9
Augustสอนลูกยังไงให้รู้จักเก็บออม
ความสำคัญของการมีความรู้ทางการเงิน โดยเฉพาะการรู้จักอดออมตั้งแต่เนิ่น ๆ นั้น จะช่วยให้ตัวเรารู้จักคุณค่าของเงินมากยิ่งขึ้น ซึ่งความคิดดังกล่าวจะทำให้เราใช้จ่ายด้วยความระมัดระวังโดยอัตโนมัติ แถมท้ายที่สุดเมื่อเราเรียนรู้เกี่ยวกับการออมเงินมากพอ เราทุกคนก็จะรู้จัก “การบริหารเงิน” ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แล้วทำให้เรามีโอกาสที่จะ “รวย” ได้เร็วขึ้นตามไปด้วย
แต่ทว่า... เรื่องที่หน้าเศร้าสำหรับสังคมบ้านเราก็คือ เรานั้นไม่ค่อยมองเห็นถึงความสำคัญของ “การออมเงิน” มากเท่าที่ควรจะเป็น โดยเรานั้นสามารถดูได้จากการที่ระบบการศึกษาของบ้านเรานั้นแทบจะไม่มีวิชาเกี่ยวกับเงิน ๆ ทอง ๆ สำหรับเด็ก ๆ เลยก็ว่าได้ ซึ่งอันที่จริงการจะหาเรียนวิชานี้สำหรับวัยรุ่น หรือแม้แต่วัยทำงานเองก็ยากไม่แพ้กัน เพราะตามปกติแล้วกว่าเราจะได้เริ่มต้นเรียนเรื่องนี้กันอย่างจริง ๆ จัง ๆ ก็ต้องถึงตอนเข้ามหาวิทยาลัยกันเลยทีเดียวเชียวแหละ มิหนำซ้ำ บางคณะ หรือบางสาขาในมหาวิทยาลัย อาจจะไม่มีสอนเรื่องการเก็บ หรือการออมเงินเสียด้วยซ้ำ ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้ว ความรู้ทางการเงินนั้นจะเป็นหนึ่งในศาสตร์ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลเลยก็ว่าได้
แต่เดี๋ยวก่อน... เพื่อน ๆ อย่าเพิ่งกังวลใจแต่อย่างใด เพราะถึงแม้เราอาจจะไม่ได้เรียนเรื่องดังกล่าวนี้ผ่านโรงเรียน แต่ในปัจจุบันเรานั้นก็สามารถหาความรู้ทางการเงินเหล่านี้ได้เพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัส แถมเรายังสามารถนำสิ่งต่าง ๆ ที่เราเรียนรู้ด้วยตัวเอง มาถ่ายทอดให้กับลูกน้อยของเราโดยไม่ต้องรอให้ระบบการศึกษาของบ้านเราเปลี่ยนแปลงอีกด้วย ซึ่งวันนี้มูล่าได้รวบรวมสิ่งที่เพื่อน ๆ ควรสอนเจ้าตัวเล็กแบบคร่าว ๆ มาให้ทุก ๆ คนเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ก็เพื่อให้เป็นใบเบิกทางให้เด็กรุ่นใหม่มีวินัยทางการเงิน รู้จักอด รู้จักออม และเข้าใกล้โอกาสของการมีเงินถุงเงินถังในอนาคตข้างหน้านั่นเอง
ถ้าเพื่อน ๆ พร้อมจะรู้จักเทคนิคการสอนลูกยังไงให้รู้จักเก็บออมแบบเห็นผลแล้วล่ะก็... ไปดูกันได้เลย!
สิ่งสำคัญที่ควรรู้ก่อนจะสอนลูก ๆ ให้รู้จักการออม?
ก่อนที่เราจะมุ่งเป้าไปยังวิธีการสอนลูกน้อยให้เก็บออมได้แบบมือโปร เราควรเริ่มจาก การสร้างนิสัยในการออม ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายแน่ๆ เพราะสำหรับผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ บางคนยังมองว่าเรื่องนี้นั้นเป็น “งานยาก” เลยเสียด้วยซ้ำ ดังนั้นหากเราลองมองเรื่องนี้ในมุมมองเด็ก ๆ ซึ่งอยู่ในวัยที่โฟกัสไปที่ความสนุกสนานเป็นสำคัญดูบ้างแล้วล่ะก็... การต้องมานั่งอด นั่งออมคงเป็นเรื่องน่าเบื่อไม่ใช่น้อย
เพราะฉะนั้น หากเรากำลังพยายามสอนสิ่งที่ยากเกินตัวให้แก่ลูกน้อยโดยใช้การ “บีบบังคับ” แล้วล่ะก็ นั่นจะทำให้ทุกอย่างยิ่งแย่เข้าไปใหญ่ ท้ายที่สุดอาจจะทำให้เขาไม่ชอบเรื่องการเงินไปโดยปริยายเลยก็เป็นได้ ซึ่งเมื่อเพื่อน ๆ เข้าใจความละเอียดอ่อนตรงนี้แล้ว ก็จะทำให้การสอนลูกให้รู้จักเก็บออม ง่ายขึ้นกว่าแต่ก่อนหลายเท่าตัวเลยทีเดียวเชียว
7 เทคนิคง่าย ๆ สอนลูกให้รักการออม
หลังจากเพื่อน ๆ ได้รู้ “ข้อควรระวัง” ในการสอนลูกน้อยเรื่องการออมแล้ว ตอนนี้ก็ถึงเวลาที่เราจะมารู้จักกับสุดยอดเทคนิค 7 ข้อ ที่มูล่าได้รวบรวมมาไว้ ซึ่งบอกได้เลยว่าเพื่อน ๆ ไม่จำเป็นต้องใช้ทุก ๆ เทคนิคก็ได้นะ เพียงแค่เลือกวิธีการที่เหมาะสมไปถ่ายทอดให้ลูกน้อยของเราแค่ 2 – 3 วิธี ก็ถือว่าดีเยี่ยมแล้ว โดยเทคนิคเหล่านี้จะมีอะไรบ้าง ไปดูกัน!
เทคนิคที่ 1 : สอนให้ลูกรู้ว่า... “เงินมาจากไหน”
โดยปกติแล้วลูกน้อยของเรานั้นจะไม่มีทางเข้าใจแม้แต่น้อยเลยว่า เงินที่เขาได้ใช้ในชีวิตประจำวันนั้น มันมีที่มาจากอะไร ได้มาอย่างยากลำบากแค่ไหน หากผู้เป็นพ่อ เป็นแม่ อย่างเรา ๆ ไม่ได้พูด หรืออธิบายให้เขาเข้าใจ ซึ่งกว่าพวกเขาจะรู้ได้เองก็คงต้องโตประมาณหนึ่งเลยทีเดียว ซึ่งนั่นอาจจะ “สาย” เกินไป ในการปลูกฝังนิสัยของการอดออม
ดังนั้นวิธีการง่าย ๆ ที่จะเริ่มปลูกฝังถึง “คุณค่า” ของเงินที่ดีที่สุด ก็คือการเล่าให้ลูกของเราฟังถึงเหตุผลที่คุณไปทำงานในแต่ละวัน สอนให้ลูกรู้จักว่า “การหารายได้” นั้นหมายถึงอะไร กว่าจะได้เงินมานั้นต้องทำอะไรบ้าง และทำไมเราถึงต้องหาเงินเพื่อเอามาใช้จ่ายสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เพียงเท่านี้เจ้าตัวเล็กก็จะรู้ถึงที่มาที่ไปของเงินแบบชัดเจน รู้ว่าผู้ปกครองอย่างเรา ๆ ลงทุน ลงแรงมากมายเพื่อปากท้องของครอบครัว ซึ่งเป็นการจุดประกายความสนใจของพวกเขาให้หันมาประหยัด มัธยัสถ์ ได้ดีเลยทีเดียว
เทคนิคที่ 2 : ให้ลูกมี “กระเป๋าเงิน” ของตัวเอง
การปล่อยให้เจ้าตัวน้อยได้ใช้เงินของตัวเองเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการทำให้เขารู้จักอดออม ซึ่งเรื่องนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากเพื่อน ๆ ไม่ยอมแยกกระเป๋าสตางค์กับลูก ๆ ดังนั้นเราต้องรู้จักให้เขามีเงินของเขาเองผ่านการให้ “ค่าขนม” และปล่อยให้เขาได้ใช้มันได้อย่างอิสระ นั่นเอง
ยกตัวอย่างเช่น เราต้องให้ค่าขนมลูก ๆ แบบ “จำกัด” พูดง่าย ๆ ก็คือ หมดแล้วห้ามขอเพิ่มโดยเด็ดขาดยังไงล่ะ! นอกจากนี้การให้ค่าขนมลูก ๆ เป็น “รายอาทิตย์” เองก็จะถือเป็นระยะเวลาที่เหมาะสมที่สุด เพราะหากเขาไม่เก็บเงินที่ได้มาอย่างดี และใช้เงินที่ได้จดหมดตั้งแต่ต้นอาทิตย์แล้วล่ะก็... เขาก็จะได้รับบทเรียนสำคัญเลยทีเดียวเชียว
แต่เดี๋ยวก่อน! ใช่ว่าเมื่อลูกหมดเงินแล้วเราจะต้องใจร้ายใจดำ ไม่ให้เขาเพิ่มแต่อย่างใดเลยนะ เพราะแท้ที่จริงเรายังสอนให้ลูกรู้จักคุณค่าของเงิน ได้ด้วยการให้ “เงินพิเศษ” กับเจ้าตัวน้อยเมื่อเขาทำงานบ้าน หรือทำเรื่องบางเรื่องที่เรามอบหมายได้สำเร็จ เป็นต้น
เทคนิคที่ 3 : สอนลูกทำบันทึกรายรับ – รายจ่าย
แม้การทำบันทึกรายรับ – รายจ่าย จะถือเป็นความรู้ขั้นพื้นฐานของการออมเงินเลย แต่เทคนิคดังกล่าวถือเป็นหัวใจสำคัญของการออมเงินเลยก็ว่าได้ เพราะนอกจากจะเป็นการฝึกวินัย และความอดทนอดกลั้นแล้ว คุณลูก ๆ ก็ยังจะเข้าใจแนวทางการทำบัญชีขั้นพื้นฐาน และการบริหารแบบเบื้องอีกด้วย ปังเว่อร์
โดยสิ่งที่คุณพ่อ คุณแม่อย่างเราควรทำก็คือการซื้อสมุดบันทึกเล่มเล็ก ๆ ไว้ให้ลูก เพื่อให้เขานั้นทำการบันทึกทุก ๆ ครั้งที่รับเงิน หรือ ใช้จ่ายอะไรไป ให้เป็นนิสัย และมีการตรวจเช็คกันทุกสัปดาห์ พร้อมทั้งอธิบายเหตุผลให้ลูกเข้าใจว่าการใช้เงินของคุณลูกนั้นเป็นอย่างไร ซึ่งทางที่ดีเราขอแนะนำให้คุณพ่อ คุณแม่เองก็ทำบันทึกนี้ควบคู่ไปกับลูก ๆ เลยนะ เขาจะได้รู้สึกเห็นถึงประโยชน์ของมันมากยิ่งขึ้น และถ้าคุณลูกทำได้อย่างสม่ำเสมอ ก็ต้องมีการให้รางวัลกันบ้าง ห้ามลืมตรงจุดนี้เชียวนะ!
เทคนิคที่ 4 : หัดให้ลูกรู้จักการออมด้วย “ของเล่น”
แม้จะมีการทำบันทึกรายรับ – รายจ่าย แล้ว แต่เรี่องดังกล่าวนั้นเป็นเพียงความรู้พื้นฐานเท่านั้น ซึ่งในบางครั้งมันยังไม่เป็นแรงจูงใจที่ดีพอที่จะทำให้คุณลูกยอมอดออมเงินอย่างแน่นอน ฉะนั้นแล้วเราจึงต้องสร้างแรงจูงใจให้ลูกน้อยด้วยของเล่นชิ้นโปรด นั่นเอง ซึ่งนอกจากเขาจะได้สิ่งที่เขาอยากได้แล้ว การที่ของเล่นชิ้นนั้นได้มาจากการอดออมของเจ้าตัวเล็ก ยังช่วยปลูกฝังให้ลูกน้อยของเรานั้นเห็นคุณค่าของเงินที่จ่ายไป รวมถึงคุณค่าของสิ่งที่เขาซื้อมาได้อีกด้วยนะ ประโยชน์หลายเด้งเลย
โดยเราสามารถช่วยเหลือและกระตุ้นให้ลูกน้อยมีความสุขกับการออมเงินได้ จากการที่แบ่งเงินออมไว้ขั้นต่ำให้ลูกน้อยจากค่าขนมที่เขาได้ และอาจจะเสริมแรงจูงใจโดยให้ข้อเสนอว่า หากในแต่ละสัปดาห์ลูกมีเงินเหลือเก็บเท่าไหร่ คุณพ่อ คุณแม่ก็จะทบเงินเพิ่มอีก 1 เท่าตัวไปเลย! ใครได้ยินก็ต้องร้องว้าว
เทคนิคที่ 5 : สอนให้ลูกรู้จักการแบ่งปัน
ประโยชน์จากการออมเงินนั้นไม่ใช่เกี่ยวกับแค่ว่าเราจะเป็นคน “ได้” อยู่ฝ่ายเดียว เพราะบางครั้งการมีน้ำใจเล็ก ๆ น้อย ๆ แบ่งสินทรัพย์ หรือสิ่งของที่เราเก็บหอมรอมริบไว้ให้แก่ผู้อื่น นั้นสามารถสร้างทั้งความรู้สึกที่ดี แถมยังช่วยกระตุ้นให้เราอยากอดออมได้อีกเช่นกัน
โดยเพื่อน ๆ สามารถสอนให้ลูก ๆ หัดบริจาคสิ่งของที่มี ไม่ว่าจะ การแบ่งเงินไปทำบุญ หรือนำเสื้อผ้า และของใช้ ที่ลูกไม่ใช้แล้วแต่ยังใช้ได้อยู่ บริจาคให้กับเด็กกำพร้า และเด็กที่ด้อยโอกาส เมื่อคุณลูกทำสิ่งเหล่าเป็นประจำ เขาก็จะกลายเป็นคนมีน้ำใจ รู้จักการแบ่งปัน แถมยังรู้จักคุณค่าของสิ่งของทั้งหลายอีกด้วย
เทคนิคที่ 6 : สอนให้ลูกรู้จักผลิตภัณฑ์การเงิน
แม้การออมจะช่วยให้เรามีเงินถุง เงินถังก็จริง แต่ท้ายที่สุดแล้วหากเรามัวแต่ออมอย่างเดียว และไม่มีการหาเงินเพิ่มเติม กว่าจะรวยคงใช้เวลานานพอดูเลยใช่ไหมล่ะ แต่เรื่องแบบนี้จะไม่เกิดขึ้นหากเราเริ่มสอนลูกน้อยให้รู้จักการเพิ่มเงินในกระเป๋าที่มากกว่าการออมตั้งแต่วัยเยาว์ โดยอธิบายให้เขาเข้าใจอย่างช้า ๆ ถึงผลิตภัณฑ์การเงินแบบต่าง ๆ เริ่มจากระดับง่ายไปยาก ไม่ว่าจะเป็นบัญชีฝากประจำ กองทุนรวมตราสารทุน กองทุนรวมต่างประเทศ และหุ้น เป็นต้น ซึ่งคุณลูกก็จะรู้สึกคุ้นชินกับสิ่งเหล่านี้ และพอเขาเติบโตไป เขาก็จะสามารถตัดสินใจลงทุนได้เหมาะสมกับตัวเองมากขึ้นกว่าเรานั่นเอง
เทคนิคที่ 7 : เป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ลูก ๆ
สิ่งที่สำคัญพอ ๆ กับบทเรียนที่คุณจะสอนลูก ๆ เกี่ยวกับเงิน ก็คือวิธีที่ตัวเพื่อน ๆ เองนั้นจัดการเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆเมื่อคุณอยู่ใกล้พวกเขา นั่นเอง ยกตัวอย่างเช่น หากคุณเอาแต่บ่นว่า “เงินไม่พอใช้” หรือแม้แต่ CF ของเป็นประจำจนลูกชินตา พวกเขาก็จะติดนิสัยเหล่านี้ของคุณไปได้โดยไม่รู้ตัว
ดังนั้นถ้าเพื่อน ๆ อยากให้ลูกน้อยอดออมจนเป็นนิสัยแล้วล่ะก็... เราก็ต้องทำให้แน่ใจว่าเราแสดงออกพฤติกรรมเกี่ยวกับเงินได้ดีไม่แพ้กับสิ่งที่เราพร่ำสอนพวกเขา ทำให้พวกเขาเห็นว่าคุณใช้จ่ายเงินอย่างชาญฉลาด และมีการอดออมที่หลากหลาย นั่นเอง ไม่ยากเลยใช่ไหมล่ะ?
ท้ายที่สุดนี้ มูล่าก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความดังกล่าวนี้จะเป็นประโยชน์ให้เพื่อน ๆ เห็นถึงความสำคัญของการสอนลูกเรื่องการออมเงินมากยิ่งขึ้น โดยเราขอรับรองได้เลยว่าถ้าเพื่อน ๆ หยิบยกวิธีเหล่านี้ไปใช้กับลูกน้อยอย่างต่อเนื่องแล้วล่ะก็... อนาคตทางการเงินของคุณลูกจะสดใสอย่างแน่นอน
บทความ: MULA Learning