การค้นหาแบบครอบคลุมทั้งหมดยังไม่ได้เปิดใช้งาน
ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

Blog entry by Anuntapong Chuen-im

ปฏิเสธอย่างไรไม่ให้รู้สึกผิด

เพราะเราทุกคนต่างต้องอยู่ร่วมกัน ทำงานด้วยกันหรือมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน เราก็อยากมั่นใจว่าเรามีความสัมพันธ์ที่ดี เอื้อเฟื้อช่วยเหลือและไม่ขัดแย้งกัน ความที่เราไม่อยากขัดแย้งกับคนอื่น หรือยอมทำตามอะไรที่คนอื่นขอมานั้นจึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ นานวันเข้า เราก็กลายเป็นคนที่ยอมรับทุกเรื่องทุกอย่างที่คนอื่นขอ ไม่กล้าปฏิเสธเรื่องบางเรื่องแม้ว่าเราจะรู้สึกไม่ดี หรือไม่สบายใจก็ตาม เพราะเราเห็นความสำคัญของความต้องการของคนอื่นมากกว่าตัวเอง

ถ้าดูผิวเผิน นี่อาจไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่ แต่ถ้าเราปล่อยปะละเลย ไม่เอาใจใส่ความต้องการของตนเอง ขอบเขตหรือพื้นที่ของเราในเรื่องต่าง ๆ ก็จะลดน้อยถอยลงไปเรื่อย ๆ ผลที่ตามมาคือเรื่องสุขภาพจิตของเรา อาจย่ำแย่ลง หรือเรารู้สึกหมดไฟ หมดกำลังใจได้เลยนะ เพราะฉะนั้นแล้วเราหันมาสร้างขอบเขตหรือขีดจำกัดของเราให้ชัดเจน ด้วยการกล้าปฏิเสธ ไม่ทำเรื่องที่ขัดแย้งกับหลักการที่เรายึดถือกันดีไหม วันนี้มูลามาบอกเล่าเรื่องวิธีการปฏิเสธอย่างมั่นใจ เพื่อให้เพื่อน ๆ ได้นำไปปรับใช้กันจริง ๆทำไมการสร้างขอบเขตให้ตัวเองถึงสำคัญ

            ขอบเขตของตัวเรานั้นเป็นเหมือนเส้นแบ่งที่บอกว่าเรื่องใดเรายอมรับได้และเรื่องใดที่ขัดแย้งกับตัวตนหรือหลักการของเรา เส้นแบ่งอันนี้เองจะเป็นเหมือนกำแพงปกป้องเวลา ความสนใจหรือสุขภาพกายใจของเราไม่ให้ถูกใช้ไปอย่างไม่ถูกต้อง ลองนึกว่า ถ้าเราไม่มีกำแพงอันนี้เลย ไม่ว่าจะมีใครมาขอให้เราช่วย ขอให้เราทำเรื่องอะไร ก็อาจยอมทำตามเพียงเพื่อตอบสนองความต้องการของคนอื่น จนไม่ได้นึกว่า การที่เรายอมรับทุกเรื่องเข้ามาจะส่งผลอะไรกับเราบ้าง เราเองก็มีภาระหน้าที่ ความรับผิดชอบอยู่ไม่น้อย การจะรับเรื่องอะไรเข้ามาในชีวิตจึงควรเป็นเรื่องที่เรายอมรับได้จริง ๆ และเราจะไม่ได้รู้สึกไม่สบายใจเมื่อทำสิ่งนั้นใช่ไหมล่ะ

            อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ papyrus-uk.org การที่เรามีขอบเขตในเรื่องต่าง ๆ อย่างชัดเจนนั้น มีประโยชน์มากมาย ได้แก่

  1. ปกป้องสุขภาพจิต อารมณ์ของเรา
  2. ป้องกันอาการหมดไฟ เมื่อทำงานหรือทำเรื่องต่าง ๆ มากเกินไป  
  3. เสริมสร้างความมั่นใจในตนเอง ทำให้เราเห็นความสำคัญของตนเองมากขึ้น
  4. ทักษะการสื่อสารกับคนรอบข้างดีขึ้น เพราะมีความกล้าในการสื่อสารเรื่องความต้องการของตนเอง
  5. ได้รับความเข้าใจ และการยอมรับจากคนรอบข้าง
  6. มีเวลาและพลังงานในการทำตามสิ่งที่ตนเองต้องการมากขึ้น

โดยหนึ่งในวิธีในการสร้างขอบเขตของตัวเองอย่างดีคือ การปฏิเสธผู้อื่น เมื่อจำเป็นหรือเมื่อขัดกับหลักการ ความต้องการของตนเองนั่นเอง

 

ขอบเขตเรื่องไหนบ้างที่เราควรมี

            ในชีวิตของเรามีหลายองค์ประกอบที่เราต้องดูแลและจัดการให้ดี มูลาขอแนะนำว่าเรื่องหลักต่อไปนี้ควรเป็นเรื่องพื้นฐานที่เราสร้างเส้นแบ่ง หรือขีดจำกัดอย่างชัดเจนเพื่อประโยชน์ของตัวเรา

1. วลา

เพราะเวลาของเรามีจำกัด เมื่อเรามีแผนจะทำอะไรที่สำคัญจำเป็นแล้ว เราไม่จำเป็นต้องยกเลิกหรือเลื่อนนัดเพียงเพื่อทำตามคำขอของใคร ดูให้ดีว่าอะไรที่สำคัญกว่า

2. อารมณ์ความรู้สึก

ความรู้สึกนึกคิดเป็นเรื่องสำคัญโดยตรงที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตของเรา อย่าปล่อยให้เรื่องไร้สาระที่ไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตเรา มาทำให้อารมณ์ของเราขุ่นมัว นึกเสมอว่าเราไม่จำเป็นต้องมีหน้าที่ในการทำให้คนอื่นรู้สึกดีเสมอไป

3. เงินทอง

เมื่อเงินทองเป็นของหายาก เราก็ควรจะมีเส้นแบ่งอย่างชัดเจนว่าเราต้องการจัดสรรเงินเพื่อความจำเป็นอะไร หลายครั้งที่อาจมีคนขอหยิบยืม เราก็ไม่จำเป็นต้องให้ทุกครั้งไปก็ได้

4. การทำงาน

เมื่อว่าการทำงานเป็นส่วนสำคัญของชีวิต แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะเอาพลังงานและเวลาทั้งหมดในชีวิตไปอยู่กับงานจนลืมเรื่องอื่น ๆ ที่สำคัญ เช่น สุขภาพหรือครอบครัวไปได้

 

เหตุการณ์แบบไหนที่เราควรปฏิเสธ

            หากถามว่าตอนไหนที่เราควรปฏิเสธ คำตอบก็คือมีหลากหลายสถานการณ์มาก ๆ ที่เราควรเลือกปฏิเสธเพื่อเคารพและรักษาพื้นที่ส่วนตัวของเรา เหตุการณ์หลัก ๆ ก็เช่น

  1. ปฏิเสธเมื่อคำขอนั้นไม่ตรงกับเป้าหมายของเรา
  2. ปฏิเสธเมื่อคำขอนั้นส่งผลกระทบแง่ลบกับสุขภาพกายหรือใจของเรา
  3. ปฏิเสธเมื่อคำขอเหล่านั้นขัดแย้งกับหลักการที่เรายึดถือ เช่น เราจะไม่ทำงานมากเกินไปจนละเลยเวลาของครอบครัว

 

ปฏิเสธได้อย่างมั่นใจ ไม่รู้สึกผิด

คำว่า “ ไม่” นั้นอาจเป็นเรื่องยากแสนยากสำหรับใครบางคน แต่ก็เป็นเรื่องที่ต้องฝึกให้ได้ เพื่อตัวเราเอง วิธีการปฏิเสธเพื่อรักษาพื้นที่ส่วนตัวของเรา ได้แก่

1. ปฏิเสธอย่างสุภาพ แต่ตรงประเด็น

ไม่ใช่ว่า เราจะบอกว่าไม่ ด้วยน้ำเสียงดุดันแข็งกร้าว แต่เราสามารถปฏิเสธอย่างสุภาพได้ เช่น ขอบคุณที่ชวนไปทานข้าว แต่ว่าฉันไปไม่ได้จริง ๆ

2. ทำให้อีกฝ่ายเห็นว่าเราเองก็มีตารางเวลาหรือความสำคัญอย่างอื่นในชีวิต

เช่น หากมีใครนัดแบบเร่งด่วน เราไม่ควรเลื่อนนัดที่เรามีอยู่แล้วเพื่อคำขอนี้ เราสามารถบอกได้ว่า ช่วงสัปดาห์นี้ตารางเราเต็มและไม่สามารถนัดใครได้เพิ่มอีก คราวหน้า ลองนัดมาล่วงหน้าได้ไหม เพื่อจะได้จัดสรรเวลาไว้ให้

3. เสนอทางเลือกหรือบุคคลอื่น ๆ ที่พอจะช่วยได้

เพราะเรื่องต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องมีเราเป็นคนแก้ปัญหาเสมอไป เราอาจปฏิเสธด้วยการบอกว่าเราไม่สามารถทำได้ แต่เราสามารถแนะนำคนอื่นหรือทางเลือกอื่น ๆ ที่พอจะช่วยผู้ที่ร้องขอเราก่อนได้

4. ใช้เวลาในการตัดสินใจ

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ตาม เราสามารถใช้เวลาในการตัดสินใจ ไม่จำเป็นต้องรีบตอบตกลงข้อเสนอใด อีกนัยหนึ่ง ผู้ที่ร้องขอจะได้เห็นว่าเรามีเรื่องสำคัญอื่น ๆ ที่เราต้องทำ ก่อนจะทำเรื่องที่ร้องขอ

 

แม้ว่า เราพูดว่า “ไม่” จะเป็นเรื่องยาก แต่เป็นเรื่องจำเป็นหากเราต้องการรักษาพื้นที่หรือขอบเขตของเรา ให้เราสามารถทำตามเป้าหมายหรือความสำคัญในชีวิตที่เรายึดถือ ขอให้เรานึกว่า ความรู้สึกหรือเรื่องสำคัญในชีวิตของเรานั้นไม่ได้สำคัญน้อยไปกว่าเรื่องของคนอื่นเลย และเรามีหน้าที่ในการรับผิดชอบชีวิตและภาระหน้าที่ของตัวเอง ใครก็ไม่สามารถช่วยเราได้ เพราะฉะนั้นเราควรเริ่มสร้างพื้นที่ของตนเองให้ได้ตั้งแต่วันนี้ และหันมาพูดว่า “ไม่” อย่างมั่นใจกันเถอะ

           

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

 

https://www.papyrus-uk.org/setting-boundaries/

https://www.forbes.com/sites/kwamechristian/2023/10/19/setting-boundaries-how-to-say-no-with-confidence/

https://psychcentral.com/blog/building-healthy-boundaries-14-different-ways-to-say-no#1

 

บทความ: MULA Learning
รูปประกอบ: MULA Learning

 

  • แชร์