การค้นหาแบบครอบคลุมทั้งหมดยังไม่ได้เปิดใช้งาน
ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

Blog entry by Anuntapong Chuen-im

จำนอง-จำนำ ต่างกันอย่างไร? สายเงินกู้ต้องรู้

จำนอง-จำนำ ต่างกันอย่างไร? สายเงินกู้ต้องรู้

อีกหนึ่งปัญหาโลกแตกที่ทำให้คนที่เคยผ่านการกู้ยืมเงินหลายต่อหลายคนต้องงงเป็นไก่ตาแตกเมื่อกำลังจะทำสัญญากู้ยืมเงิน นั่นก็คือการที่ต้องมาพบเจอกับคำว่า “การจำนำและการจำนอง” ซึ่งลำพังเมื่อเราอ่านดูแล้ว... ก็ถือว่ายากมากพอที่จะตีความคำสองคำนี้ใช่ไหมล่ะ และด้วยสาเหตุนี้เอง มันก็มีกรณีตัวอย่างความเข้าใจที่ผิดพลาดระหว่างการจำนำกับการจำนองก็ได้สร้างปัญหาต่อสายเงินกู้จากมาหลายครั้งเลยทีเดียว

แต่ทว่าปัญหาเหล่านี้จะหมดไป เพียงแค่เพื่อน ๆ รู้จักถึงสาระสำคัญของการจำนำและการจำนองว่ามีลักษณะเป็นเช่นไร แตกต่างกันหรือเหมือนกันขนาดไหน โดยวันนี้มูลาจะอาสามาไขข้อข้องใจให้เพื่อน ๆ เอง
ถ้าพร้อมแล้วก็ไปดูกันได้เลย!

 
ทำไมเราถึงต้องมีการจำนำ และจำนอง?

โดยปกติแล้วเมื่อมีการทำสัญญากู้ยืมเงิน ในบางครั้งหากเรากู้หนี้ยืมสินเป็นจำนวนมาก การมีแค่สัญญาเป็นกระดาษแผ่นเดียวก็ไม่อาจเป็นหลักประกันให้กับผู้ให้กู้ยืมเงินอย่างเพียงพอ พูดง่าย ๆ ก็คือคนให้ยืมไม่อยากเสี่ยงที่จะโดนเชิดเงินนั่นแหละ ดังนั้นในการกู้ยืมบางครั้งจึงมีการทำสัญญากู้ยืมเงินแบบที่คนกู้อย่างเรา ๆ ต้องนำสินทรัพย์เป็นหลักประกัน และนั่นก็จะถูกจำแนกออกเป็นการจำนำและการจำนอง นั่นเอง

 
การจำนำคืออะไร?

ถ้าให้อธิบายง่าย ๆ การจำนำ ก็คือ การที่บุคคลผู้ขอกู้ยืมเงิน ซึ่งจะเรียกว่า “ผู้จำนำ” ได้ทำการลงนามมอบสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพย์สินที่สามารถเคลื่อนที่ได้ เช่น วิทยุ โทรทัศน์ แหวน สร้อย ไปจนถึงสิ่งมีชีวิตอย่าง ช้าง ม้า โค กระบือ เป็นต้น ให้กับอีกบุคคลหนึ่งซึ่งเป็นผู้ปล่อยกู้เงิน หรือในที่นี้เรียกว่า “ผู้รับจำนำ“ เพื่อประกันการชำระหนี้นั่นเอง โดยเมื่อทำสัญญาเรียบร้อยแล้วผู้รับจำนำมีสิทธิในการครอบครองทรัพย์สินที่จำนำแบบ 100% เต็ม ซึ่งจะมีสิทธิ์นี้ไปจนกว่าผู้จำนำจะมาชำระหนี้ไถ่ถอนคืนนั่นเอง แต่ระหว่างที่จำนำอยู่ ผู้รับจำนำก็ต้องรับผิดชอบดูแลทรัพย์สินนั้นด้วยนะ ไม่ใช่ว่าจะเอาไปทำให้เสียหาย หรือแบบเอาไปขาย แบบนี้ผิดเต็ม ๆ เลย ทั้งนี้สิ่งที่สำคัญก็คือผู้จำนำต้องเป็นเจ้าของทรัพย์ที่เอามาค้ำนะ คนอื่น ๆ จะไม่สามารถเอาทรัพย์สินของเรามาจำนำแทนตัวเราเองได้ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นการยักยอกทรัพย์ หรือลักทรัพย์ ไปในทันทีเลย 

ตัวอย่างการจำนำ

นาย ก. กู้เงินจาก นาย ข. โดยมอบสร้อยคอทองคำไว้เป็นหลักประกันในการชำระหนี้เงินกู้ 3,000 บาท และจะได้รับสร้อยคอทองคำคื่นเมื่อนำเงินมาชำระหนี้ การสัญญาเช่นนี้เรียกว่า สัญญาจำนำ

 
การจำนองคืออะไร?

จำนอง มีลักษณะคล้ายกับการจำนำ โดยถือเป็นการมอบสินทรัพย์เพื่อประกันการชำระหนี้เช่นเดียวกัน เพียงแต่ว่าสิ่งที่ใช้เป็นหลักประกันไม่ใช่ทรัพย์สินที่สามารถเคลื่อนที่ได้ แต่เป็น “อสังหาริมทรัพย์” หรือทรัพย์สินที่ไม่สามารถเคลื่อนที่ได้นั่นเอง ยกตัวอย่างเช่น โฉนดที่ดิน บ้าน โรงเรือน เป็นต้น โดยการจำนอง ผู้จำนองต้องนำสินทรัพย์ไปจดทะเบียนไว้กับผู้รับจำนอง ซึ่งต้องกระทำต่อหน้าเจ้าหน้าที่กรมที่ดินเท่านั้น ทั้งนี้การทำสัญญาจำนองไม่จำเป็นต้องโอนโฉนดที่ดินหรือทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่ผู้รับจำนอง

ตัวอย่างการจำนอง

นายเอ กู้เงินนายบี จำนวน 1 ล้านบาท โดยนำที่ดินของตนเอง 1 แปลงไปจดทะเบียนจำนองต่อเจ้าหน้าที่กรมที่ดิน เพื่อเป็นการประกันชำระหนี้ โดยนายเอไม่ต้องโอนหรือส่งมอบที่ดินให้นายบี นายเอยังมีสิทธิครอบครอง และใช้สอยที่ดินของตนเองได้ตามปกติ

ทั้งนี้หากลูกหนี้ หรือนายเอจำนองแล้ว แต่ไม่ยอมชำระหนี้ นายบี หรือเจ้าหนี้ก็มีอำนาจยึดทรัพย์ที่จำนองออกขายทอดตลาดเอาเงินมาชำระหนี้ได้ และมีสิทธิพิเศษได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้ธรรมดาทั่วไปอีกด้วย


ท้ายที่สุดนี้ ถ้าจะสรุปให้เข้าใจง่าย ๆ เพื่อน ๆ จะเห็นได้ว่าการจำนำกับการจำนองมีลักษณะคล้ายกันคือ เป็นการมอบสินทรัพย์เพื่อประกันการชำระหนี้ เพียงแต่สินทรัพย์ที่ใช้เป็นหลักค้ำประกันมีความแตกต่างกัน โดยเพื่อน ๆ ต้องจำให้ขึ้นใจเลยนะว่าการจำนำจะใช้สินทรัพย์ที่เป็น “สังหาริมทรัพย์” ส่วนการจำนองจะใช้สินทรัพย์ที่เป็น “อสังหาริมทรัพย์” นั่นเอง เป็นยังไงบ้าง ไม่อยากอย่างที่คิดใช่ไหมล่ะ

 

บทความ: MULA Learning
รูปประกอบ: MULA Learning
 
 

  • แชร์