Global searching is not enabled.
Skip to main content

Blog entry by Anuntapong Chuen-im

จัดการเงินในกระเป๋าง่าย ๆ ด้วยเทคนิค “Zero-base Budgeting”

จัดการเงินในกระเป๋าง่าย ๆ ด้วยเทคนิค “Zero-base Budgeting”

ด้วยสภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองในปัจจุบันกำลังทำให้หลายต่อหลายคนนั้นประสบปัญหามีเงินไม่พอใช้ ต่อให้ก้มหน้าก้มตาทำงานหนักมากแค่ไหน หาเงินมาเยอะเท่าไหร่ พอสิ้นเดือนทีไรเงินไม่เหลือเก็บเหลือออมเลยแม้แต่น้อย ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ บอกได้เลยว่าส่งผลไม่ดีในระยะยาวอย่างแน่นอน แล้วคนธรรมดาอย่างเรา ๆ จะรับมือกับปัญหาอย่างนี้อย่างไรดีล่ะ?

 แม้อาจจะดูเป็นเรื่องยาก แต่แท้ที่จริงแล้วคำตอบของคำถามข้างต้นนั้นไม่ใช่เรื่องซับซ้อนเลยแม้แต่น้อย เพียงเพื่อน ๆ รู้จัก “เทคนิค” ที่ถูกต้องแล้วล่ะก็ จะสามารถช่วยให้เงินในกระเป๋าของเพื่อน ๆ ไม่ละลายหายไปในพริบตา และมีเงินออมอย่างสม่ำเสมอตลอดทุก ๆ เดือน แม้เพื่อน ๆ จะมีรายได้เท่าเดิมก็ตาม โดยวันนี้เทคนิคสุดเจ๋งที่จะเข้ามาเป็นพระเอกขี่ม้าขาวในการแก้ปัญหาการบริหารเงินในกระเป๋านั่นก็คือเทคนิคที่เรียกว่า Zero-base Budgeting หรือถ้าแปลเป็นไทยก็คือ 'การทำงบประมาณแบบรวมศูนย์'

 

ถ้าอยากรู้ว่าเจ้าเทคนิคงบประมาณแบบรวมศูนย์นั้นเจ๋งแค่ไหน ก็ไปดูกันได้เลย!

 

รู้จักกับงบประมาณรวมศูนย์กันเสียก่อน

งบประมาณรวมศูนย์นั้นถือเป็นกลยุทธ์ทางการเงินที่มาจากแนวคิดที่ว่าเพื่อน ๆ ต้อง "ใช้จ่าย" เงินทุกบาททุกสตางค์ที่เพื่อน ๆ หามาได้ให้ไม่เหลือ โดยเจ้าเทคนิคนี้จะมองว่าการออมเงิน และการลงทุน ก็เสมือนเป็นค่าใช้จ่ายรายเดือนอื่น ๆ ที่เพื่อน ๆ ใช้เป็นประจำ เช่นเดียวกัน นั่นหมายความว่าเพื่อน ๆ จะต้อง "จ่าย" เงินที่หามาได้ด้วยตัวเองทุกเดือนไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม และเงินทั้งหมดที่หามาได้นั้นจะมีหน้าที่ของมันอยู่เสมอนั่นเอง

 

แต่ทว่ารูปแบบการใช้จ่ายนั้นจะไม่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่ต้องเกิดจากการออกแบบการใช้จ่ายอย่างพิถีพิถัน มีการตั้งเป้าหมายเสมอ ทั้งยังต้องรู้จักหาประโยชน์จากผลพลอยได้ของการใช้จ่าย เช่น นำแต้มจากบัตรเครดิตไปแลกสิทธิ์ประโยชน์ หรือส่วนลดต่าง ๆ เป็นต้น

 

ซึ่งโดยปกติแล้วสิ่งที่บริหารจัดการได้ง่าย ๆ ก็คือค่าใช้จ่ายคงที่ทั้งหลาย ซึ่งเราต้องจ่ายแบบ “เท่า ๆ กัน” ในทุกเดือน เช่น ค่าผ่อน หรือค่าเช่าบ้าน, ค่าผ่อนรถ ค่าเบี้ยประกัน, ค่าผ่อนสินค้า หรือเงินกู้ต่าง ๆ เป็นต้น และปัญหาก็จะเกิดเมื่อเราต้องเผชิญกับค่าใช้จ่ายผันแปร ค่าใช้จ่ายที่มักจะผันผวน และไม่เท่ากันในทุก ๆ เดือนนั่นเอง

 

แต่ทว่าเมื่อเพื่อน ๆ หันมาใช้เทคนิคนี้ บอกได้เลยว่ามันจะเป็นประโยชน์อย่างมากในแง่ของการรับมือค่าใช้จ่ายที่ผันผวน เพราะเราจะต้องประมาณค่าใช้จ่ายที่ผันผวนทั้งหมดของเราในเดือนนั้น ๆ แล้วตั้งแต่ต้น ซึ่งสิ่งที่สำคัญคือเมื่อเราตั้งเป้าหมายการใช้จ่ายที่ชัดเจนสำหรับแต่ละหมวดหมู่เหล่านี้ เราก็ต้องจะไม่ใช้จ่ายเกินกว่าที่วางแผนด้วย

 

ขั้นตอนง่าย ๆ ในการทำงบประมาณแบบรวมศูนย์

  1. กำหนดรายได้ต่อเดือน : ขั้นแรกของการทำงบประมาณแบบรวมศูนย์ก็คือการระบุรายได้ครัวเรือนทั้งหมดของเพื่อน ๆ ในเดือนนั้น ๆ ทั้งนี้หากเพื่อน ๆ เช็คดูแล้วพบว่าเงินเดือนของเพื่อนมักจะไม่เท่ากันเสมอ เนื่องจากอาจจะมีอาชีพเป็นฟรีแลนซ์ หรือทำงานเป็นกะ เพื่อน ๆ ก็สามารถกำหนดรายได้ส่วนนี้โดยดูจากรายได้เฉลี่ยต่อเดือนในช่วง 12 เดือนก่อนหน้านี้เป็นกรอบในการประมาณการนั่นเอง

 

  1. ประเมินค่าใช้จ่าย : ขั้นต่อมา เพื่อน ๆ ต้องย้อนไปทำการตรวจสอบการใช้จ่ายที่เคยเกิดขึ้นแล้วเป็นเวลาอย่างน้อยสองหรือสามเดือน โดยนำรายการทั้งหมดจดบันทึกหมวดหมู่การใช้จ่าย และค่าใช้จ่ายของเพื่อน ๆ ภายในแต่ละรายการ ที่สำคัญอย่าลืมแบ่งการจ่ายให้เป็นช่วงเวลาที่เท่า ๆ กันตามที่เพื่อน ๆ สะดวก ไม่ว่าจะเป็นรายไตรมาส หรือครึ่งปี

 

ซึ่งวิธีที่ง่ายที่สุดในการย้อนดูว่าเราใช้เงินกับอะไรบ้างคือการตรวจสอบใบแจ้งยอดบัญชีธนาคาร และบัตรเครดิตของเรา และนั่นจะทำให้เพื่อน ๆ ค้นพบอย่างคร่าว ๆ ว่าอะไรเป็นปัญหาของเรา เรามีอัตราส่วนการเก็บเงินที่มากพอไหมในแต่ละเดือน แล้วเราใช้จ่ายกับอะไรหนักไปรึเปล่า?

 

  1. กำหนดค่าใช้จ่ายที่มีความสำคัญเป็นอันดับแรก : กำหนดจำนวนเงินที่เฉพาะเจาะจงให้กับค่าใช้จ่ายแต่ละรายการในงบประมาณของเรา โดยเริ่มจากค่าใช้จ่ายที่มีลำดับความสำคัญ เช่น ภาระผ่อนต่าง ๆ ค่าเช่า ค่าสาธารณูปโภค อาหาร และการเดินทาง และเมื่อจบแต่ละเดือนเพื่อน ๆ จะต้องประเมินตัวเลขเหล่านี้ใหม่ทุก ๆ ครั้ง เพื่อสร้างกรอบงบประมาณของเดือนถัดไป เพื่อดูว่าเราวางเงินสำหรับส่วนต่าง ๆ น้อยไป หรือมากเกินไป

 

  1. ต้องเน้นการชำระหนี้ และการออม : หลังจากหักค่าใช้จ่ายที่มีความสำคัญแล้ว สิ่งที่ต้องตามมาก็คือการปลดทุกภาระที่มี หากเรามีหนี้มาก ก็ต้องเพิ่มเงินในส่วนที่เป็นหนี้ เพื่อรีบเคลียร์ให้จบ หากเรามีหนี้ไม่เท่าไหร่ ก็อัดเงินออมเข้าไปจากปกติอีกนิด การทำเช่นนี้จะช่วยให้เพื่อน ๆ บรรลุเป้าหมายได้เร็วขึ้นเนื่องจากเราจะต้องจ่ายเงินให้กับรายการงบประมาณเหล่านั้นทุกเดือนอย่างสม่ำเสมอ

 

  1. หางานให้เงินก้อนที่เหลือทำ : จากนั้นเงินที่เหลือจะถูกนำมากำหนดให้กับหมวดหมู่ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ของเรา ไม่ว่าจะเป็นเพื่อความสุข ความบันเทิง หรืออะไรก็แล้วแต่ ซึ่งเงินส่วนนี้เผื่อไว้เยอะสักหน่อยก็ไม่เป็นการเสียหาย เราจะได้ไม่ต้องทนทุกข์ทรมาณกับค่าใช้จ่ายที่รัดกุมเกินไป

 

หลังจากทำการกำหนดทุกอย่างแล้ว เราต้องทำอะไรต่อ?

  1. เราต้องติดตามการใช้จ่ายของเรา : ดังที่บอกไปข้างต้นว่างบประมาณรวมศูนย์จะใช้งานได้อย่างเห็นผลก็ต่อเมื่อเพื่อน ๆ ติดตามการใช้จ่ายอย่างจริงจัง โดยต้องทำอย่างเข้มงวดตลอดทั้งเดือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับค่าใช้จ่ายที่ผันผวนทั้งหลายและเหลือเท่าใด

 

  1. ใช้บัตรเครดิตให้เป็นประโยชน์ : แม้การติดตามการใช้จ่ายของเราจะช่วยให้เรามีความรับผิดชอบต่อเป้าหมายของเราได้ แต่บางครั้งเราทั้งหลายก็ต้องการตัวช่วย นั้นก็คือเจ้าบัตรเครดิตนั่นเอง ซึ่งนอกจากจะทำให้เราสามารถผ่อนชำระสินค้าได้แล้ว ยังมีสิทธิ์ประโยชน์มากมายให้เรามาแลกใช้ ซึ่งจะช่วยเราประหยัดไปได้อย่างเหลือเชื่อ!

 

  1. เราต้องมีเงินสำรองฉุกเฉิน : เรื่องไม่คาดคิดนั้นเกิดขึ้นได้เสมอ เพราะฉะนั้นแล้วหากเพื่อน ๆ อยากให้การทำตามแผนการณ์ทั้งหมดนั้นเป็นไปอย่างราบรื่น ไม่ต้องมาสะดุดเมื่อเผชิญกับเรื่องไม่คาดฝัน ไม่ว่าจะเป็น ค่าซ่อมบ้าน ค่าซ่อมรถ ค่ารักษาพยาบาล ฯลฯ เราควรจะจัดเก็บเงินทุนฉุกเฉินไว้เสมอ และนำมันมาใช้เฉพาะกับเรื่องที่ฉุกเฉินจริง ๆ เท่านั้นนะ ไม่ใช่ว่าแบบหยิบเงินก้อนนี้ไปซื้อเสื้อผ้าที่อยากได้ล่ะ เดี๋ยวจับตีมือเลย

 

มาถึงตรงนี้เพื่อน ๆ ก็คงเห็นแล้วว่าการบริหารค่าใช้จ่ายแบบ “งบประมาณรวมศูนย์” นั้นดีงามมากแค่ไหน เพราะเราจะสะท้อนการจับจ่ายการใช้สอยของตัวเองตลอด แถมยังมีเงินเหลือเก็บ และเหลือเที่ยวอีก ฉะนั้นแล้วหากจะวางแผนจัดการเงินที่มีคราวหน้า อย่าลืมหยิบวิธีนี้ไปใช้ดูนะ

 

บทความ: MULA Learning
รูปประกอบ: MULA Learning

 

  • Share