Global searching is not enabled.
Skip to main content

Blog entry by Anuntapong Chuen-im

ปลดหนี้ กยศ รวดเร็วทันใจ ไม่ใช่เรื่องยาก ด้วยวิธีการเหล่านี้!

เชื่อเลยว่า ไม่มีใครไม่รู้จัก เงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาจากกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ "กยศ." อย่างแน่นอน โดยเฉพาะเพื่อนๆที่เคยส่งเสียตัวเองเรียน ถึงแม้ว่าเจ้า กยศ. นั้นจะมีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมาก ๆ เพียงแค่ 1% ต่อปี แต่ถือเป็นอีกหนึ่ง “ภาระหนี้สิน” ในระยะยาวของผู้ที่ขอกู้ยืมเพื่อเป็นทุนการศึกษาอย่างเรา ๆ เลยทีเดียวแหละ เพราะโดยปกติแล้วเพื่อให้ภาระหนี้ดังกล่าวไม่หนักกับผู้กู้อย่างเราจนเกินไป ทาง กยศ. จึงกำหนดระยะเวลาที่ให้ลูกหนี้อย่างเรา ๆ สามรถชำระคืนเงินทั้งหมดนั้นเอาไว้ถึง 15 ปี เลยทีเดียว

 

อย่างไรก็ตาม การมีเวลาชำระหนี้นาน ๆ นั้นอาจจะดูเป็นเรื่องดี แต่ต้องอย่าลืมว่าเราต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มมากขึ้นยังไงล่ะ! นั่นจึงทำให้ใครหลาย ๆ คนมองหาตัวช่วยในการวางแผน เพื่อให้ชำระหนี้ได้เร็วขึ้น เสียดอกเบี้ยน้อยกว่า และไม่กระทบต่อการวางแผนการเงินระยะยาวในชีวิตประจำวันของพวกเขานั่นเอง

 

และเพื่อเป็นตัวช่วยให้เพื่อน ๆ สามารถพิชิตหนี้ กยศ. ได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น วันนี้มูล่าได้มาพร้อมกับ 5 วิธีการสุดเฉียบ บอกเลยว่าเมื่อเพื่อน ๆ ลองไปทำตามดูแล้วจะสามารถ ชำระหนี้ กยศ. ได้รวดเร็วทันใจ ใช้เวลาน้อยลงกว่าที่เป็นอยู่อย่างแน่นอน จะมีอะไรบ้าง มาดูกันเลย!

 

เคล็ดลับที่ 1 : ต้องเข้าใจเงื่อนไขการชำระหนี้ กยศ. อย่างถ่องแท้

โดยปกติแล้ว กยศ. จะมีเอกสารแจ้งยอดหนี้ที่เราทั้งหลายต้องชำระในแต่ละรอบปีอย่างชัดเจน เราต้องทำความเข้าใจกับการคิดดอกเบี้ย และเงื่อนไขอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องให้ทะลุปรุโปร่งเสียก่อน เพื่อให้เห็นช่องว่างที่เราสามารถอุดหนี้ได้ไวขึ้นนั่งเอง

 

โดยปัจจัยเบื้องต้นที่เราต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับการชำระหนี้ กยศ. คืน มีดังนี้

  • กยศ. มีระยะปลอดหนี้ 2 ปี หลังจากจบการศึกษา หมายความว่าระยะ 2 ปีนี้จะไม่ต้องชำระหนี้ใด ๆ คืนเลย
  • กยศ. จะแจ้งยอดการชำระหนี้ครั้งแรกในปีที่ 3 โดยมีกำหนดให้ชำระคืนไม่เกินวันที่ 5 ก.ค. ของทุกปี
  • กยศ. ไม่ใช่เงินให้เปล่า
  • กยศ. จะมีการคิดดอกเบี้ย 1% ต่อปี
  • กยศ. มีเบี้ยปรับในกรณีไม่เกิน 1 ปี คิดเบี้ยปรับ 12% ของเงินต้นที่ค้างชำระ หากเกิน 1 ปี คิดเบี้ยปรับ 18% ของเงินต้นที่ค้างชำระ
  • จะมีการฟ้องร้องดำเนินคดีตามกฎหมาย ในกรณีที่มีการผิดนัดชำระ และค้างชำระหนี้เกินกว่า 4 ปี 5 งวด (1,460 วันขึ้นไป) หรือ มีหนี้ค้างชำระ แต่หมดระยะเวลาที่กำหนดแแล้ว หรือกรณีที่ผู้กู้ยืม กยศ. กลุ่มไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องคดี (มีหนี้ค้างชำระ)
  • หนี้ กยศ. สามารถผ่อนผันได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ๆ ละไม่เกิน 1 ปี ซึ่งในช่วงเวลาที่ได้รับการผ่อนผัน ผู้กู้อย่างเรา ๆ จะไม่ต้องชำระหนี้ทั้งเงินต้น และดอกเบี้ย โดยที่ไม่เสียเบี้ยปรับ และค่าธรรมเนียมในการผิดนัดชำระหนี้ เลย

 

เคล็ดลับที่ 2 : รู้จักถึงผลประโยชน์ของการชำระหนี้รายเดือน และรายปี

โดยปกติแล้วทาง กยศ. จะอนุญาตให้เรา ๆ ชำระหนี้ได้ใน 2 รูปแบบ นั่นก็คือแบบรายเดือน และรายปี ซึ่งหากเพื่อน ๆ อยากปิดหนี้ให้ไวทันใจล่ะก็ การรู้จักข้อดีข้อเสียของวิธีการชำระเงินทั้ง 2 นี้จะถือเป็นประโยชน์แก่ตัวเราเอามาก ๆ

 

สำหรับการชำระหนี้แบบรายเดือน ถือเป็นวิธีที่คนส่วนใหญ่นิยมทำกันอย่างมาก เพราะมันสามารถทำให้เราบริหารจัดการได้ง่าย เพียงแค่หยิบเงินจากเงินเดือนเท่า ๆ กันทุกเดือนเพื่อมาชำระหนี้ ไม่ต้องวางแผนมาก แต่ข้อเสียของมันก็คือเราต้องเสียค่าธรรมเนียมในการจ่ายหนี้ทุกเดือน ยังไงล่ะ

 

ในทางกลับกัน สำหรับการชำระหนี้แบบรายปี ข้อดีคือจะไม่เสียค่าธรรมเนียมรายเดือน แต่ข้อเสียคือเราต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่ในแต่ละปี ซึ่งบางคนที่มีการวางแผนการจ่ายหนี้ที่ไม่ดีพอ อาจไม่มีเงินทุนสำหรับชำระหนี้ก้อนนี้ ทำให้ผิดนัดชำระ และต้องเสียค่าปรับในที่สุด ซึ่งเพื่อน ๆ ก็ต้องเลือกดูให้ดีนะว่า วิธีแบบไหนที่เหมาะสมกับเรามากที่สุด

 

เคล็ดลับที่ 3 : ถึงเวลาวางแผนการปิดหนี้ กยศ. โดยเฉพาะ

กุญแจสำคัญที่จะทำให้เราทั้งหลายสามารถชำระหนี้ได้รวดเร็วก่อนอย่างไม่ขาดตกบกพร่องนั่นก็คือ การวางแผนการเงินไว้ล่วงหน้า ซึ่งหนึ่งในวิธีที่จะช่วยให้เพื่อน ๆ สามารถบังคับตัวเองได้อย่างไม่ยากเย็น ก็จะเป็นการออมเงินแบบคลาสสิกด้วยการหักเงินจากบัญชีเงินเดือน “ทันทีที่เงินออก” พูดง่าย ๆ ก็คือต้องเก็บก่อนที่จะใช้จ่ายในส่วนอื่นนั่นแหละ โดยต้องตั้งกฎเหล็กว่าเงินก้อนนี้จะใช้ในการจ่ายหนี้ กยศ. เท่านั้น นะ ห้ามแอบเอามาใช้เด็ดขาด

 

อย่างไรก็ตาม การวางแผนการปิดหนี้ กยศ. ให้ไวยังทำได้อีกหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการลดรายจ่าย เพื่อให้มีเงินเก็บมากขึ้น จะได้ใช้หนี้ไวขึ้น เป็นต้น แต่  สิ่งที่สำคัญนอกจากเราจะมีแผนแล้ว เราต้องทำตามแผนที่วางเอาไว้อย่างเคร่งครัด ไม่เช่นนั้น แผนการก็จะเป็นได้แค่สิ่งที่เราบันทึกลงในกระดาษใบเปล่า ๆ และไม่สามารถช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรได้เลย

 

เคล็ดลับที่ 4 : หาตัวช่วยในการปลดหนี้
อีกจุดสำคัญที่จะลดหนี้ กยศ. ให้ได้ไวทันใจ ก็คือการบริหารรายได้ของเราให้ดี และไม่สร้างหนี้เพิ่มนั่นเอง แต่เอ๊ะ ลำพังเพียงตัวเราคนเดียวต้องมาจัดการอะไรมากมายขนาดนี้... คงเป็นเรื่องยากใช่ไหมล่ะ เพราะฉะนั้นแล้วการหาตัวช่วยที่ดีอย่างเช่น แอปพลิเคชันการจัดการด้านการเงิน ก็เป็นเรื่องดีไม่ใช่น้อย เพราะจะทำให้การบันทึกรายรับ - รายจ่าย ง่ายดาย หรือการหาตัวอย่างแรงบันดาลใจทางการเงิน เช่น กูรูทางการเงินต่างๆ ที่เราสามารถศึกษาวิธีการปลดหนี้หรือหาเงินได้เพิ่ม พอเราดูแลสถานะทางการเงินของตัวเองได้ดีขึ้น เราจะสามารถมีเงินเหลือเก็บได้มากขึ้น และด้วยเหตุนี้เอง เราก็จะสามารถหาเงินมาปลดหนี้ กยศ. ของเรา เพราะเรานั้นมีเงินมาใช้โป๊ะหนี้เหล่านี้มากขึ้นนั่นเอง

 

นอกจากนี้ หากใครหลาย ๆ คน ไม่ได้มีแค่ปัญหาจากการบริหารเงินไม่เป็น และกำลังโอดครวญว่าไม่รู้จะต้องใช้หนี้ไง จ่ายหนี้ได้ที่ไหน ในยุค 4.0 แบบนี้นั้นมี แอปพลิเคชัน คำนวณยอดหนี้ กยศ. อยู่ด้วยนะ เริดป่ะล่ะ ใครไม่รู้จักต้องรีบไปดาวน์โหลดด่วน ๆ รับรองเลยว่าหากเพื่อน ๆ ใช้ตัวช่วยเหล่านี้ก็จะเบาใจไปได้เยอะเลย

 

เคล็ดลับที่ 5 : สร้างรายได้เพิ่ม
นอกจากการลดประมาณรายจ่าย และการบริหารเงินในมือให้เป๊ะปังแล้ว การเพิ่มช่องทางรายรับก็ถือเป็นอีกหัวใจสำคัญที่จะทำให้มีเงินมาใช้โป๊ะหนี้ให้หมดเร็ว ๆ แถมยังช่วยจุนเจือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ของเราในระยะยาวได้อีกด้วย มูล่ากล้าการันตีกับเพื่อน ๆ เลยว่า หากเพื่อน ๆ ยอมเหนื่อยอีกหน่อยในวันนี้ วันหน้าก็จะสบายใจแบบไม่มีหนี้อย่างแน่นอน

 

เป็นไงกันบ้าง หลังจากเห็นแนวทางการพิชิตหนี้ กยศ. เหล่านี้แล้ว เพื่อน ๆ ก็คงจะพอมีหวังขึ้นมาแล้วล่ะสิ หลังจากนี้ก็ถึงเวลาฮึดสู้ และใช้ความมีวินัยเอาชนะภาระหนี้สินอันแสนล้นพ้นให้จงได้! มูล่าขอเป็นกำลังใจให้คนสู้ชีวิตทุก ๆ คนนะ

 

References

https://aommoney.com/stories/aommoney-ideas/3-%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B9%87%E0%B8%94-%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88-%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%8A%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%94%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B5%E0%B9%89-%E0%B8%81%E0%B8%A2%E0%B8%A8/24278#kvjgk3df35

https://www.set.or.th/set/financialplanning/lifeevent.do?name=lifeevent_detail_student-4&innerMenuId=136

https://www.bangkokbiznews.com/news/887883

 

บทความ: MULA Learning
รูปประกอบ: MULA Learning
 

  • Share