Global searching is not enabled.
Skip to main content

Blog entry by Anuntapong Chuen-im

วิธีปฏิเสธ “การยืมเงิน” แบบนิ่มนวล ที่คนโดนยืมเงินบ่อยต้องรู้

วิธีปฏิเสธ “การยืมเงิน” แบบนิ่มนวล ที่คนโดนยืมเงินบ่อยต้องรู้

เชื่อได้เลยว่าทุก ๆ คนนั้นจะต้องเคยเจอ “การถูกขอยืมเงิน” อย่างน้อยสักหนึ่งครั้งในชีวิตอย่างแน่นอน ซึ่งนี่ก็นับเป็นอีกหนึ่งปัญหาโลกแตกที่เรียกได้ว่าผลักให้ใครหลาย ๆ คนอยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้า คายไม่ออก เลยก็ว่าได้ ถ้าใครโชคดีได้ “ลูกหนี้” ที่ดีหน่อย ลูกหนี้เรานั้นก็จะคืนเงินตรงเวลา ไม่ต้องให้มาคอยตามทวงจนปวดหัว แต่ทว่าในความเป็นจริงแล้วคนส่วนมากไม่ได้โชคดีขนาดนั้น เพราะเหล่าลูกหนี้ “คนสนิท” ทั้งหลาย เมื่อได้เงินไปจากเราก็จะหายเข้ากลีบเมฆในทันที ครั้นจะไปทวงเขา ก็โดนเขาตวาดกลับมาอีกเสียนี่ เห้อ... น่าหนักใจเหลือเกิน

 

แล้วเราควรจะทำอย่างไรดีล่ะ? เมื่อคนสนิทรอบ ๆ ตัว ไม่ว่าจะเป็นญาติพี่น้อง หรือแม้แต่เพื่อนมาขอยืมเงิน แต่เราเองก็ไม่อยากจะให้เขายืม ทั้งก็ยังคงอยากจะรักษามิตรภาพเอาไว้ด้วย จะปฏิเสธแรง ๆ ก็กลัวจะมองหน้ากันไม่ติด ใช่ไหมล่ะ? บอกได้เลยว่าปัญหาเหล่านี้จะหมดไป เพราะทางเรามีกลเม็ด เคล็ดวิชาชั้นเลิศ มาสอนให้เพื่อน ๆ แล้ว กับ วิธีปฏิเสธ “การยืมเงิน” แบบนิ่มนวล ที่คนโดนยืมเงินบ่อยต้องรู้

 

เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา ไปอ่านกันได้เลย!

 

วิธีที่ 1 : ขอเวลาตัดสินใจสักพัก

การ “ขอเวลา” นั้นถือเป็นเทคนิคการปฏิเสธที่นุ่มนวล และชาญฉลาดเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะเป็นการ “ซื้อเวลา” ให้กับตัวเราในการตัดสินใจ หรือให้คำตอบว่าเราจะยอมให้บุคคลดังกล่าวยืม หรือไม่ให้ยืม หรือไม่ นี่ยังเป็นการ “เซฟตัวเอง” และอาจจะทำให้ผู้มาขอยืมเงินนั้น “เปลี่ยนเป้าหมาย” จนสามารถไปยืมเงินบุคคลอื่นได้สำเร็จก่อนที่เราจะตอบตกลงเสียอีก

 

วิธีที่ 2 : บอกว่ามีคนอื่นยืมไปแล้ว

เทคนิคนี้คุณอาจจะต้องใช้ทักษะในการปั้นนำเป็นตัวเขามาช่วยเล็กน้อย (แต่ก็ดีกว่าการเสี่ยงที่จะเสียเงินจำนวนมากใช่ไหมล่ะ?) โดยการบอกผู้ที่มาขอยืมเงินว่ามีคนยืมเงินตัดหน้าเขาไปก่อนแล้ว ซึ่งการทำแบบนี้จะทำให้คนที่มาขอยืมเงินเรานั้นยากที่จะต่อรองกับเรา และทำให้เราพ้นจากการถูกตามตื๊อได้ ก็เงินเราไม่มีแล้วถูกไหมล่ะ? เขาจะเดือนร้อนแค่ไหน แต่ตัวเราเองไม่มีเงินให้ ใครจะทำอะไรได้ถูกมั้ย? เมื่อเขาเห็นว่าเราเองก็เครียดเรื่องการเงินเหมือนกัน สุดท้ายก็คงเลิกราไปเอง

 

วิธีที่ 3 : เปลี่ยนจากการ ให้ยืม เป็น ให้ ไปเลย

คงปฎิเสธไม่ได้ว่า การอยากจะรักษาน้ำใจ ก็อาจจะมีราคาที่เราต้องจ่าย (แต่มันก็ดีกว่าเราต้องจ่ายเติมจำนวนที่คนมาขอยืม) แต่ทางเราก็ขอเตือนไว้ก่อนเลยว่าวิธีการนี้เหมาะที่จะใช้กับคนที่เรามองว่าสนิทใจมาก ๆ เท่านั้น เพราะหากใช้พร่ำเพรื่อล่ะก็ กระเป๋าเงินเราก็จะแบนเอาได้ง่าย ๆ

 

โดยหลักการของการ “ให้” แทนที่จะ “ให้ยืม” ก็คือการให้เงินจำนวนหนึ่งกับคนที่มาขอยืมไปเลยโดยที่เราจะไม่ทวงเงิน หรือนับบุญคุณกับผู้ยืมอีก แต่ทั้งนี้ไม่ควรให้มากกว่า 50% ของจำนวนทั้งหมดโดยเด็ดขาด ทั้งนี้หากเราโดนยืมเงินในจำนวนมากจริง ๆ ให้แค่ 10-25% ก็ไม่น่าเกลียดอะไร ที่สำคัญต้องคำนึงเอาไว้เลยว่าห้ามให้การที่คนอื่นมายืมเงินนั้นเดือดร้อนกับตัวเราเป็นอันขาด

 

วิธีที่ 4 : ให้ยืมโดยมีข้อแลกเปลี่ยน

ไหน ๆ เราก็มีโอกาสที่จะเสียเงินก้อนจากการปล่อยให้คนรอบตัวยืมแล้ว การมี “ข้อแลกเปลี่ยน” หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ การวางหลักประกัน ก็จะช่วยให้เรานั้นไม่สูญเงินไปเปล่า ๆ เพราะอย่างน้อยก็ได้สิ่งของบางอย่างมาแทน

 

หากเพื่อน ๆ จะมองภาพให้ชัดเจน ก็ลองนึกถึงภาพของ “โรงรับจำนำ” ดูนะ วิธีการนี้ก็คือเราเล่นบทเป็นโรงรับจำนำนี่แหละ บอกได้เลยว่า Win-Win ทั้งสองฝ่ายแน่นอน

 

วิธีที่ 5 : ช่วยหาทางออกอื่น ๆ ให้แทน

การที่ใครคนหนึ่งจะมาขอยืมเงินคนอื่น ๆ นั่นก็มักจะมาจากการที่เรานั้นมีเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจนั่นเอง ฉะนั้นแล้วหากเราไม่สามารถสนับสนุนเขาเป็นตัวเงินได้แล้วล่ะก็ การช่วยหาทางออกอื่น ๆ เช่น แนะนำให้ไปยืมคนอื่น ชี้ช่องทางหารายได้เสริม แนะแนวทางขอสินเชื่ออื่น ๆ จากธนาคาร หรือแหล่งปรึกษาด้านสินเชื่อที่ได้มาตรฐาน เพื่อเป็นการปฏิเสธแบบเนียน ๆ และอย่างน้อยก็อาจจะเป็นตัวช่วยให้เขาพ้นจากปัญหาได้ นับเป็นการแสดงน้ำใจให้คนที่มาขอยืมเงินเราได้เห็นอีกด้วยนะ

 

วิธีที่ 6 : พูดตรง ๆ

แม้เราจะมีวิธีการมากมายในการ “ปฏิเสธ” แบบอ้อม ๆ ดังที่ได้เล่ามาแล้วข้างต้น แต่สุดท้าย วิธีการที่จริงใจที่สุดนั่นก็คือการปฏิเสธไปตรง ๆ นั่นเอง ซึ่งการทำแบบนี้จะทำให้เพื่อน ๆ ได้มองเห็นเลยว่า คนที่เรามองว่าเป็นมิตรนั้น แท้ที่จริงแล้วเขามองเราในแบบเดียวกันหรือไม่? เพราะหากเป็นเพื่อน หรือญาติพี่น้อง ที่เคารพกันจริง ๆ แล้วล่ะก็… การปฏิเสธการให้ยืมเงินนั้นจะไม่ใช่ปัญหาใหญ่อะไรเลย

 

สุดท้ายแล้ว วิธีการข้างต้นก็เป็นเพียงเทคนิคที่จะช่วยให้เพื่อน ๆ เอาตัวรอดจากสถานการณ์อันไม่พึ่งประสงค์ไปได้ แต่ทว่าการให้ใครยืม หรือไม่ยืมเงินมันก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ มากกว่านั้น บางคนก็สมควรที่เราจะให้เขายืม เพราะเขาคนนั้นเดือดร้อนจริง ๆ ฉะนั้นแล้วเพื่อน ๆ ต้องชั่งน้ำหนักเรื่องนี้ให้ดีนะ อย่าให้เดือดร้อนตัวเองล่ะ!

บทความ: MULA Learning
รูปประกอบ: MULA Learning
 

 

  • Share