การค้นหาแบบครอบคลุมทั้งหมดยังไม่ได้เปิดใช้งาน
ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

Blog entry by Anuntapong Chuen-im

มัดรวมวิธีแก้นิสัย “ผัดวันประกันพรุ่ง”

มัดรวมวิธีแก้นิสัย “ผัดวันประกันพรุ่ง”

เวลามีงานอะไรเขามา หลาย ๆ คนมีวิธีการจัดการไม่เหมือนกัน บางคนทนไม่ได้ต้องรีบทำงานให้เสร็จล่วงหน้า คนจำนวนไม่น้อยต้องรอพลังแห่งเดดไลน์มาผลักดันให้เราเริ่มทำงานอะไรบางอย่าง ซึ่งหากเพื่อน ๆ คนไหนเป็นอย่างหลัง อาจจะมองได้ว่าเป็นคนผัดวันประกันพรุ่ง

นานวันไป การผัดวันประกันพรุ่งอาจจะส่งผลเสียต่อเราแบบไม่รู้ตัว วันนี้มูลาขอมัดรวมวิธีการแก้ไขพฤติกรรมผัดวันประกันพรุ่งให้เราทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพกันนะ

 

เข้าใจพฤติกรรมการผลัดวันประกันพรุ่งแบบใหม่

              บางคนมองเรื่องนี้ว่าเป็นเรื่องของการจัดการเวลาแบบไม่มีประสิทธิภาพ แต่ในการศึกษาแบบใหม่พบว่า เรื่องการผัดวันประกันพรุ่งนี้ เกี่ยวข้องกับจิตวิทยา กล่าวคือเป็นการกระทำที่ทำเพราะเราไม่สามารถรับมือกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเราต้องทำอะไรบางอย่าง เช่น รู้สึกเบื่อ รู้สึกไม่สนุก หรือไม่อยากรู้สึกเครียดในงานชิ้นนั้น หรือเราคิดล่วงหน้าไว้ว่างานชิ้นนั้นเมื่อทำแล้วต้องรู้สึกกังวลหรือเครียดแน่ ๆ จึงผัดงานออกไปเรื่อย ๆ และเริ่มทำงานเมื่อใกล้กำหนดส่งนั่นเอง

เรื่องการผัดวันประกันพรุ่งนั้นก็มีหลากหลายรูปแบบ อ้างอิงข้อมูลจากมหาวิทยาลัยอินเดียนาสเตท (Indiana State University) ได้แบ่งรูปแบบของการผัดวันประกันพรุ่งออกเป็น 6 รูปแบบดังนี้

  1. คนที่รักความสมบูรณ์แบบ
    หลายคนเลือกที่ผัดงานออกไป เพราะบอกตัวเองว่ายังไม่พร้อมทำ มีข้อมูล มีความรู้ไม่เพียงพอ หรือว่ายังไม่ได้มีแผนการทำงานอย่างจริงจัง จึงเลือกผัดงานออกไปจนกว่าตัวเองจะรู้สึกพร้อมในการทำงานชิ้นนั้น
  2. คนที่ชอบเพ้อฝัน
    หลายคนไม่ได้เริ่มทำงานจริงจังเสียที เพราะมัวแต่ตั้งเป้าหมายยิ่งใหญ่ ฝันอย่างสวยงาม แต่พอจะเริ่มลงมือทำนั้น ไม่รู้จะทำอย่างไร หรือไม่ได้มีความตั้งใจจริงที่จะทำให้เป้าหมายเหล่านั้นเป็นจริง
  3. คนขี้กังวล
    ประเภทนี้คือคนที่กลัวการเปลี่ยนแปลง การเริ่มต้นทำอะไรใหม่ ๆ เพราะกลัวว่าผลลัพธ์ที่เราทำอาจไม่ถูกต้อง จึงขอผัดวันไปเรื่อย ๆ เสียอย่างนั้น
  4. คนหัวดื้อ
    รูปแบบนี้การที่เราตั้งคำถาม ตั้งข้ออ้างต่าง ๆ เพื่อไม่ทำงาน จนไม่ได้เริ่มทำงานอะไรเสียที
  5. คนที่ชอบสร้างปัญหา
    หลายคนไม่อยากทำงานมาก ๆ จนสร้างปัญหาขึ้นมาในงานชิ้นนั้นเสียเลย เพื่อให้กำหนดส่งของงานนั้นเลื่อนออกไป
  6. คนที่บ้าทำงาน
    สำหรับข้อนี้คือคนที่อยากทำอะไรเยอะ ๆ ไม่รู้ว่าสามารถทำได้จริงหรือไม่ จนสุดท้ายทำไม่ทัน และต้องผัดงานออกไปนั่นเอง

 

ผลเสียของการผัดวันประกันพรุ่ง

              แม้การผัดวันประกันพรุ่งจะก่อให้เกิดความเครียด หรือความกังวลซึ่งดูไม่ได้ร้ายแรงอะไร แต่หากมีพฤติกรรมแบบนี้อย่างต่อเนื่อง สุดท้ายแล้วการผัดวันประกันพรุ่งก็จะส่งผลเสียต่อเราอยู่ดี อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ Psychology Today การผัดวันประกันพรุ่งก่อให้เกิดผลเสียดังนี้

  1. ภาวะนอนไม่หลับ ความเครียดสะสม
  2. การเลือกรับประทานอาหารที่ไม่เป็นประโยชน์
  3. เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิต และโรคที่เกี่ยวข้องหลอดเลือดหัวใจ

 

แก้นิสัย “ผัดวันประกันพรุ่ง” ด้วยวิธีการเหล่านี้

              ความจริงแล้ว ไม่ได้มีวิธีการตายตัวในการแก้พฤติกรรมดังกล่าว อย่างไรก็ตามมูลาได้คัดเลือกวิธีการที่ไม่ยากเกินไป ใคร ๆ ก็ลองทำตามได้เหล่านี้มาให้เพื่อน ๆ

 

  1. เข้าใจว่างานที่ต้องทำนั้นสำคัญอย่างไร
    การที่เราเข้าใจว่า ทำไมต้องทำงานชิ้นนี้ หรืองานชิ้นนี้ให้คุณค่าอะไรกับเรา จะช่วยทำให้เราเห็นข้อดีของการทำงานมากขึ้น นอกเหนือไปจากการที่เราคิดไปเองว่างานชิ้นนี้มีแต่จะทำให้เราเครียด หรือกังวล
  2. เลิกคิดแง่ลบเกี่ยวกับงาน

บางคนตั้งแง่ไปก่อนแล้วว่า งานชิ้นนี้มีแต่ความน่าเบื่อ หรือความเครียด จนเราไม่อยากสละเวลาที่เรามีความสุขในตอนนี้ไปเริ่มทำงานดังกล่าว หากเราลองบอกตัวเองให้ได้ว่า งานชิ้นนั้นอาจจะไม่ได้น่าเบื่อ หรือทำให้เราเครียดได้ขนาดนั้น ทำไมเราจะไม่ลองทำงานชิ้นนั้นดูก่อนละ แบบนี้ก็อาจจะทำให้เราเริ่มทำงานได้ง่ายขึ้น

  1. ตั้งเวลาให้กับการทำงานนั้น ๆ

ไหน ๆ ใครมักบอกตัวเองว่า เราจะทำงานเมื่อเรามีเวลาทำ สุดท้ายแล้วก็ไม่ได้ทำ สิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจเสียใหม่ คือ เราต่างหากที่ต้องเป็นคนจัดสรรเวลาให้เราทำงานนั้น ๆ ไม่ใช่รอเวลาที่เหลือ ๆ มาทำงาน เพราะถ้าเป็นอย่างนั้น เราคงไม่ได้เริ่มทำงานอะไรแน่ ๆ

  1. งานใหญ่ไปก็ทำให้เล็กสิ
    ข้อนี้งานที่เราได้รับมอบหมายมา อาจจะยาก หรือเยอะ จนเราไม่อยากทำงานนั้น เราลองดูเนื้องานว่าเราสามารถแบ่งเป็นส่วน ๆ ได้ไหม เริ่มทำวันละเล็กวันละน้อย เพื่อให้เราทำเสร็จทันเวลา วิธีการแบบนี้ยังทำให้งานของเรามีคุณภาพ ไม่ใช่ทำทุกอย่างอย่างลวก ๆ เพื่อให้เสร็จในระยะเวลารวดเดียว
  2. หาสิ่งแวดล้อมที่เราทำงานได้ดีขึ้น

4 ข้อแรกที่กล่าวมากข้างต้น เป็นเรื่องของการควบคุมตัวเองทั้งสิ้น แต่ถ้าเราคิดว่า เราไม่สามรถคุมตัวเองได้ละก็ ทำไมไม่หาตัวช่วย ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อมการทำงาน หรือเพื่อนร่วมงานที่ทำให้เราทำงานได้ดียิ่งขึ้น เช่น บางครั้งเราจะทำงานได้ดีเมื่อมีเพื่อนทำงานพร้อม ๆ กับเรา หรือเราทำงานได้ดีในออฟฟิศมากกว่าการเอางานกลับมาทำที่บ้าน เป็นต้น

 

อย่างที่บอกไปว่า ไม่มีวิธีการตายตัวที่ทำให้แก้เรื่องผัดวันประกันพรุ่งได้ชะงัก แต่เราควรลองหาวิธีการที่เหมาะสมกับเรามากที่สุด เพื่อทำให้เราทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นเอง มูลาขอเป็นกำลังใจให้เพื่อน ๆ ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลดการผัดวันประกันพรุ่งอย่างจริงจังนะ

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

https://www.psychologytoday.com/us/basics/procrastination

https://www.verywellhealth.com/procrastination-causes-types-and-how-to-overcome-5322734

https://www.psychologytoday.com/us/blog/better-than-perfect/201703/11-ways-to-overcome-procrastination

https://missiontothemoon.co/softskill-procrastination/

http://www.indstate.edu/sites/default/files/media/nstp/pdfs/procrastination-types-word.docx#:~:text=Procrastination%20is%20something%20that%20every,Maker%2C%20and%20Over%2D%20doer.

 

บทความ: MULA Learning
รูปประกอบ: MULA Learning 

 

  • แชร์