การค้นหาแบบครอบคลุมทั้งหมดยังไม่ได้เปิดใช้งาน
ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

Blog entry by Anuntapong Chuen-im

มีหนี้แล้วจะเก็บเงินสำรองฉุกเฉินได้จริงหรอ

หัวข้อวันนี้ของมูลาเหมือนจะเป็นปัญหาโลกแตกของใครหลาย ๆ คน ใคร ๆ ก็รู้ดีกว่าการใช้หนี้และการเก็บเงินต่างก็เป็นเรื่องสำคัญ เพื่อสุขภาพทางการเงินที่ดี แต่ว่าถ้าเรามีปัญหาทั้งเรื่องหนี้และยังไม่มีเงินเก็บสำรองฉุกเฉินแล้วล่ะก็ เราจะเลือกเอาทางไหน หรือเราทำทั้งสองไปพร้อม ๆ กัน บทความวันนี้มูลาขอเสนอไอเดียในการจัดการเงิน เพื่อให้เพื่อน ๆ มีแนวทางและนำไปปรับใช้กันได้นะ

 

เงินสำรองฉุกเฉินคืออะไร ต้องมีเท่าไหร่

หากเพื่อน ๆ เป็นแฟนคลับบทความของมูลา คงต้องเคยเห็นคำนี้แน่ ๆ มูลาจะขอทวนความเข้าใจแบบสั้น ๆ ก็แล้วกัน

อ้างอิงข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย เงินสำรองฉุกเฉินหรือเงินออมฉุกเฉิน เป็นเงินออมก้อนแรกที่ทุกคนควรมี เพื่อใช้ในเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน เช่น เจ็บป่วย ตกงาน หรือประสบอุบัติเหตุ ซึ่งต่างก็มีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น

คำถามถัดมาคือ คนเราควรมีเงินสำรองฉุกเฉินกันซักเท่าไหร่ ธนาคารแห่งประเทศไทยแนะนำว่า ควรมีเริ่มต้นที่ 3 - 6 เท่าต่อรายจ่ายจำเป็นและภาระหนี้ต่อเดือน เพื่อทำให้เรามั่นใจว่า แม้ไม่สามารถหารายได้ได้ ก็ยังมีเงินเพื่อค่าใช้จ่ายจำเป็นในชีวิตนั่นเอง ซึ่งเพื่อน ๆ สามารถออมเพิ่มได้มากกว่า 6 เท่า กรณีที่เรามีภาระมาก เช่น ต้องเลี้ยงดูครอบครัวหรือบุตรหลาน เป็นต้น

 

ไอเดียจัดการเงินไปพร้อม ๆ กัน

จากคำถามที่ถามไปตอนแรกว่า เราจะมีควรจะเลือกอะไรระหว่างจ่ายหนี้หรือเริ่มออมเงินสำรองฉุกเฉิน คำตอบในอุดมคติจริง ๆ คือ เราควรเลือกทำทั้ง 2 อย่างได้ อาจจะฟังดูท้าทายไปเสียหน่อย แต่อาจต้องเริ่มทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป และมีวิธีในการทำที่เหมาะสม ได้แก่

 

  1. ตั้งเป้าหมายเงินออมจากเล็ก ๆ และเป็นไปได้

ตอนนี้เรารู้แล้วว่า การมีเงินสำรองฉุกเฉินเป็นเรื่องจำเป็น เราก็ควรเริ่มต้นจากเป้าหมายที่ทำได้จริงก่อน ไม่จำเป็นว่าเราต้องตั้งเป้าว่า จะต้องออมเงินเกิน 6 เท่าทันที เริ่มตั้งเป้าว่าจะออมให้ได้ 3 เท่าของรายจ่ายจำเป็นต่อเดือนก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแล้ว

 

  1. ดูหนี้ที่มีทั้งหมด และเลือกวิธีการจัดการหนี้

ทีนี้กลับมาดูที่หนี้สินที่เรามีทั้งหมดว่าหนี้สินส่วนไหน จำนวนเงิน ดอกเบี้ยเท่าไหร่ เพื่อหาวิธีการในการจัดการหนี้ที่เหมาะสม ซึ่งการที่เรามาตรวจดูหนี้ที่เรามีในปัจจุบัน เราก็จะมีข้อมูลข่าวสารที่ครบถ้วนและรู้ได้ว่าวิธีการจัดการหนี้แบบไหนที่เหมาะสมกับเรา

ก่อนหน้านี้มูลามีแนะนำวิธีการจัดการหนี้แบบ 2 หิมะไป คือ แบบลูกบอลหิมะ (Snowball method) และแบบหิมะถล่ม (Avalanche method) ซึ่งเป็นวิธีการที่น่าสนใจที่เพื่อน ๆ เลือกปรับใช้ได้ โดยการจัดการหนี้แบบลูกบอลหิมะคือ การเลือกจัดการหนี้ก้อนที่เล็กที่สุดก่อนและจ่ายหนี้ก่อนใหญ่กว่าในจำนวนขั้นต่ำ ส่วนการจัดการหนี้แบบหิมะถล่มคือ การเลือกจัดการหนี้ที่มีดอกบี้ยสูงทีสุดก่อน เพื่อประหยัดดอกเบี้ยนั่นเอง

 

  1. ดูว่าแบ่งเงินเพื่อชำระหนี้และออมฉุกเฉินได้เท่าไหร่

ทีนี้มาดูกันว่า เราสามารถแบ่งเงินเพื่อชำระหนี้และออมได้เท่าไหร่ บางคนก็ใช้หลักการง่าย ๆ ว่าแบ่งครึ่งไปเลย เช่น หลังจากหักค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่อเดือนทั้งหมดแล้ว เหลือเงิน 2,000 บาท ก็แบ่งไปว่า จะใช้หนี้ 1,000 บาทและออมเพื่อฉุกเฉิน 1,000 บาท แบบนี้ก็ทำได้ ขึ้นอยู่กับว่าจำนวนเงินที่เราต้องใช้หนี้ตามที่เราวางแผนไว้เพียงพอหรือไม่

 

  1. ทำตามแผนที่ตั้งไว้อย่างต่อเนื่อง

เมื่อเรารู้แล้วว่าเราสามารถออมเพื่อสร้างเงินสำรองฉุกเฉินและจัดการหนี้สินได้เท่าไหร่แล้ว ก็ต้องทำตามเป้าหมายที่วางไว้ให้ได้ หากเราไม่สามารถทำตามได้ทั้งทางใดทางหนึ่ง ผลเสียก็อาจจะเกิดขึ้นกับตัวเราเอง เช่น หากเราไม่สามารถชำระหนี้ได้อย่างต่อเนื่อง เราก็อาจเสียประวัติทางการเงิน หรือหากเราไม่สามารถออมเพื่อกรณีฉุกเฉินได้เสียที การเงินโดยรวมของเราก็อาจจะอยู่ในความเสี่ยง

 

  1. หาตัวช่วยเพื่อทำให้การออมเงิน และการชำระหนี้ทำได้อย่างต่อเนื่อง

เช่น การทำบัญชีออมเงินเพื่อเงินสำรองฉุกเฉินโดยเฉพาะ หรือการกำหนดวันในปฏิทินว่าเป็นวันที่ต้องชำระหนี้ตามแผนที่วางไว้เดิม เหมือนเป็นการกำหนดให้เราทำตามแผนได้มากขึ้น

 

  1. อย่ากดดันตัวเองมากจนเกินไป

มูลาเข้าใจดีว่า ความพยายามในการจัดการเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งเป็นใครก็ตามที่มีภาระค่าใช้จ่ายอยู่มาก เราอาจจะเก็บเงินได้ไม่ตามเป้าหมายบ้าง หรือบางทีจ่ายหนี้ไม่ได้ตามแผนบ้าง แต่ก็อย่าเพิ่งท้อใจ และล้มเลิกแผนกลางทาง ค่อย ๆ ทำเท่าที่ทำได้ในทุก ๆ เดือน แม้ว่าอาจจะช้ากว่าที่วางแผน แต่ก็จะทำสำเร็จได้ในอนาคต นอกจากนี้ เป็นเรื่องปกติที่บางทีอาจมีเหตุการณ์ที่เราต้องใช้เงินก่อน ทำให้เราสะสมเงินไม่ได้ตามเป้าหมาย

 

คำถามที่ว่า เราควรเลือกทำอะไรก่อนระหว่างออมเงินสำรองฉุกเฉินกับใช้หนี้ เป็นคำถามสำคัญที่เพื่อน ๆ ควรเลือกตอบด้วยตัวเอง เพราะแต่ละคนมีภาระและความจำเป็นแตกต่างกัน คำแนะนำจากบทความวันนี้คือ การบาลานซ์ทำทั้งสองไปพร้อมกันด้วยกำลังที่มี เพื่อให้เรามีวินัยในการเงิน ทยอยปลดหนี้และในขณะเดียวกันก็ลดความเสี่ยงในกรณีที่เกิดเหตุเดือดร้อน มูลาขอเป็นกำลังใจให้เพื่อน ๆ ทำตามแผนการทางการเงินนี้ให้สำเร็จ แม้ว่าะจะเหนื่อยซักหน่อย แต่ผลลัพธ์ก็จะเป็นประโยชน์ต่อตัวเราเองทั้งสิ้น

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

https://www.cnbc.com/select/how-to-build-emergency-fund-while-in-debt/

https://www.discover.com/personal-loans/resources/consolidate-debt/successfully-payoff-debt-build-emergency-fund/

https://fundsforindividuals.fundsforngos.org/how-can-i-get-funds-as-an-individual/building-an-emergency-fund-while-paying-off-debt/

https://www.gsb.or.th/blogs/1452-2/

https://www.bot.or.th/th/research-and-publications/articles-and-publications/bot-magazine/Phrasiam-63-2/FinancialWisdom-SustainableShopping.html

 

บทความ: MULA Learning
รูปประกอบ: MULA Learning

  • แชร์