26
Augustสินทรัพย์ ต่างจาก ทรัพย์สิน อย่างไร? วันนี้มีคำตอบ
อีกหนึ่งปัญหาโลกแตกที่เหล่ามือใหม่ผู้เริ่มหันมาสนใจหาความรู้ทางด้านการเงินอย่างเรา ๆ หลายต่อหลายคนนั้นงงเป็นไก่ตาแตกเวลาที่จะต้องแยกแยะความแตกต่างระหว่างคำสุดคุ้นหูอย่าง “ทรัพย์สิน” และ “สินทรัพย์” ซึ่งลำพังเมื่อเรามองดูอย่างผิวเผินแล้วล่ะก็... เราก็ไม่เห็นว่าไอ้เจ้าคำสองคำนี้มันจะดูแตกต่างกันสักเท่าไหร่เลยนี่หน่า แถมยังแลดูเหมือนเป็นคำที่สื่อถึงสิ่งเดียวกันเสียด้วยซ้ำ แต่แท้ที่จริงแล้วมันมีอะไรมากกว่าที่เราเข้าใจอย่างแน่นอน
แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรล่ะ? ว่าเจ้าสองคำที่ว่านี้มันหมายถึงอะไรกันแน่ และมันมีความแตกต่างกันแค่ไหน อะไรที่เราสามารถเรียกเป็นสินทรัพย์ และอะไรคือ ทรัพย์สิน มันมีลักษณะเฉพาะเป็นเช่นไร แตกต่างกันหรือเหมือนกันตรงไหน? และควรต้องให้ความสำคัญกับอะไรมากกว่ากันถึงจะทำให้เรา “รวย” ได้เร็ว? วันนี้เราจะขออาสามาไขข้อข้องใจให้เพื่อน ๆ เอง ถ้าพร้อมแล้วก็ไปดูกันได้เลย!
ความแตกต่างระหว่าง สินทรัพย์ กับ ทรัพย์สิน
เพื่อให้เพื่อน ๆ เข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง เราจะขออธิบายความแตกต่างของเจ้าคำสองคำนี้ตั้งแต่ช่วงต้นของบทความกันเลย โดยถึงแม้สองคำนี้ดูเหมือนจะเป็นสิ่งเดียวกัน แต่จริง ๆ แล้วมันต่างกันพอสมควรเลยแหละ โดยหากตีความตามความหมายในพจนานุกรมแล้วล่ะก็... เจ้าคำทั้งสองนั้นจะมีความหมายดังนี้
- ทรัพย์สิน คือ วัตถุทั้งที่มีรูปร่าง และไม่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคา และอาจถือเอาได้
- สินทรัพย์ คือ บรรดาทรัพย์สินที่บุคคลเป็นเจ้าของ
หลังจากเราเห็นความหมายของคำทั้งสองคำตามที่ระบุเอาไว้ข้างต้นนี้แล้ว เราก็จะเห็นได้ชัดเจนเลยว่า ทรัพย์สิน นั้นถึงเป็น “ส่วนหนึ่ง” ของสินทรัพย์นั่นเอง
ทั้งนี้เพื่ออธิบายให้เห็นภาพมากยิ่งขึ้น เราจะมาเจาะลึกกับคำว่า “ทรัพย์สิน” กันก่อน โดยคีย์เวิร์ดสำคัญของคำว่าทรัพย์สิน นั้นคือ “มีทั้งรูปร่าง และไม่มีรูปร่าง” และ “การมีราคา หรือมูลค่า” ซึ่งใจความสำคัญนี้ทำให้ทรัพย์สินนั้นสามารถเป็นได้ทั้ง รถยนต์ บ้าน ที่ดิน โทรศัพท์มือถือ ของเล่น ของสะสม เสื้อผ้า หุ้น พันธบัตร หรือแม้แต่ ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร ที่เราเรียกกันติดปากโดยรวมว่า “ทรัพย์สินทางปัญญา” นี่แหละ
ทั้งนี้คำว่ามูลค่าที่ระบุเอาไว้ข้างต้นนั้นไม่ได้หมายถึงแค่ในด้านราคาอย่างเดียวเท่านั้น เพราะแท้ที่จริงแล้วยังมีทรัพย์สินอีกประเภทหนึ่งที่ถือว่าพิเศษออกไป และไม่สามารถวัดมูลค่าเป็นตัวเลขได้ นั่นก็คือคุณค่าทางจิตใจนั่นเอง โดยในบางครั้งเราจะเห็นผู้คนมากมายที่ซื้อของฟุ่มเฟือยถูกไหมล่ะ? โดยทรัพย์สินเหล่านั้นก็จะเสื่อมมูลค่าไปตามเวลา แต่นั้นไม่ใช้ปัญหาเลยแม้แต่น้อย เพราะทรัพย์สินดังกล่าวได้ทำหน้าที่เติมเต็มคุณค่าทางจิตใจให้เราเป็นที่เรียบร้อยแล้วนั่นแอง
ในทางกลับกันสำหรับ “สินทรัพย์” นั้น คีย์เวิร์ดที่สำคัญของมันก็คือ การเป็นทรัพย์สินที่ต้องมี “เจ้าของ” นั่นเอง กล่าวคือ เมื่อเราเห็นสินค้าบางอย่างในร้านค้า มันจะจัดเป็นเพียงแค่ “ทรัพย์สิน” สำหรับเราเท่านั้น แต่หากเราได้มันมาครอบครอง (ไม่ว่าจะด้วยวิธีไหนก็ตาม) เมื่อไหร่แล้วล่ะก็... มันก็จะกลายมาเป็นหนึ่งใน “สินทรัพย์” ของเราในทันทีนั่นเอง
ที่สำคัญก็คือ... ยังมีอีกประเด็นที่ทำให้เจ้าทรัพย์สินนั้น เป็นเพียงแค่ “ส่วนหนึ่ง” ของสินทรัพย์ เพราะโดยปกติแล้วเจ้าคำว่าสินทรัพย์นั้นจะถูกใช้ในภาษาของนักบัญชีเสียส่วนใหญ่ ซึ่งนอกจากจะมี “ทรัพย์สิน” เป็นองค์ประกอบสำคัญแล้ว อีกส่วนที่ขาดไม่ได้ของสินทรัพย์ก็คือ “หนี้สิน” นั่นเอง พูดง่าย ๆ ก็คือ “สินทรัพย์” คือ ผลรวมของทรัพย์สินทั้งหมดของเรา เป็นของที่เราเป็นเจ้าของโดยแท้ ไม่ว่าจะได้มาจากการเป็นหนี้เป็นสิน หรือได้มาจากเงินทุนของตัวเอง
แล้วเราควรให้ความสำคัญกับอะไรมากกว่ากัน? ระหว่างสินทรัพย์ กับ ทรัพย์สิน
หากให้ตอบคำตามนี้แบบตรงไปตรงมาแล้วล่ะก็... สิ่งที่เราควรให้ความสำคัญแท้ที่จริงแล้วไม่ใช่ทั้ง “สินทรัพย์” และ “ทรัพย์สิน” เลยเสียด้วยซ้ำ แต่ประเด็นที่เราต้องโฟกัสกลับเป็น “ที่มาที่ไป” ของสินทรัพย์ที่เรามีเสียมากกว่า เพราะยังไงก็ตามหนึ่งเหตุผลที่อาจจะกำลังขัดขวางใครหลาย ๆ คนจากความมั่งคัง หรือมั่งมีในระยะยาว ก็คือ การที่เราส่วนใหญ่มักจะมุ่งไปที่การสะสม “ทรัพย์สิน” จนอาจจะทำให้เราใช้เงินเกินตัวนั่นเอง
ประโยชน์ข้างต้นนั้นมีมูลเหตุมากจากการที่โดยปกติแล้วเรา ๆ ทั้งหลายก็มักจะเห็นสิ่งของที่จับต้องได้ และมีราคาแพง ไม่ว่าจะเป็นรถเก๋ง หรือเครื่องประดับต่าง ๆ ว่าเป็นเครื่องบ่งบอกถึง “ความโก้ ความหรู และความร่ำรวย” ของคน ๆ นั้น โดยที่เรามองข้ามประเด็นสำคัญไปอย่างหนึ่งก็คือ “สิ่งของที่ได้มาเหล่านี้ ได้มาจากความร่ำรวยของคน ๆ นั้นจริงหรือไม่”
เพราะหากบางคนได้เก็บสะสมเงินทองไว้เป็นระยะเวลานานและมากพอที่จะซื้อของฟุ่มเฟือยเหล่านั้นจากน้ำพักน้ำแรงของตัวเอง และบางคนก็อาจจะได้รับมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษ การที่เราสามารถเรียกพวกเขาเหล่านี้ว่ามีสถานะทางการเงินที่ดี หรือ “ร่ำรวย” ก็คงจะไม่ผิดอะไร เพราะเขาเหล่านั้นใช้สินทรัพย์เพื่อซื้อทรัพย์สินที่ได้มาจากเงินทุนของตัวเอง และไม่ได้ไปเป็นหนี้กู้ยืมใครมา
แต่ในทางกลับกันหลายต่อหลายคนก็อาจจะพยายามสรรหาสินค้าราคาแพงเพื่อเป็นตัวบ่งบอกคนรอบข้างให้เข้าใจว่าตัวเองมีสถานะร่ำรวย แต่ทว่าไอ้เจ้าทรัพย์สินเหล่านั้นของเขากลับได้มาจากการ “กู้ยืม” ซึ่งเมื่อได้เป็นเจ้าของแล้วก็จะถือเป็นสินทรัพย์ของคน ๆ นั้นจริง ๆ แหละ แต่ข้อเสียคือมันกลับเป็นสินทรัพย์ที่เกิดขึ้นจากการมีหนี้สินนั่นเอง ซึ่งท้ายที่สุดจะส่งผลร้ายตามมาทีหลังอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ยังไงล่ะ
นั่นจึงทำให้ได้ข้อสรุปว่าการก้าวไปสู่ความ “รวย” ได้หรือไม่นั้น เราต้องมองให้ลึกถึงสินทรัพย์ของตัวเราเอง ว่าเราเป็นเจ้าของของทรัพย์สินประเภทไหนถ้าเป็นประเภทที่มาจากน้ำพักน้ำแรงของตัวเองก็ถือว่าดี แต่ถ้าไปกู้หนี้ยืมสินมาก็จะเป็นเพียงคนๆ หนึ่งที่ใช้เงินเกินตัว คอยคิดถึงแต่ความสบาย ความโก้ ในระยะสั้นๆ เท่านั้น และระวังจากรวย ๆ จะกลายเป็น จนขึ้นมาได้ โดยไม่รู้ตัว
สุดท้ายนี้ขอฝากไว้ว่า ทรัพย์สินที่ให้คุณค่าทางจิตใจนั้น ไม่จำเป็นที่จะได้มาโดยการซื้อของฟุ่มเฟือย หรือช้อปปิ้งเพื่อซื้อของที่เสื่อมมูลค่าเสมอไป ทรัพย์สินที่มีค่ามากที่สุดก็คือ “ความดี” นั่นเอง ไม่ต้องไปหาซื้อมา แต่ต้องหมั่นสร้างและสะสมไว้ มันจะพอกพูนขึ้นไปเรื่อยๆ จนเรียกได้ว่า “รวยอย่างแท้จริง”
ที่มา : MULA Learning
รูปประกอบ : MULA Learning