Global searching is not enabled.
Skip to main content

Blog entry by Anuntapong Chuen-im

เสริมพัฒนาการลูกน้อย ฉบับสบายกระเป๋า

เสริมพัฒนาการลูกน้อย ฉบับสบายกระเป๋า

ในห้างสรรพสินค้าหลาย ๆ ที่ มองไปทางไหนก็เจอโรงเรียนสอนพัฒนาการเด็ก หรือคอร์สกิจกรรมสำหรับเด็กที่ราคาไม่เด็กเลย พ่อแม่ที่มีทุนทรัพย์ก็พร้อมส่งลูกน้อยเข้ารับการฝึกต่างๆ แต่สำหรับพ่อแม่ทั่ว ๆ ไปที่หาเช้ากินค่ำ ก็ได้เพียงแต่มองเด็กคนอื่น ๆ เข้าเรียนคอร์สเหล่านี้

ไม่ต้องกังวลใจไป การฝึกพัฒนาการลูกน้อยไม่จำเป็นต้องเข้าคอร์สหรือว่าหากิจกรรมแพง ๆ เพื่อลูกเสมอไป วันนี้มูลามีวิธีเสริมพัฒนาการลูกน้อยในฉบับสบายกระเป๋า ที่พ่อแม่ท่านไหน ๆ ก็สามารถนำไปใช้กับลูกได้ โดยมูลาขอแบ่งเป็นตามช่วงอายุดังนี้

 

1. ลูกน้อยวัย 0 – 1 ขวบ

สำหรับเด็กในวัยนี้ จะเริ่มหัดใช้ประสาทสัมผัสเพื่อรับรู้สิ่งต่าง ๆ
สิ่งที่เด็ก ๆ ควรทำได้คือการเริ่มเคลื่อนไหวร่างกาย ไม่ว่าจะนั่ง คลาน หรือก้าวเดิน โบกมือทักทาย ส่งเสียงตอบสนองต่อสิ่งรอบตัว แยกแยะได้ว่าใครเป็นใคร

กิจกรรมที่ควรทำกับลูกน้อยในช่วงวัยนี้ควรเป็นกิจกรรมทีส่งเสริมประสาทสัมผัสของเด็ก ๆ ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุย เปิดเพลงและร้องเพลงไปพร้อม ๆ กัน อุ้มหรือกอดเด็ก ๆ ให้คุ้นเคยกับการสัมผัส อ่านนิทานด้วยเสียงต่าง ๆ ให้เด็กแยกแยะเสียงหรือฟังคำศัพท์ใหม่ ๆ จากนิทาน เป็นต้น

 

2. ลูกน้อยวัย 1 – 2 ขวบ

เด็กในวัยนี้จะเป็นตัวเองมากยิ่งขึ้น เริ่มพัฒนาบุคลิก จำตัวเองในรูปภาพหรือกระจก จำหน้าตาและชื่อของคนรอบข้างได้ เริ่มเลียนแบบพฤติกรรมของคนอื่น เข้าใจภาษาได้เยอะมากขึ้น ตอบสนองต่อคำสั่งง่าย ๆ ได้บ้าง

 

กิจกรรมที่ควรทำกับลูกน้อยในช่วงวัยนี้คือ เริ่มให้หาและจดจำสิ่งต่างรอบตัว ไม่ว่าจะเป็น สิ่งของ อวัยวะในร่างกาย บุคคลในบ้าน เล่นเกมจับคู่เพื่อเชื่อมโยงความเหมือนของสิ่งต่าง ๆ รอบตัว เริ่มคุยกับลูกด้วยภาษาง่าย ๆ โดยมีท่าทางประกอบ ร้องเพลง เล่านิทาน เพื่อให้เด็กรู้จักคำศัพท์เยอะขึ้น ฝึกให้เด็ก ๆ แต่งตัวเอง หรือหยิบจับอะไรด้วยตัวเอง เป็นต้น

 

3. ลูกน้อยวัย 3 – 5 ขวบ

เด็กในวัยนี้จะมีพัฒนาการทางภาษาดีขึ้น เริ่มสงสัยซักถามสิ่งต่างๆรอบตัว อยากรู้อยากเห็นมากขึ้น และพัฒนาบุคลิกภาพจากคนรอบข้างมากขึ้น สิ่งที่เด็ก ๆ ควรทำได้คือ ร้องเพลง พูดคุยและเล่นกับเพื่อน ๆ หยิบจับสิ่งของได้ถนัด เล่าเรื่องที่พบเจอ แบ่งแยกผู้ชายผู้หญิง เป็นต้น

 

กิจกรรมที่ควรทำกับลูกน้อยในช่วงวัยนี้ก็คือ การฝึกให้เด็ก ๆ พูดเป็นประโยคที่ครบถ้วน สอนให้รู้จักคำศัพท์ที่ผู้ใหญ่ใช้ ให้ช่วยหยิบจับงานเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น เช็ดโต๊ะ หรือเก็บของให้เข้าที่เข้าทาง อ่านหนังสือหรือสอนอ่านหนังสือให้กับเด็ก ๆ สำหรับเด็กวัยนี้ จะเริ่มมีความอยากรู้อยากเห็นสังคมภายนอก ควรสอนให้ระมัดระวังคนแปลกหน้า หรือเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันต่าง ๆ

 

4. ลูกน้อยวัย 6 – 8 ขวบ

ลูกน้อยในวัยนี้จะเริ่มเข้าสังคมภายนอกมากยิ่งขึ้น เช่น กลุ่มเพื่อนในโรงเรียน เริ่มทำกิจกรรมส่วนตัวได้ด้วยตนเอง ว่ากันว่าวัยนี้เองจะเป็นช่วงที่เด็ก ๆ พัฒนาความมั่นใจในตัวเอง เพื่อเข้ากับสังคมใหม่ ๆ เริ่มเข้าใจความต้องการของทั้งตนเองและคนรอบข้าง

 

กิจกรรมที่ควรทำกับลูกน้อยในช่วงวัยนี้คือ สร้างความมั่นใจให้กับเด็ก ๆ ด้วยการสนับสนุนให้ทำสิ่งที่ชอบหรือถนัด พูดชื่นชมถึงความสำเร็จของเด็ก ๆ สอนให้เด็ก ๆ รู้บทบาทหน้าที่ของตนเอง และมีความเห็นอกเห็นใจคนรอบข้าง ส่งเสริมให้เด็ก ๆ สร้างเพื่อนใหม่ หรือเข้าสังคมอื่น ๆ นอกเหนือจากห้องเรียน ตั้งกฎระเบียบบางอย่างเพื่อให้เด็กฝึกทำตามและอยู่ในกฎของสังคมหมู่มาก เป็นต้น

 

เป็นยังไงกันบ้าง หลังจากที่เราทำความเข้าใจพัฒนาการของเด็กวัยต่าง ๆ แล้ว พ่อแม่ อย่างเราก็น่าจะหากิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก ๆ ได้ง่ายขึ้นแล้ว มูลาเชื่อว่าลูกน้อยจะต้องพัฒนาทักษะที่จำเป็น และเก่งสมวัยแน่นอน

 

ที่มา :

https://www.cdc.gov/ncbddd/childdevelopment/positiveparenting/index.html

 

บทความ: MULA Learning
รูปประกอบ: MULA Learning

  • Share