การค้นหาแบบครอบคลุมทั้งหมดยังไม่ได้เปิดใช้งาน
ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

Blog entry by 33dc3a9f-3429-40f0-8fc8-d04ea7cad623 Mula-X

มารู้จักกับ “เงินสำรองฉุกเฉิน” เรื่องสำคัญที่ถูกมองข้าม

มารู้จักกับ “เงินสำรองฉุกเฉิน” เรื่องสำคัญที่ถูกมองข้าม

เพื่อน ๆ หลายคนที่เริ่มสนใจหาความรู้เกี่ยวกับการเงินมักจะรู้กันดีอยู่แล้วว่า “การออมเงิน” นั้นสำคัญต่อการสร้างเนื้อสร้างตัวมากแค่ไหน เพราะนอกจากจะช่วยให้เรามีเงินก้อนเพื่อไปต่อยอดแล้ว ยังทำให้ได้ฝึกฝนวินัยทางการเงิน และไม่เผลอใช้จ่ายจนเกินตัวอีกด้วย

 
แต่ทว่าสิ่งที่มือใหม่อย่างเรา ๆ มักจะมองข้ามไปก็คือการมี “เงินสำรองฉุกเฉิน” นอกเหนือจากการออมเงินธรรมดาเอาไว้ด้วย แต่เอ๊ะ!? ไอ้เจ้าเงินสำรองฉุกเฉินที่ว่านี้สำคัญอย่างไร? ทำไมเราต้องมี? และมันต่างจากเงินออมทั่ว ๆ ไป หรือไม่? วันนี้เรามาหาคำตอบกัน

 
ทำไมเราต้องมีเงินสำรองฉุกเฉิน?
พื้นฐานแนวคิดของการมีเงินสำรองฉุกเฉินนั้นเกิดมาจากไอเดียที่ว่าชีวิตของเราทุก ๆ คนนั้น โดยปกติแล้วมักจะมี “เรื่องไม่คาดคิด” ผ่านเข้ามาเสมอ ไม่ว่าจะเป็นจากความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ ความไม่สงบทางการเมือง หรือแม้กระทั่งอุบัติเหตุ และภัยพิบัติรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งไอ้เจ้าเรื่องไม่นึกไม่ฝันที่ว่านี้ ถ้าเราโชคดีหน่อยก็อาจจะไม่ส่งผลกระทบร้ายแรงอะไร แต่หากเราโชคร้ายแล้วล่ะก็... มันอาจจะทำให้เรานั้นตกงานกะทันหัน และสูญเสียรายได้ที่แสนมั่นคงของเราไปในพริบตา

 
ซึ่งหากเรามามองกับเรื่องใกล้ ๆ ตัวของเราทุกคน ณ ปัจจุบันนี้ อย่าง “สถานการณ์โควิด-19” ก็จะถือเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดของเรื่องไม่คาดฝันที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนทุกเพศทุวัยแบบไม่มีข้อยกเว้น ซึ่งทำให้เราทุก ๆ คนต่างตกอยู่ในสถานการณ์อันแสนยากลำบากมาเป็นระยะเวลานานเลยทีเดียว ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเรื่องไม่พึงประสงค์เหล่านี้จะจบลงเมื่อใด

 
ฉะนั้นแล้วการเตรียมตัวรับมือเรื่องคาดการณ์ไม่ได้เหล่านี้จึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อไม่ให้เดือดเนื้อร้อนใจไปกันใหญ่ และทางออกที่นิยมมากในการใช้ช่วยประคองตัวให้ผ่านวันร้าย ๆ ไปได้อย่างดีเยี่ยมก็คือเงินสำรองฉุกเฉิน นั่นเอง

 

เงินสำรองฉุกเฉิน ต่างจากเงินออมหรือไม่?

แท้ที่จริงแล้วเงินสำรองฉุกเฉิน ก็คือเงินออมดี ๆ นี่แหละ โดยวัตถุประสงค์ของการเก็บเงินก้อนนี้ไม่ได้มีไว้เพื่อให้เกิดผลประโยชน์แบบออกดอกออกผล แต่เป็นการเก็บหอมรอมริบที่ชัดเจนเลยว่ามีไว้ใช้ “ยามจำเป็น”เท่านั้น ซึ่งคลอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหลายที่ผิดไปจากแผนที่เราวางไว้นั่นเอง


 

เราควรมีเงินสำรองฉุกเฉินเท่าไหร่กันแน่?

ก่อนที่เราจะไปนึกถึงว่าควรมีเงินสำรองฉุกเฉินเท่าไหร่ สิ่งที่เราต้องจำให้ขึ้นใจก็คือ เรื่องฉุกเฉินแต่ละเรื่องนั้นมีราคาที่ต้องจ่ายไม่เท่ากัน และนั่นทำให้คนที่จะตอบคำถามว่าควรมีเงินสำรองฉุกเฉินเท่าไหร่ได้ดีที่สุดก็คือตัวคุณนั่นเอง ซึ่งเราทุกคนนั้นสามารถเริ่มต้นสำรวจตัวเองได้ง่าย ๆ จากการทำบัญชีรายรับ – รายจ่าย แล้วสรุปรายจ่ายจำเป็นในแต่ละเดือน เพื่อหาค่าใช่จ่ายคงที่ (Fixed Cost) ต่อเดือนก่อน หลังจากนั้นก็ถือว่าหาสัดส่วนที่ลงตัวของการออมให้ตอบสนองกับ “ความเสี่ยง” ของอาชีพ ผ่านสูตร ง่าย ๆ ว่า


 

"จำนวนเงินสำรองฉุกเฉิน = ค่าใช้จ่ายรายเดือน x จำนวนเดือนความเสี่ยง"

 

ยกตัวอย่างเช่น ใน 1 เดือน มีค่าใช้จ่ายคงที่ ไม่ว่าจะเป็นค่าโทรศัพท์ ค่ากิน ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าใช้จ่ายลูก และค่าใช้จ่ายของใช้ส่วนตัวที่เดือนละ 12,000 บาท หลังจากนั้นเราก็ไปดูกันต่อว่าอาชีพที่เราใช้หาเลี้ยงปากท้องนั้นมีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด โดยส่วนใหญ่มันจะถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

1.       รับราชการ
 กลุ่มที่มีความเสี่ยงในการตกงานน้อยที่สุด เพราะฉะนั้นจำนวนเดือนความเสี่ยงนี่นิยมใช้ คือ 3 เดือน นั่นแปลว่าเราควรมีเงินเก็บฉุกเฉินจำนวน 12,000 x 3 เท่ากัน 36,000 บาท

 
2.       พนักงานบริษัท
 กลุ่มที่ 2 นี้มีความเสี่ยงตกงานมากขึ้นจากกลุ่มแรก ซึ่งต้องคิดค่าความเสี่ยงเป็น 6 เท่าของค่าใช้จ่ายคงที่ แปลว่าหากมีรายจ่ายเดือนละ 12,000 บาท เงินสำรองฉุกเฉินของคนกลุ่มนี้จะอยู่ที่ 72,000 บาท

 
3.      สายงานฟรีแลนซ์
กลุ่มอาชีพที่มีความเสี่ยงสูงที่สุด เพราะรายได้ไม่แน่นอน บางเดือนได้เยอะ บางเดือนได้น้อย บางเดือนไม่ได้เลย จึงต้องคิดค่าความเสี่ยงเป็นระยะเวลามากถึง 1 ปี หรือ 12 ของค่าใช้จ่าย ทำให้ผู้ที่มีรายจ่ายเดือนละ 12,000 บาท ต้องมีเงินเก็บฉุกเฉินในจำนวน 144,000 บาท นั่นเอง

 
แล้วเงินฉุกเฉินเหล่านี้ควรเก็บไว้ที่ไหน?

ถึงแม้เงินก้อนนี้จะขึ้นชื่อว่าเป็นเงินสำรองฉุกเฉิน และไม่มีได้ไว้เพื่อการลงทุนก็จริง แต่หากเก็บไว้ในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ดอกเบี้ยก็ดูจะต่ำจนเกินไป เพราะฉะนั้นแล้วสถานที่ที่เหมาะสมจะเก็บเงินเหล่านี้ควรจะเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีสภาพคล่องสูง ไม่ว่าจะเป็นเงินฝากออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูง ที่ฝากถอนได้ทุกวัน, บัญชีเงินฝากประจำระยะสั้น 3 - 6 เดือน หรือแม้แต่กองทุนรวมที่มีความเสี่ยงต่ำอย่าง กองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market) ก็แล้วแต่ละคนจะสะดวกเลย


 
สุดท้ายนี้เราก็อยากให้เพื่อน ๆ สบายใจได้ว่า เรื่อง “ปัญหาเรื่องเงิน” นั้นเป็นสิ่งที่ไม่ว่าใครก็ต้องเคยเจออย่างแน่นอน หากเพื่อ ๆ ยังไม่ได้เริ่มต้นวางแผนเหล่านี้ก็ยังไม่สายเกินไปแน่นอน ซึ่งเมื่อได้รู้แบบนี้ก็ถึงเวลาแล้วล่ะ ที่เราต้องเตรียมตัวรับมือเรื่องไม่คาดฝันไว้ล่วงหน้า รับรองได้เลยว่าเราจะสามารถผ่านพ้นเรื่องร้าย ๆ ไปได้อย่างไม่เจ็บตัว

 

 
บทความ: MULA Learning
รูปประกอบ: MULA Learning

 

 

 

รับมูลาคอยน์เลย

  • แชร์