5
Augustเตือนภัย มิจฉาชีพ AI หลอกคนได้แนบเนียนกว่าที่คิด
โลกเปลี่ยนแปลงไปเร็วขึ้นทุกวันก็ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ทันสมัยและช่วยให้เรามีชีวิตที่สะดวกสบายขึ้น ใคร ๆ ก็หันมาใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการทำงานหรือการใช้ชีวิต ใคร ๆ ที่ว่านั้นก็รวมถึงบรรดาพวกมิจฉาชีพ นักต้มตุ๋นรูปแบบต่าง ๆ ที่พัฒนาตัวเองไม่หยุดหย่อน เพื่อที่จะหลอกลวง และหาผลประโยชน์จากเราให้ได้มากที่สุดเช่นกัน เทคโนโลยีอย่างหนึ่งที่เป็นที่พูดถึงในปัจจุบันและสร้างผลกระทบต่อคนเราในทุกวงการก็คือ เทคโนโลยี AI (Artificial Intelligence) หรือที่ภาษาไทยเรียกว่า ปัญญาประดิษฐ์ ทำให้การหลอกลวงนั้นทำได้ง่ายและแสนจะแนบเนียน ถ้าไม่อยากตกหลุมพรางจากมิจฉาชีพเหล่านี้ มูลาได้รวมรวบรูปแบบการหลอกลวงโดยใช้ AI มาให้เพื่อน ๆ ได้รับทราบกัน ว่าแล้วไปตามอ่านกันเลย
AI คืออะไร
อ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) คือ เทคโนโลยีการสร้างเครื่องจักรให้มีคุณลักษณะทางด้านสติปัญญาและความฉลาดเหมือนมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็น การคิดได้แบบมนุษย์ การกระทำได้แบบมนุษย์ การคิดอย่างมีเหตุผล และการกระทำอย่างมีเหตุผล
ตอนนี้เอง AI ก็ได้เข้ามามีบทบาทในโลกการทำงานจริงในหลากหลายองค์กรมากขึ้น เช่น การโต้ตอบกับลูกค้าออนไลน์ การวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าที่แม่นยำมากยิ่งขึ้น การวินิจฉัยโรค งานบัญชี งานฝ่ายบุคคลหรืองานเอกสารต่าง ๆ AI ก็สามารถทำงานได้
รูปแบบยอดฮิตของมิจฉาชีพที่ใช้ AI
ด้วยความสามารถที่หลากหลายของเทคโนโลยี AI นี้ก็ได้เปิดช่องในบรรดามิจฉาชัพพัฒนาเครื่องมือและวิธีการหลอกลวงให้แนบเนียน และทำได้ครั้งละมาก ๆ โดยรูปแบบหลัก ๆ ที่พบในตอนนี้มีดังนี้
1.เลียนเสียงเป็นคนรู้จัก
อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ไทยรัฐ เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2567 นี้เอง มีข่าวมิจฉาชีพปลอมเสียงปลัดกระทรวงมหาดไทย ด้วยเทคโนโลยี AI เพื่อการปลอมเสียง และโทรเข้าไปยังนายอำเภอหนึ่งในจังหวัดระนอง มิจฉาชีพได้หลอกนายอำเภอว่าต้องการให้ช่วยโอนเงินค่าซื้อสินค้าในราคา 86,000 บาท แต่นายอำเภอก็ไม่ได้หลงเชื่อ จึงพยายามประวิงเวลา และพยายามจดบันทึกข้อความในบทสนทนาก่อนจะไปลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจ
ความน่ากลัวของเคสนี้คือ มิจฉาชีพไม่เพียงสามารถปลอมเสียงได้เหมือนจริงแล้ว มิจฉาชีพยังได้ติดต่อนายอำเภอท่านนี้ผ่านบัญชีไลน์ปลอมที่มีรูปและข้อมูลจริงของปลัดกระทรวง หลายครั้งที่ข้อมูลส่วนตัวของเรานั้นอยู่บนโลกออนไลน์และมิจฉาชีพสามารถค้นหาได้โดยง่าย พอมีเสียงพูดคุยที่เหมือนจริงอีก ก็ยิ่งมีโอกาสที่เรา ๆ จะถูกหลอกได้ง่ายขึ้นแน่นอน
อีกเคสปลอมเสียงที่เจอบ่อยคือ ปลอมเป็นญาติพี่น้อง คนสนิทโทรมาขอความช่วยเหลือจากเรา จนบางครั้งผู้เสียหายลนลาน ไม่ทันได้คิดและเสียรู้มิจฉาชีพนั่นเอง
2.สร้างตัวปลอมแบบเหมือนเด๊ะด้วยเทคโนโลยีดีปเฟค (Deepfake)
ดีปเฟคเป็นรูปแบบ AI อย่างหนึ่งที่ทำให้เราสามารถตัดต่อรูปภาพ คลิปวิดิโอได้สมจริง ทำให้รูปภาพของคนหนึ่งขยับปากตามอีกคนหนึ่งได้ วงการภาพยนตร์ก็ใช้เทคโนโลยีนี้ในการตัดต่อภาพนักแสดงให้สมจริงที่สุด
อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ TrueID เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2567 เช่นกัน มีข่าวกรณีมิจฉาชีพในเทคโนโลยีดีปเฟคปลอมเป็นผู้บริหารบริษัทระดับโลก และสามารถหลอกพนักงานให้โอนเงินไปให้ได้ถึง 200 ล้านเหรียญฮ่องกง หรือประมาณ 900 ล้านบาทไทย มิจฉาชีพกลุ่มนี้ปลอมเป็นผู้บริหารฝ่ายการเงินของบริษัท (CFO) ส่งอีเมลให้พนักงานโอนเงิน และใช้เทคโนโลยีดีปเฟคปลอมเป็นผู้บริหารคนดังกล่าวและพนักงานคนอื่นที่เหยื่อรู้จักในการประชุมออนไลน์ จนสุดท้ายเหยื่อคนนี้หลงเชื่อและได้โอนเงินจำนวนมหาศาลนี้ไปให้มิจฉาชีพ
3.ข้อความมือถือหรืออีเมลแบบมืออาชีพด้วย Generative AI
การส่งข้อความผ่านมือถือ (SMS) หรืออีเมลเพื่อการหลอกลวงนั้นเป็นรูปแบบที่เราเห็นได้ดาษดื่น แต่พอมีเทคโนโลยี Generative AI เข้ามา การจะเขียนอีเมล เขียนข้อความให้น่าเชื่อถือ ถูกต้องก็ไม่ใช่เรื่องยากใด ๆ เลย เพราะฉะนั้นแล้วหากเพื่อน ๆ ได้รับอีเมลหรือข้อความที่เกี่ยวข้องกับการเงิน การกรอกข้อมูลส่วนตัว อย่าผลีผลามทำตามนั้น ควรหาวิธีเช็คว่าเป็นอีเมลหรือข้อความจากหน่วยงานเหล่านั้นจริง ๆ หรือไม่ เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นนั่นเอง
4.แอบอัดเสียงของเรา เพื่อหลอกคนอื่นโดยใช้ AI
กรณีนี้แม้ว่าเราไม่ได้รับความเสียหายโดยตรง แต่ก็ควรจะระวังเอาไว้ เพราะคนที่จะเดือดร้อนอาจเป็นบุคคลรอบข้างของเราได้ เคสนี้เริ่มเป็นที่นิยม เพราะว่าเรา ๆ อาจจะคุ้นชินกับรูปแบบ 3 อย่างก่อนหน้านี้มากกว่านั่นเอง โดยมิจฉาชีพจะทำทีเป็นโทรมาหาเรา เมื่อเรารับสายแล้ว ไม่มีการพูดอะไรทั้งสิ้น เพื่อให้ผู้รับสายพูดอะไรออกมา แล้วจึงอัดเสียงเราเอาไว้ ไปหลอกลวงคนรอบข้างว่าเราต้องการใช้เงินเพราะเกิดเหตุต่าง ๆ หากถามว่า มิจฉาชีพจะหาชื่อของเราได้อย่างไร ก็ในโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ที่เราโพสข้อมูลรูปภาพนั่นแหละ พวกเขาก็สามามารถหาวิธีไปหลอกคนรอบข้างให้หลงเชื่อได้ง่าย ๆ เอาเป็นว่า เมื่อไหร่ที่รับสาย ลองรอให้ปลายสายพูดอะไรมาก่อนก็แล้วกัน อย่าเพิ่งพูดอะไรยาว ๆ เพราะไม่แน่ว่าอาจจะถูกพวกมิจฉาชีพอัดเสียงไว้ใช้ประโยชน์ก็ได้
วิธีป้องกันภัยจากมิจฉาชีพยุค AI
อ้างอิงข้อมูลเว็บไซต์ฟอบส์ ประเทศไทย (Forbes Thailand) ได้แนะนำวิธีการเบื้องต้นในการป้องกันตัวเองจากมิจฉาชีพที่ใช้เทคโนโลยี AI ไว้ดังนี้
1.ดูแลข้อมูลส่วนตัวในโลกออนไลน์
บางครั้งเราไม่จำเป็นต้องโพสทุกรูป ทุกสถานการณ์ หรือข้อมูลส่วนตัวที่อ่อนไหวในโซเชียลมีเดียหรืออินเตอร์เน็ตบ้างก็ได้ เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่า บรรดามิจฉาชีพจะสามารถหาข้อมูลที่ต้องการเจอหรือไม่ หรือไม่แน่ว่าอาจจะขโมยบัญชีผู้ใช้งานของเราไปทำเรื่องผิดกฎหมายก็เกิดขึ้นมาแล้ว
2.ทำบัญชีอออนไลน์ให้แข็งแกร่ง
ในปัจจุบัน โซเชียลมีเดียหลาย ๆ แอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์มีฟังก์ชันยืนยันตนแบบหลายขั้นตอน (Multi-factor authentication หรือ MFA) เราสามารถตั้งค่าเพิ่มเติมได้ หากมิจฉาชีพรู้รหัสผ่านก็ยังไม่สามารถเข้าไปใช้งานบัญชีของเราได้ทันที จนกว่าสามารถใส่รหัสเพิ่มเติมหรือเงื่อนไขการยืนยันตัวเองที่เราตั้งเอาไว้ได้
3.ทำโค้ดลับ ไว้ยืนยันตัวตนกับคนรอบข้าง
แม้ว่ามิจฉาชีพจะปลอมหน้า ปลอมเสียงให้เหมือนเรามากขนาดไหน แต่ก็ไม่มีทางรู้ความลับบางอย่างที่คนในครอบครัวเรารู้แน่ ๆ ลองเตี๊ยมกับคนรอบข้างดูว่าหากมีใครโทรมาและดูคล้ายจะเป็นมิจฉาชีพ ให้ลองถามโค้ดลับ หรือคำตอบที่มิจฉาชีพไม่สามารถหาได้จากโซเชียลมีเดียหรืออินเตอร์เน็ต หากตอบไม่ได้ นั่นหมายความว่าเรากำลังเจอกับมิจฉาชีพตัวเป็น ๆ แล้วล่ะ
แม้ว่าเดี๋ยวนี้จะมีรูปแบบมิจฉาชีพมากมายขนาดไหน แต่ถ้ามีสติ เช็คข้อมูลอย่างถี่ถ้วนและติดตามข่าวสารอย่างต่อเนื่องแล้วละก็ มูลาเชื่อว่าเพื่อน ๆ จะต้องปลอดภัยจากบรรดามิจฉาชีพพวกนี้แน่นอน
ขอบคุณข้อมูลจาก
https://www.depa.or.th/th/article-view/tech-series-artificial-intelligence-ai
https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/1102894
https://www.thairath.co.th/news/local/2760466
https://moneyweek.com/personal-finance/ai-scams-to-be-aware-of
https://www.thaipbs.or.th/now/content/219
https://www.thaipbs.or.th/now/content/449
https://www.vietnam.vn/th/3-chieu-tro-lua-dao-ai-can-canh-giac-trong-nam-2024/
https://news.trueid.net/detail/d8QbV2j6eAAw
https://www.sanook.com/money/806943/