น

แต่นอกจากไขมันดีและไขมันเลวแล้ว ยังมีไขมันตัวร้ายตัวสำคัญที่ชื่อ ไตรกลีเซอไรด์ อีกด้วย

 

ไขมันตัวร้ายที่ชื่อ ไตรกลีเซอไรด์

              โรงพยาบาลเปาโลให้ข้อมูลว่า ไตรกลีเซอไรด์ เป็นไขมันในร่างกายที่ใช้เป็นแหล่งพลังงานสำรอง ได้มาจากอาหารประเภทแป้ง น้ำตาล ไขมัน ถ้ามีจำนวนมาก ไตรเกลีเซอไรด์ก็จะไปสะสมตามเซลล์ หรือเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดได้เช่นกัน

 

รวมวิธีเพิ่มไขมันดีในร่างกาย

              อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ มีวิธีการเหล่านี้ช่วยเพิ่มระดับไขมันดีที่เราสามารถทำตามกันได้ กล่าวคือ

  1. ออกกำลังกายให้ได้ 150 นาทีต่อสัปดาห์
  2. เลือกทานอาหารเป็นแหล่งของกรดไขมันโอเมก้า 3 เช่น เนื้อปลา น้ำมันปลา น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันแฟล็กซีด
  3. ดูแลน้ำหนักตัวให้สมส่วนอยู่เสมอ หากน้ำหนักตัวเกินอยู่ให้ลดน้ำหนักแบบค่อยเป็นค่อยไป

 

รวมวิธีลดไขมันเลวและไตรกลีเซอไรด์ในร่างกาย

เมื่อเราเพิ่มไขมันดีในร่างกายแล้ว อย่าลืมลดไขมันเลวและเจ้าไตรเกลีเซอไรด์ด้วยนะ อ้างอิงข้อมูลจากโรงพยาบาลศิริราชเช่นกัน วิธีการลดไขมันเลวได้แก่

  1. ลดอาหารที่มีส่วนประกอบของไขมันทรานส์
  2. ลดหรือเลี่ยงอาหารที่เป็นเนื้อสัตว์ติดมัน เนื้อสัตว์แปรรูป น้ำมันจากสัตว์ เนย ถ้าต้องดื่มนม ให้เลือกแบบพร่องมันเนยหรือขาดมันเนยแทน
  3. ทานอาหารที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัว ไม่เกิน 1 อุ้งมือต่อวัน ยกตัวอย่างเช่น ถั่วลิสง อัลมอนด์หรือถั่วเปลือกแข็งชนิดอื่น ๆ และไม่ควรทานมากจนเกินไป
  4. ลดอาหารประเภทเบเกอรี่ ขนมกรุบกรอบ หรืออาหารฟาสต์ฟู้ดต่าง ๆ
  5. เลือกใช้น้ำมันพืชแทนน้ำมันสัตว์ในการประกอบอาหาร

นอกจากนี้การควบคุมอาหาร ควบคุมน้ำหนัก ออกกำลังกายเป็นประจำยังมีส่วนช่วยลดไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ได้ด้วย ในกรณีที่ใครจำเป็นต้องได้รับยาลดไขมัน ต้องรับประทานยาตามคำแนะนำของแพทย์ด้วยนะ

 

              เข้าใจแบบนี้แล้ว ก่อนที่เราจะต้องเป็นคนป่วย หรือไขมันในเลือดสูงกว่าปกติ จะดีกว่าไหมถ้าเราหันมาดูแลสุขภาพตัวเองในเรื่องพื้นฐาน เช่น เลือกทานอาหารที่ดี ออกกำลังกายเป็นประจำ คุมน้ำหนักตัว และพักผ่อนให้เพียงพอ และอย่าลืมหมั่นตรวจร่างกายเป็นประจำเพื่อตรวจเช็คความผิดปกติของร่างกายเป็นประจำด้วยนะ

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/line/34743/

https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/food-for-dyslipidemia

https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/1017050

https://primocare.com/%E0%B8%84%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%AA%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%A5-ldl-hdl-%E0%B9%84%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B5%E0%B9%80%E0%B8%8B%E0%B8%AD%E0%B9%84/

https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=519

https://www.thaihealth.or.th/%E0%B9%84%E0%B8%82%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%99-%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%B4-%E0%B8%94%E0%B8%B5/

https://www.paolohospital.com/th-TH/samut/Article/Details/HDL-%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0-LDL-%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%A3-

 

บทความ: MULA Learning
รูปประกอบ: MULA Learning 

  • แชร์