การค้นหาแบบครอบคลุมทั้งหมดยังไม่ได้เปิดใช้งาน
ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

Blog entry by Anuntapong Chuen-im

คำศัพท์น่ารู้ในธุรกรรมการเงินดิจิตอล ภาค 1

คำศัพท์น่ารู้ในธุรกรรมการเงินดิจิตอล ภาค 1

มือถือของเรานี่สารพัดประโยชน์จริง ๆ เลย สามารถทำอะไรได้ตั้งหลายอย่าง สั่งของ ช้อปปิ้ง แม้กระทั่งธุรกรรมทางการเงินก็สามารถทำได้ เชื่อว่าเพื่อน ๆ หลายคนต้องมีแอปพลิเคชันของธนาคารต่าง ๆ ติดเครื่องแน่นอน บางคนอาจจะมีกระเป๋าสตางค์ออนไลน์ (e-wallet) หรือมีแอปฯเพื่อการลงทุนในมือถือด้วยซ้ำ แต่บางที อาจจะมีคำศัพท์แปลก ๆ หรือข้อความแปลก ๆ ที่เราอาจจะยังไม่เข้าใจนัก วันนี้มูลาขอรวบรวมคำศัพท์ที่เพื่อน ๆ ควรรู้สำหรับการทำธุรกรรมทางการเงินแบบดิจิตอลมาฝากกันนะ

 

              ลิสต์คำศัพท์น่ารู้

              1. E-statement

              หมายถึง รายการเดินบัญชีแบบออนไลน์ สามารถเรียกดูได้แบบย้อนหลัง มีหน้าตาเหมือนกับรูปแบบกระดาษที่ขอได้ที่สาขาธนาคาร รายการเดินบัญชีแบบออนไลน์นี้สามารถขอได้ผ่านแอป- พลิเคชันของธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ โดยมากจะทำเรื่องขอได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

 

2. Two-Factor Authentication (2FA)

หมายถึง ระบบรักษาความปลอดภัย เมื่อลงชื่อเข้าใช้แอปพลิเคชันหรือโปรแกรมที่เกี่ยวข้องทางการเงิน เป็นต้นว่า หลังจากที่ผู้ใช้งานลงชื่อเข้าไปในระบบแล้ว ตัวโปรแกรมจะส่งรหัสพิเศษเข้าโทรศัพท์มือถือหรืออีเมล ให้เรากรอกรหัสที่ได้อีกครั้งเพื่อเข้าระบบ เป็นการยืนยันตัวตนของเราว่าเราเป็นผู้ใช้งานจริง ๆ  ไม่ใช่แค่คนที่รู้รหัสเข้าโปรแกรมนั้น ๆ

โปรแกรม 2FA ที่เป็นที่รู้จักเช่น Google Authenticator หรือ Microsoft Authenticator

 

3. Phishing

หมายถึง การพยายามเอาข้อมูลส่วนตัวหรือข้อมูลที่ใช้ในการทำธุรกรรมออนไลน์จากคนอื่นด้วยวิธีการหลอกลวงว่าเป็นหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ เช่น หลอกให้บอกหรือพิมพ์เลขบัตรประชาชน วันเดือนปีเกิด หลอกให้ตอบกลับอีเมลพร้อมใส่ชื่อบัญชีผู้ใช้ และรหัสผ่าน 

ฉะนั้นแล้ว เพื่อน ๆ จะต้องตรวจสอบความน่าเชื่อถือของหน่วยงาน หรือคนที่ติดต่อเราว่าเป็นหน่วยงานจริงหรือไม่ หากติดตามข่าวสารอย่างครบถ้วน ก็จะทราบว่า หน่วยงานหรือธนาคารต่าง ๆ ไม่ได้มีนโยบายให้เราแจ้งข้อมูลส่วนตัว หรือรหัสผ่านใด ๆ นอกเหนือจากมีเหตุการณ์ที่จำเป็นจริง ๆ

 

4. Cryptocurrency

หมายถึง หน่วยสกุลเงินดิจิตอลที่มักทำการซื้อขายออนไลน์ ตัวอย่างสกุลเงินดิจิตอลที่เป็นที่นิยม เช่น บิทคอยน์ (Bitcoin) อีเทอเรียม (Ethereum) ไลท์คอยน์ (Litecoin) คาร์ดาโน (Cardano) ไบแนนซ์คอยน์ (Binance coin)

 

5. Digital Wallet / E-wallet

หมายถึง ระบบกระเป๋าสตางค์ออนไลน์ที่ทำให้ผู้ใช้สามารถใช้จ่ายซื้อของโดยไม่ต้องหยิบจับเงินสด ต้องมีการสร้างบัญชีผู้ใช้ รหัสผ่านเพื่อความปลอดภัย กระเป๋าสตางค์ออนไลน์กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากความสะดวกในการจับจ่ายใช้สอยนั่นเอง

ในปัจจุบันมีกระเป๋าสตางค์ออนไลน์ให้เลือกใช้บริการจำนวนมาก เพื่อน ๆ ควรเลือกใช้บริการกับเจ้าที่มีความน่าเชื่อถือ โดยอาจลองเริ่มใช้จากจำนวนเงินน้อย ๆ เพื่อความคุ้นชินในการใช้จ่ายก่อนได้

 

6. Peer-to-Peer (P2P) Payment

หมายถึง การที่โอนเงินจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่ง ผ่านระบบหรือแอปพลิเคชันเพื่อการโอนเงิน มีผู้ให้บริการหลายรายในต่างประเทศ เช่น PayPal Venmo หรือ Cash App เพียงแค่ผู้โอนจะต้องมีข้อมูลส่วนตัวบางอย่างของอีกฝ่ายเพื่อใช้ในการโอน เช่น อีเมล หรือหมายเลขโทรศัพท์ โดยมากบริการเหล่านี้ไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ไม่แพร่หลายเท่ากับการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร

 

7. Dip Chip

หมายถึง การยืนยันตัวตนด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น เครื่องอ่านบัตรต่าง ๆ เป็นการตรวจสอบหลักฐานที่เราใช้ยืนยันตัวตนเพื่อทำธุรกรรมออนไลน์ เป็นต้นว่า บัตรประชาชนที่เราใช้ลงทะเบียนถูกต้องหรือไม่ โดยหลักฐานที่สามารถทำการ Dip Chip ได้จำเป็นต้องมีชิปเป็นส่วนประกอบด้วยนะ เช่น พวกสมาร์ทการ์ดต่าง ๆ

 

8. NDID

ย่อมาจาก National Digital ID เป็นการยืนยันตัวตนออนไลน์ที่ทำได้ผ่านแอปพลิเคชันหรือโปรแกรมออนไลน์ ไม่จำเป็นต้องตรวจสอบหลักฐานตัวจริงที่ใช้ในการยืนยันตัวตน เพื่อขอบริการทางการเงินต่าง ๆ เช่น การเปิดบัญชีฝากเงิน หรือการยื่นภาษีออนไลน์ เป็นต้น หลังจากยืนยันด้วยขั้นตอนนี้แล้ว ก็สามารถใช้งานแอปพลิเคชันทางการเงินได้ โดยไม่ต้องยืนยันตนอีก เว้นเสียแต่ว่ามีการแก้ไขจากสถาบันการเงินเจ้าของแอปพลิเคชันนั้น ๆ

 

9. KYC

ย่อมาจาก Know Your Customer เป็นขั้นตอนที่สถาบันการเงินใช้ตรวจสอบตัวตนของลูกค้า อาจมีการใช้ Dip Chip หรือ NDID ในขั้นตอนนี้อีกด้วย

ถามว่าบริการทางการเงินใดที่ต้องใช้ KYC อ้างอิงจาก FINNOMENA นั้น มีบริการทางการเงินที่เกี่ยวข้องดังนี้ ธุรกรรมธนาคาร ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล บริษัทการจัดการการลงทุน และบริการประกันภัย

 

              การที่รู้จักคำศัพท์ในวงการธุรกรรมทางการเงินออนไลน์จะทำให้เราเข้าใจบริการ และข้อควรระวังต่าง ๆ มากขึ้น ทำให้เราใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่จากบริการออนไลน์เหล่านี้ มูลาเชื่อว่า จะเป็นส่วนเล็ก ๆ ที่ทำให้เราจัดการการเงินได้ดีขึ้น และทำให้สุขภาพทางการเงินของเราดีขึ้นด้วยนะ

 

 

ที่มา:

https://www.investopedia.com/terms/d/digital-wallet.asp

https://authy.com/what-is-2fa/

https://n26.com/en-eu/blog/types-of-cryptocurrency#:~:text=A%20coin%20is%20any%20cryptocurrency,any%20coin%20other%20than%20Bitcoin.

https://www.nerdwallet.com/article/banking/p2p-payment-systems

https://www.sopeople.asia/dip-chip-vs-ndid/

https://zipmex.com/th/learn/what-is-dip-chip/

https://www.finnomena.com/bitkub/get-to-know-kyc/

 

บทความ: MULA Learning
รูปประกอบ: MULA Learning

  • แชร์