Global searching is not enabled.
Skip to main content

Blog entry by Anuntapong Chuen-im

Kakeibo สุดยอดศาสตร์การเก็บเงินแดนอาทิตย์อุทัย

แม้หลายๆ คนอาจจะไม่รู้ แต่แท้ที่จริงแล้วคนญี่ปุ่นนั้นออมเงินเก่งมากกกกก (ก. ไก่ ล้านตัว) แล้วสิ่งที่เป็นเคล็ด (ไม่) ลับที่อยู่เบื้องหลังการออมเงินของทุกครัวเรือนนั้น กำเนิดขึ้นครั้งแรกเมื่อย้อนกลับไปในปี ค.ศ. 1904 เชียวนะ แต่ศาสตร์ดังกล่าวกลับยังคงมีความนิยมมาจนถึงทุกวันนี้

 

เริ่มน่าสนใจแล้วล่ะสิ เราขอแนะนำเลยว่าไม่ว่าจะเป็นมือใหม่หัดเก็บเงิน หรือคนที่เก็บมาสักพัก หากอยากเพิ่มเติมอีกวิธีที่ทั้งได้ผลและเป็นที่แพร่หลาย ก็ควรรู้จักเทคนิคสุดเจ๋งสายเลือดซามูไรอย่างเจ้า Kakeibo ตัวนี้ไว้ รับรองเห็นผลทันตา

 

ถ้าอยากรู้แล้วล่ะก็ ไปดูกันได้เลย!

 

“Kakeibo” คืออะไร?

คำว่า Kakeibo นั้นอ่านว่า “คะเคโบะ” ซึ่งเป็นภาษาญี่ปุ่นที่มีความหมายว่า “สมุดบัญชีครัวเรือน” ซึ่งยังคงเป็นวิธีอันแสนยอดนิยมของแม่บ้านญี่ปุ่นในการจดบันทึกรายรับรายจ่าย แม้ว่าในยุค 5G นี้จะมีแอปพลิเคชัน หรือโปรแกรมจัดการเงินมากมาย แต่เจ้าคะเคโบะนั้นก็ยังอยู่คู่ครัวเรือนญี่ปุ่นมานานกว่า 100 ปีแล้ว โดยภายในเล่มสมุดบัญชีจะมีช่องให้เขียนเป็นหมวดหมู่ต่างๆ แถมยังมีหน้าสรุปเพื่อวิเคราะห์สภาพการเงินในแต่ละเดือน และมีหน้าสรุปรวม 1 ปีด้วย ทำให้เราสามารถวางแผนการเงินในบ้านได้ง่ายและมีประสิทธิภาพ

 

นอกจากเรื่องการเงิน เจ้าสมุดสุดเจ๋งเล่มนี้ยังมีข้อมูลเบื้องต้นที่ควรรู้ เช่น ข้อมูลทางสุขภาพ ข้อมูลทางโภชนาการ ความรู้เรื่องมารยาท วันสำคัญของญี่ปุ่น และยังเป็นปฏิทินได้อีกด้วย

 

ปรัชญาของ ‘Kakeibo’

ก่อนที่เราจะไปรู้กันว่าจะสามารถเก็บเงินแบบคะเคโบะ ก็ต้องมาเข้าใจถึง “หัวใจสำคัญ” ที่ทำให้การเก็บเงินแดนปลาดิบชนิดนี้นั้นแตกต่าง และโดดเด่นจากการออมเงินด้วยวิธีอื่น ซึ่งก็คือสิ่งที่เรียกว่าปรัชญาของ Kakeibo

 

การยึดถือปรัชญาสายเลือดซามูไรนี้ คือตัวเรานั้นก่อนที่จะซื้อของ ไม่ว่าจะเป็นของอะไรก็ตาม ต้องตอบคำถามแต่ละข้อก่อนซื้อทุกครั้ง โดยแต่ละคำถามของปรัชญานี้จะเน้นให้เราได้พูดคุยกับตัวเองทุกครั้งก่อนเลือกซื้อของสักชิ้นว่า เราซื้อสิ่งนี้เพราะจำเป็น หรือซื้อเพียงเพราะอยากได้กันแน่

 

โดยคำถามเหล่านั้นมีดังนี้

  • เราอยู่ได้โดยไม่มีของชิ้นนี้ได้หรือไม่?
  • เรามีเงินเพียงพอที่จะซื้อมันจริงๆ หรือ?
  • เราจะได้ใช้สิ่งนี้จริงๆ ใช่ไหม?
  • ที่บ้านมีพื้นที่พอสำหรับมันรึเปล่า?
  • เราเจอสินค้าชิ้นนี้ได้อย่างไร? บางทีอาจจะเห็นบ่อยจนหลงคิดว่าอยากได้ไปเอง
  • อารมณ์ของเราเป็นแบบไหนกันนะในวันนี้?
    ถ้าเครียดเกินไป ก็ควรจัดการกับอารมณ์ของตัวเองก่อนซื้อของ
  • ท้ายที่สุด เรารู้สึกอย่างไรเมื่อซื้อมาแล้ว? ถ้าซื้อแล้วทุกข์เพราะเงินหมด ก็อย่าซื้อจะดีที่สุด

 

จะเห็นได้ว่า การออมเงินแบบ Kakeibo ไม่ใช่การไม่ซื้อของทุกๆ ชิ้นที่เราอยากได้ หากแต่ให้เรามีโอกาสได้ทบทวนตัวเองเพิ่มขึ้นอีกหลายขั้นสักหน่อย จากเดิมที่เห็นของแล้วโดนใจ ก็จะซื้อในทันที แต่ตอนนี้ต้องมีเวลาไว้ฉุกคิดก่อนการใช้จ่ายแต่ละครั้งเสียหน่อย ซึ่งทำให้เราไม่ตามใจตัวเองมากเกินไปเท่านั้นเอง

 

วิธีเก็บเงินแบบ ‘Kakeibo’

แม้จะฟังดูยาก แต่แท้ที่จริงแล้วหลักการของ Kakeibo ก็เหมือนกับการจดบันทึกรายรับรายจ่ายทั่วไป เพื่อหาความสัมพันธ์ว่าใช้จ่ายเงินพอดีกับรายรับที่เข้ามาหรือไม่ แต่ส่วนที่ทำให้มันโดดเด่นนอกจากปรัชญาแล้วก็คือหัวข้อ และขั้นตอนในการติดตามผลต่างหากล่ะ โดยจะชี้ให้คุณเห็นถึง “รายจ่ายฟุ่มเฟือย” และทำให้คุณมีความสามารถในการตัดมันออกไป ซึ่งสามารถสรุปได้เป็น 6 ขั้นตอนดังนี้

ขั้นที่ 1: ลงมือจดบันทึกรายรับของเรา ทุกๆ ต้นเดือน ซึ่งเป็นการสร้างวินัยให้กับตัวเองตั้งแต่วันแรกของเดือนเลยทีเดียว ที่สำคัญคือไม่ว่าคุณจะมีรายได้กี่ทาง ก็ต้องสรุปให้ครบนะ

 

ขั้นที่ 2: แยกรายจ่ายประจำก้อนโตออกมา ไม่ว่าจะค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเน็ต หรือแม้แต่ค่างวดต่างๆ เพื่อให้สามารถชำระสิ่งจำเป็นเหล่านี้ได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง

 

ขั้นที่ 3: นำเงินที่เหลือจากการหักรายจ่ายประจำมาวางแผนต่อ โดยจุดสำคัญที่ทำให้ Kakeibo นั้นได้ผลดีอย่างมากคือแบ่งการใช้จ่ายออกเป็นหมวดหมู่โดยละเอียด ไม่ว่าจะเป็นค่าเดินทาง ค่าของใช้ในบ้าน ค่าเสื้อผ้า ค่าใช้จ่ายสำหรับลูก ค่ารักษาพยาบาล ค่าอาหาร (ของสดปรุงเอง) ค่าอาหารเวลาไปทานนอกบ้าน ค่าใช้จ่ายเพื่อความบันเทิง หรือค่าใช้จ่ายพิเศษอื่นๆ เป็นต้น และที่สำคัญต้องมีส่วนที่แบ่งไว้สำหรับเงินออมด้วยนะ

 

ขั้นที่ 4: เขียนเป้าหมายชัดเจนในการจัดการแต่ละหมวดหมู่ที่แบ่งเอาไว้ข้างต้น ยกตัวอย่างเช่น เดือนนี้ คุณมีเป้าหมายลดค่าใช้จ่ายสำหรับเครื่องสำอาง วิธีการคือ เดือนนี้คุณก็ต้องซื้อมันลดลงให้ได้ตามที่ตั้งใจ

 

ขั้นที่ 5: สรุปรายจ่าย และประเมินคะแนนให้ตัวเองเพื่อการพัฒนาในเดือนต่อๆ ไป ทุกครั้งเมื่อสิ้นเดือน เพื่อดูว่าในเดือนๆ นั้น คุณมีการใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือย หรือใช้จ่ายเกินวงเงินไปหรือไม่ ทำตามแผนได้ดีแค่ไหน เพื่อนำมา วางเป้าหมายและวิธีการใหม่สำหรับเดือนถัดไปนั่นเอง

 

ท้ายที่สุดนี้ ทางมูลาอยากจะฝากว่า แม้คุณจะรู้วิธีการในการบริหารจัดการเงินมากเพียงใด หากแต่ถ้าเพื่อนๆ ไม่เริ่มต้นสิ่งที่ยากที่สุดอย่าง “การลงมือทำ” แล้วล่ะก็ ไม่มีเป้าหมายไหนที่จะสำเร็จได้อย่างแน่นอน เพราะฉะนั้นแล้วมาเปลี่ยนแปลงตัวเองกันตั้งแต่วันนี้ด้วยสุดยอดเทคนิคจากคนญี่ปุ่นกันเถอะ!

  • Share