
14
Julyเข้าสังคมแบบไม่เคอะเขิน ด้วยทักษะการพูดคุย
ในชีวิตประจำวัน นอกจากเราจะได้พบปะพูดคุยกับคนคุ้นเคย ครอบครัว เพื่อนร่วมงานแล้ว เรายังต้องพบปะผู้คนใหม่ ๆ ในสถานการณ์ต่าง ๆ ถ้าใครเป็นคนชอบเข้าสังคม ชอบพบปะคนใหม่ ๆ อยู่แล้ว การเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนั้นหรือสร้างความสัมพันธ์กับคนที่เพิ่งเคยรู้จักคงไม่ใช่เรื่องที่หนักหนาสาหัสอะไร แต่ใช่ว่าทุกคนจะมีความกล้า ความมั่นใจหรือคุยเก่งช่างเจรจา เพื่อน ๆ หลายคนคงรู้สึกเคอะเขินเมื่อต้องเริ่มทำความรู้จักกับคนใหม่ ๆ ไม่รู้ว่าจะพูดหรือคุยอะไรดี พูดแบบไหนไปก็กลัวว่าจะไม่สุภาพ หรือละลาบละล่วงคนอื่น
วันนี้มูลาจึงขอนำเทคนิคการพูดคุยที่เหมาะสมสำหรับการทำความรู้จักคนอื่น ๆ หรือการพูดคุยในสถานการณ์ที่เราอาจจะรู้สึกเคอะเขินมาฝากเพื่อน ๆ กันนะ ว่าแล้วไปดูกันเลย
ทำไมทักษะการพูดคุยจึงเป็นเรื่องสำคัญ
การพูดคุยเล็ก ๆ น้อย ๆ ชวนคนที่เราอาจจะยังไม่ได้รู้จักกันดีให้คุยอย่างไหลลื่นไม่ใช่ว่าเป็นการพูดคุยเพื่อความสนุกสนานเท่านั้น แต่การพูดคุยเล็ก ๆ น้อย ๆ นี้เป็นรากฐานของการสร้างและพัฒนาความสัมพันธ์กับบุคคลใหม่ ๆ นำมาซึ่งโอกาส การเรียนรู้ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน การที่เราเชี่ยวชาญการพูดคุยเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ยังเป็นการลดความกังวลที่เมื่อใดก็ตามที่เราต้องไปสถานที่หรือสถานการณ์ใหม่ ๆ ที่ไม่คุ้นชิน การชวยคุยที่เหมาะสมยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ผู้พูด ทำให้ผู้ฟังจำเราได้ และจดจำเราในภาพลักษณ์ที่ดี ที่จะเป็นประโยชน์ต่อไปสำหรับเราในอนาคต
เคล็ดลับการชวนคุย พูดคุยกับคนใหม่ ๆ
1. เริ่มต้นทักทายคู่สนทนาด้วยความเป็นมิตรและไม่เคอะเขิน
การที่เราเริ่มทักทายอย่างสุภาพ และเป็นตัวของตัวเองจะเป็นการสร้างภาพจำที่ดีให้แก่คู่สนทนา
2. หาจุดร่วมระหว่างเรากับคู่สนทนา
เมื่อเราได้เริ่มพุดคุย แนะนำตัวเองให้คู่สนทนาได้รู้จัก ลองฟังอย่างตั้งใจ ดูว่าเรามีจุดร่วมกับผู้ฟังตรงไหนบ้าง เช่น มีงานอดิเรกเหมือนกัน มีสายงานอาชีพเดียวกัน มีความฝันในเรื่องเดียวกัน การที่เราจะหาจุดร่วมระหว่างเรากับผู้ฟังได้ เราต้องฟังอย่างตั้งใจ ไม่ใช่แค่ฟังเพื่อโต้ตอบ หรือฟังผ่าน ๆ เท่านั้น
3. เลือกคำถามปลายเปิดกับคู่สนทนา
คำถามปลายเปิดคือคำถามที่ต้องการคำตอบแบบคำอธิบาย ไม่ใช่คำตอบแบบใช่หรือไม่ใช่ เพราะหากเรามัวแต่ถามคำถามที่ได้คำตอบใช่หรือไม่ใช่ เราก็ไม่มีวันได้เข้าใจ ทำความรู้จักคู่สนทนาได้จริง การถามคำถามปลายเปิดยังเปิดโอกาสให้เราได้พัก เพราะเราได้หยุดฟัง หาจุดร่วมหรือประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องมาพูดคุยได้อย่างไหลลื่น
4. ใช้ภาษากายที่เหมาะสม
แม้ว่าเราจะพูดชวนคุยได้ดีขนาดไหน แต่ท่าทางอากัปกิริยาเราดูไม่เป็นมิตรหรือไม่เต็มใจฟังก็เปล่าประโยชน์ เพราะคู่สนทนาจะประเมินเราจากท่าทางของเราด้วย เพื่อน ๆ ควรหลีกเลี่ยงท่าทางกอดอก หันข้าง ไม่สบตาผู้ฟัง หรือพยายามแตะเนื้อต้องตัวคู่สนทนา เพราะนั่นทำให้คู่สนทนารู้สึกไม่สบายใจ หรือสร้างความตะขิดตะขวงใจให้ผู้ฟังได้
5. ความสุภาพ ความเหมาะสมเป็นเรื่องสำคัญ
แม้ว่าเราจะพยายามเป็นมิตรกับคู่สนทนา ก็ใช่ว่าเราจะพูดคุยติดตลก หรือพูดในหัวข้อที่ละเอียดอ่อนได้เสมอไปขอให้ท่องในใจเสมอว่า สิ่งที่เราพูดออกไปจะเป็นภาพจำที่ผู้ฟังมีต่อเราไปตลอด เนื้อหาหรือภาษาท่าทางที่เหมาะสม สุภาพ ไม่ส่อเสียดหรือหยาบคายจึงเป็นหัวใจที่สำคัญในการพูดคุยกับคนใหม่ ๆ ในสถานการณ์ใหม่ ๆ ภาพจำไม่ใช่สิ่งที่เราจะแก้ไขได้ง่าย ๆ เพราะฉะนั้นคุยกันครั้งแรกควรระมัดระวังในหัวข้อนี้ให้ดี
ลิสต์คำถามต้องห้าม
แน่นอนว่าต้องมีคำถามหรือหัวข้อการสนทนาที่เราควรหลีกเลี่ยง การพูดคุยครั้งแรกอาจเป็นการสร้างความประทับใจ หรือทำลายโอกาสในการสานสัมพันธ์ต่อไปในอนาคตก็ได้ มูลาได้รวบรวมสิ่งที่ไม่ควรพูดมาให้ดังนี้
1. เรื่องการเงิน
หากเป็นการพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ทางด้านการเงิน เช่น การออม การลงทุน ก็ดูเป็นหัวข้อที่น่าสนใจและได้ประโยชน์ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เราชวนเพื่อนใหม่ไถ่ถามเรื่องการเงินส่วนตัว เช่น เงินเดือนเท่าไหร่ มีหนี้สินหรือไม่อย่างไร มีภาระทางการเงินอะไรหรือไม่ ก็ดูจะไม่ใช่หัวข้อบทสนทนาที่น่าเปิดประเด็นเท่าไหร่นัก ใช่ว่าทุกคนจะสะดวกใจเล่าสถานะทางการเงินให้คนอื่นฟังเสียที่ไหน นอกจากนี้ยังอาจเป็นการสร้างความลำบากใจให้คู่สนทนาหากเขาไม่ต้องการจะตอบด้วยนะ
2. เรื่องเพศ
แม้ว่าบ้านเราจะให้เสรีภาพ เปิดรับความแตกต่างหลากหลายในเรื่องเพศ ก็ใช่ว่าเราจำเป็นต้องรู้เรื่องดังกล่าวจากคู่สนทนา แน่นอนว่าอาจสร้างความกดดันหรือไม่พอใจแต่คู่สนทนา เพราะละลาบละล้วงมากเกินไป และอาจไม่ใช่เรื่องที่เราควรรู้
3. เรื่องการเมืองและศาสนา
การเมืองและศาสนาเป็นหัวข้อที่ละเอียดอ่อน เกินกว่าจะนำมาชวนคุยกับเพื่อนใหม่ เราต่างก็มีความเชื่อ ความชอบ และอุดมการณ์ในเรื่องเหล่านี้แตกต่างกันไป หากเราเผลอวิจารณ์อะไรไปและกระทบผู้ฟัง ความสัมพันธ์ในระยะยาวคงไม่เกิดแน่ ๆ ถ้าคิดว่าหากเป็นคอการเมืองเดียวกัน และมีความเชื่อเดียวกันและพูดคุยเรื่องนี้ได้สะดวกใจ ก็อาจจะไม่จริงเสมอไป เพราะบางคนอาจไม่พร้อมหรือไม่อยากให้สาธารณะรับรู้ความชอบหรือความเชื่อของตนเองก็เป็นไปได้ หัวข้อการเมืองและศาสนาจึงเป็นอีกหัวข้อต้องห้ามในการชวนคุยนั่นเอง
ทักษะการพุดคุยกับคนใหม่ ๆ ใช่ว่าจะมีได้ในข้ามคืน เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว เพื่อน ๆ ลองนำเทคนิคเหล่านี้ไปปรับใช้ และฝึกฝนให้เชี่ยวชาญ การพูดคุยเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้ดีอาจมีประโยชน์มากกว่าที่เราคิดก็ได้นะ
ขอบคุณข้อมูลจาก
https://www.themuse.com/advice/48-questions-thatll-make-awkward-small-talk-so-much-easier
https://www.verywellmind.com/small-talk-topics-3024421
บทความ: MULA Learning
รูปประกอบ: MULA Learning