3
Septemberปลูกฝังลูกน้อยอย่างไรให้รักการอ่าน
“ไม่ใช่นักอ่านทุกคนที่ก้าวเป็นผู้นำ แต่ผู้นำทุกคนล้วนเป็นนักอ่าน”
(Not all readers are leaders, but all leaders are readers)
คำกล่าวข้างต้น เป็นคำกล่าวคลาสสิกจากแฮรี่ เอส ทรูแมน (Harry S. Truman) ประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 33 ที่ทำให้ใครๆ หลายคนพยายามอ่านหนังสือกันให้มากขึ้น ไม่ได้หมายความว่า ต้องอ่านเพื่อเป็นผู้นำ แต่การอ่านเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้หลายคนก้าวหน้าในชีวิตได้อย่างแน่นอน
มูลาเชื่อว่า บรรดาคุณพ่อคุณแม่ต่างก็หวังดี อยากให้ลูกก้าวหน้าในชีวิต หนึ่งสิ่งที่จะสนับสนุนลูกได้ก็คือการทำให้เด็ก ๆ อ่านหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือประเภทไหน ต่างก็มีประโยชน์ต่อพัฒนาการของลูกในรูปแบบที่แตกต่างกัน หนังสือนิทานก็ช่วยส่งเสริมจินตนาการ หนังสือสารคดีก็ช่วยเปิดโลกกว้าง ทำให้ลูกเข้าใจความเป็นไปในโลกได้ดียิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นวันนี้มูลาเลยอยากช่วยคุณพ่อคุณแม่ทุกคนมาฝึกลูกให้อ่านเก่ง และรักการอ่าน เพื่อเด็ก ๆ จะได้โตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรู้ความสามารถกันเลย
ทำไมต้องฝึกให้ลูกมีนิสัยรักการอ่าน
หลายคนคิดว่า แค่ลูกฝึกการอ่านในโรงเรียนกับคุณครู ก็น่าจะเพียงพอแล้ว ทำไมคุณพ่อคุณแม่อย่างเรา ๆ จะต้องมาปลูกฝังนิสัยการอ่านกันอีก เหตุผลก็คือ การอ่านไม่เพียงช่วยเติมความรู้เด็ก ๆ แต่ยังส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก ๆ ในด้านอื่นอีกด้วย
มูลนิธิบุ๊คทรัสต์ (Booktrust) มูลนิธิเพื่อส่งเสริมการอ่านจากประเทศอังกฤษ ได้ให้ข้อมูลว่า การอ่าน จะช่วยให้เด็ก ๆ ฝึกทักษะการคิด การตั้งคำถาม ทักษะทางภาษาให้มีวงคำศัพท์ที่กว้างขวางขึ้น รวมทั้งเปิดโลกกว้างให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้เร็วขึ้น กิจกรรมการอ่านยังเป็นกิจกรรมให้เด็ก ๆ ได้ฝึกมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว หรือเพื่อน ๆ การอ่านยังมีบทบาทให้เด็ก ๆ ฝึกคิด ฝึกจินตนาการ หรือเข้าอกเข้าใจคนอื่นมากขึ้น จากการทำความเข้าใจตัวละคร หรือสถานการณ์ต่าง ๆ จากหนังสืออีกด้วย
ตั้งเป้าหมายการอ่านตามช่วงวัยอย่างไรดี
ยูนิเซฟ (UNICEF) กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า การฝึกให้ลูกผูกพันกับหนังสือหรือการอ่าน เริ่มได้ตั้งแต่แบเบาะ และได้ให้เป้าหมายของพัฒนาการการอ่านของลูกน้อยตามช่วงวัย เพื่อให้บรรดาคุณพ่อคุณแม่สังเกตลูกน้อยได้ดังนี้
1) แรกเกิด – 18 เดือน
- ฝีกจ้องมองหนังสือ และหัดเปลี่ยนหน้ากระดาษ
- พยายามเลียนเสียงจากพ่อแม่ เมื่ออ่านหนังสือให้ฟัง
- เข้าใจคำศัพท์ง่าย ๆ
- เมื่ออายุถึง 1 ขวบ ควรเริ่มพูดได้ 1 – 2 คำ
2) 18 เดือน – 3 ขวบ
- เมื่ออายุ 2 ขวบ ควรเริ่มพูดได้ 250 – 350 คำ
- เมื่ออายุ 3 ขวบ ควรเริ่มพูดได้ 800 – 1,000 คำ
- เด็ก ๆ ควรรู้สึกสนุกเมื่อได้ฟังนิทานเรื่องประจำ
- สามารถพูดซ้ำประโยค จากเรื่องที่ชื่นชอบได้
- เริ่มร้องขอให้ผู้ใหญ่ช่วยอ่านหนังสือให้ฟัง
3) 3 – 5 ขวบ
- จับหนังสือได้ถูกต้องและเปลี่ยนหน้ากระดาษได้อย่างคล่องแคล่ว
- คุ้นเคยกับตัวอักษร และเริ่มเขียนตัวอักษรบางตัวได้
- เริ่มรู้เสียงที่คล้องจองกัน
- แต่งประโยคได้อย่างคล่องแคล่ว
ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ได้หมายความว่าลูกน้อยของเราต้องสามารถทำตามเป้าหมายเหล่านี้ได้แบบเป๊ะ ๆ เพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับความสามารถของเด็ก ๆ ที่แต่ละคนอาจจะมีไม่เท่ากัน ถึงอย่างนั้น คุณพ่อคุณแม่ก็ควรให้กำลังใจ ส่งเสริมลูกน้อยให้อ่าน หรืออ่านให้ลูกน้อยฟังบ่อย ๆ อยู่ดี
เคล็ดลับฝึกนักอ่านตัวน้อย
- ทำการอ่านให้เป็นกิจวัตร
ข้อนี้เป็นพื้นฐานของการสร้างนิสัยรักการอ่านให้กับเด็ก ๆ เลยก็ว่าได้ คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองควรแบ่งเวลาในแต่ละวัน เพื่อทำกิจกรรมการอ่านกับเด็ก ๆ ไม่ว่าจะเป็นช่วงก่อนนอน ช่วงเวลาการเดินทางบนรถ หรือช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ก็สามารถใช้เวลากับเด็ก ๆ ไปพร้อมหนังสือเล่มโปรดได้ - อ่านให้เด็กดู
วิธีการสอนที่ดีที่สุด คือการทำให้เด็ก ๆ เห็นเพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรอ่านหนังสือให้เด็ก ๆ เกิดอยากเลียนแบบเช่นกัน อาจลองเปลี่ยนวิธีพักผ่อน เช่น การดูทีวี เปลี่ยนเป็นการอ่านหนังสือแทน หรือจากการไปเดินช้อปปิ้งซื้อของ อาจจะต้องเดินดูหนังสือที่ร้านหนังสือบ้าง - อ่านหนังสือแบบออกเสียง
ข้อนี้สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเล็ก ที่อาจจะยังอ่านหนังสือเองไม่ได้ ไม่ได้ความว่า อายุเล็กไปยังไม่ถึงเวลาอ่านหนังสือ พ่อแม่ก็ควรอ่านหนังสือให้ลูกฟัง เพราะยังมีพัฒนาการอย่างอื่นที่เด็ก ๆ สามารถพัฒนาได้จากการฟังเรื่องราว คุณพ่อคุณแม่อาจจะลองอ่านหนังสือแบบใช้เสียงสูงต่ำ หรือมีจังหวะในการอ่าน เพื่อกระตุ้นความสนใจของเด็ก ๆ - เลือกหนังสือรูปแบบหรือเนื้อหาที่เด็ก ๆ ชอบเป็นหลัก
ถึงแม้การอ่านหนังสือจะช่วยส่งเสริมความรู้ แต่อย่าลืมว่าหนังสือมีประโยชน์ในด้านอื่น ๆ ด้วยนะเช่น จินตนาการ หรือความเพลิดเพลินต่าง ๆ ฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรเปิดกว้างให้เด็ก ๆ ได้เลือกหนังสือที่อยากอ่านหรืออยากฟัง เพื่อให้เด็กสามารถมีสมาธิจดจ่อกับหนังสือได้ ทั้งนี้ทั้งนั้น คุณพ่อคุณแม่ยังคงต้องดูเนื้อหาของหนังสือให้เหมาะสมตามวัย ไม่มีเนื้อหาที่ล่อแหลมด้วยนะ
- สร้างกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้หลังอ่านหนังสือ
ถ้าอ่านออกเสียงก็แล้ว อ่านเป็นจังหวะก็แล้ว แต่เด็ก ๆ ยังไม่รู้สึกสนุก คุณพ่อคุณแม่ลองชวนเด็ก ๆ ทำกิจกรรมหลังการอ่านดูสิ เช่น ฝึกให้เด็ก ๆ เล่นบทบาทสมมุติตามหนังสือ ฝึกให้เด็ก ๆ ลองแต่งประโยคจากหนังสือ หรือแกล้งถามคำถามเกี่ยวกับหนังสือเพื่อทดสอบความเข้าใจ เป็นต้น นอกจากจะทำให้เด็ก ๆ รู้สึกว่าช่วงเวลาการอ่านเป็นช่วงเวลาแสนสนุกแล้วล่ะก็ ยังเป็นช่วงเวลาที่เด็ก ๆ และผู้ใหญ่ในบ้านจะได้ใช้เวลาร่วมกันอย่างเต็มที่มากขึ้นด้วย - พาเข้าร้านหนังสือหรือห้องสมุดเป็นประจำ
ข้อนี้คือการให้เด็ก ๆ อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีหนังสือมาก ๆ ทำให้เข้าใจว่าการอ่านเป็นเรื่องปกติทีใครทุกคนทำกัน ไม่ว่าเป็นเด็ก หรือผู้ใหญ่ ต่างก็รักการอ่านกันทั้งนั้น เด็ก ๆ ยังจะได้ลองหยิบจับหนังสือใหม่ ๆ ที่รู้สึกสนใจ หรือคุณพ่อคุณแม่จะใช้โอกาสนี้ในการอ่านหนังสือเล่มใหม่ให้เด็กฟังเลยก็ได้เช่นกัน
เป็นยังไงกันบ้างกับเคล็ดลับดี ๆ เพื่อให้เด็ก ๆ สนุกกับการอ่าน ว่าแล้วก็ลองหาหนังสือในบ้าน และอ่านไปพร้อมกับเด็ก ๆ ได้เลย
ที่มา:
https://www.unicef.org/parenting/child-care/teach-your-child-to-love-reading
https://www.highspeedtraining.co.uk/hub/why-is-reading-important-for-children/