26
AugustFOMO คืออะไร ทำไมต้องระวัง
เพื่อน ๆ คนไหนเคยมีความกังวลใจเหล่านี้บ้าง เช่น ตอนที่เราไม่อยู่ เพื่อน ๆ ของเราไปเที่ยวไหน ไปหากิจกรรมทำอะไรดี ๆ อยู่หรือเปล่า เอ๊ะ มีเทรนด์ใหม่ ๆ ที่เรายังไม่ลองทำ หนังสือที่ว่าดีเล่มไหนที่เรายังไม่ลองอ่านบ้างหรือเปล่า พอคิดมาก ๆ เขาก็เริ่มจะไม่มีความสุขเสียแล้ว
อาการเหล่านี้เป็นสัญญาณบ่งชี้ของอาการ FOMO (โฟโม) ที่หลาย ๆ คนเคยได้ยินมาบ้าง วันนี้มูลาขอเล่าเรื่องอาการ FOMO ให้เพื่อน ๆ ฟังว่าเป็นยังไง และจะส่งผลกระทบอะไรในชีวิตของเราบ้าง
FOMO คืออะไร
FOMO ย่อมาจากคำภาษาอังกฤษที่ว่า Fear of missing out คืออาการกลัวว่าเรากำลังพลาดอะไรดี ๆ บางอย่างที่คนอื่นมี คนอื่นทำ แต่เราไม่ได้ทำ นั่นเอง
โดยคำนี้เพิ่งเริ่มคิดขึ้นมาในปี พ.ศ. 2539 โดย ดร.แดน เฮอร์แมน (Dr. Dan Herman) และได้รับการพูดถึงมาก ๆ ในยุคนี้ที่โซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทในชีวิตของเรามากขึ้น จนทำให้เราหลายคนเห็นอะไรดี ๆ ของคนอื่นมากมาย เห็นกระแสต่าง ๆ เข้าอยู่เรื่อย ๆ จนทำให้เราไล่ล่าตามสิ่งที่เราว่าดีของคนอื่น เปรียบเทียบเรื่องดี ๆ ของคนอื่นในโลกออนไลน์กับคนเอง หรือมีแม้กระทั่งความกลัวว่าตนเองจะไม่ได้รับสิ่งดี ๆ เหมือนคนอื่น อิจฉาคนอื่น และทำให้เราไม่มีความสุขนั่นเอง
ตัวอย่างของอาการ FOMO มีอะไรบ้าง
แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเรามีอาการ FOMO เพราะการติดตามเรื่องราวดี ๆ ของคนอื่น หรือการตามเทรนด์หรือกระแสที่เป็นประโยชน์ก็ไม่ใช่เรืองเสียหายซักหน่อย แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เราเป็นแบบนี้จนเริ่มมีอาการเครียด หรือกังวลใจเมื่อไหร่ นั่นแหละคือสัญญาณเตือนว่าเราโฟกัสกับเรื่องคนอื่นมากเกินไปเสียแล้ว หยิบยกตัวอย่างอาการ FOMO ให้เพื่อน ๆ ได้สังเกตตามนี้เลย
- กังวลใจ หรือกระวนกระวายว่าคนรอบข้าง ๆ กำลังทำอะไรกันอยู่
- ไม่อยากเลื่อนนัดหรือยกเลิกนัด เพราะกลัวว่าจะพลาดอะไรบางอย่าง
- รู้สึกแย่ เมื่อคนรอบข้างไปทำกิจกรรมสนุก ๆ โดยที่เราไม่ได้ไปด้วย
- กลัวว่าคนอื่นกำลังได้โอกาสทำอะไรดี ๆ มากกว่าตนเองตอนนี้
- ติดโซเชียลมีเดียหนักมาก อยากอัพเดตเรื่องราวดี ๆ ในชีวิตให้คนรอบข้างรู้ตลอดเวลา
- เปรียบเทียบคนอื่นว่าดีกว่าตนเองเสมอ
ทำไม FOMO ถึงต้องระวัง
เมื่อเราสังเกตได้ว่า เรามีอาการข้างต้นมาก ๆ เข้า สิ่งแรกที่จะเกิดขึ้นคือเราไม่มีความสุขกับสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ตรงหน้า หรือทำอะไรตรงหน้าได้ไม่เต็มที่ เพราะมัวแต่คิดถึงเรื่องของคนอื่น ทำให้เราเกิดความเครียดโดยไม่จำเป็นนั่นเอง
นอกจากนี้ ข้อมูลจากเว็บไซต์ verywellmind.com ได้ให้ข้อมูลว่า มีงานวิจัยที่พบว่าอาการ FOMO สามารถส่งผลกระทบให้เราเกิดภาวะวิตกกังวล ความมั่นใจในตนเองต่ำลง หรืออาจนำไปสู่พฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ เช่น วัยรุ่นที่มีอาการ FOMO จะยอมทำพฤติกรรมเสี่ยง ๆ เพราะอยากได้รับความสนใจหรือหาประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่เชื่อว่าทำแล้วดี เป็นต้น
วิธีการแก้ไข ถ้าเข้าข่ายอาการ FOMO
เมื่อรู้อยากนี้แล้ว มีเคล็ดลับอย่างไรบ้าง สำหรับมือใหม่ในการแก้ไขอาการ FOMO ขอหยิบยกวิธีการง่าย ๆ ให้เพื่อน ๆ ดังนี้
- ลดการติดตามข่าวสารให้น้อยลง เพียงวันละครั้ง สองครั้งก็เพียงพอ
- ลดการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย ที่ทำให้เราเห็นเรื่องราวของคนรอบข้างมากขึ้น จนทำให้เราคิดเปรียบเทียบตนเองกับคนอื่น
- ปิดการแจ้งเตือนของแอพพลิเคชันในมือถือที่ไม่ได้ใช้เสียบ้าง เพื่อทำให้เราโฟกัสกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า
- เขียนบันทึกประจำวัน เพื่อทบทวนสิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้นกับเราระหว่างวันให้มากขึ้น
- หาเพื่อนที่สามารถบอกเล่าเรื่องได้อย่างได้ไม่คิดเปรียบเทียบกัน ใช้เวลากับเพื่อนโดยเน้นที่คุณภาพ ไม่เน้นที่ปริมาณ
- นั่งสมาธิ เพื่อทำให้เราโฟกัสกับตัวเอง หรืออยู่กับปัจจุบัน
และสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะลดอาการ FOMO คือเชื่อว่าเราได้ทำสิ่งที่ดีที่สุดในทุกวันอยู่แล้ว มีความเชื่อมั่นในตนเอง และโฟกัสกับเรื่องราวของตัวเราเองนั่นเอง
เป็นยังไงกันบ้าง เพื่อน ๆ น่าจะเข้าใจเรื่องอาการ FOMO กันมากขึ้นแล้ว อย่าลืมสังเกตอาการว่าเราเข้าข่ายภาวะ FOMO แบบนี้หรือไม่ เพื่อที่ว่าเราจะได้ตัดความเครียด ความกังวลที่ไม่จำเป็นต่อชีวิต และมีความสุขกับการใช้ชีวิตมากขึ้นนั่นเอง
ที่มา :
https://www.verywellmind.com/how-to-cope-with-fomo-4174664
https://www.mangozero.com/fomo-101/
ที่มา : MULA Learning
รูปประกอบ : MULA Learning