6
Novemberเช็คเครดิตบูโรง่าย ๆ แค่ปลายนิ้ว
หากใครต้องการกู้หนี้ยืมสิน ทำธุรกรรมการเงินสำคัญ ๆ หรือแม้กระทั่งสมัครงานเข้าบริษัทบางที่ ต่างก็มีขึ้นตอนของการ “ตรวจเช็คเครดิตบูโร” เขมาเกี่ยวข้อง หลาย ๆ คนอาจเคยเช็คแล้ว แต่ยังไม่รู้ว่ามีความสำคัญอย่างไร และมีวิธีการแบบไหนได้บ้างที่เราจะสามารถเช็คเครดิตได้ง่าย ๆ
วันนี้มูลาขอนำเสนอความรู้เกี่ยวกับเครดิตบูโรและวิธีการขอเครดิตบูโรแบบง่าย ๆ ที่หลายคนยังไม่เคยรู้ ไปดูกันเลย
เครดิตบูโรคืออะไร
ข้อมูลจากบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ระบุว่า เครดิตบูโร หรือแท้ที่จริงเรียกว่า ข้อมูลเครดิต คือข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับประวัติการชำระหนี้ของบุคคลหรือนิติบุคคล โดยประกอบด้วยข้อมูล 2 ส่วนคือ
- ข้อมูลส่วนตัว ประกอบด้วย ชื่อ นามสกุล เลขบัตรประจำตัวประชาชน สถานภาพการสมรส เป็นต้น หากเป็นนิติบุคคล จะมีข้อมูลสถานที่ตั้ง เลขที่ทะเบียนนิติบุคคล
- ข้อมูลสินเชื่อที่ได้รับอนุมติ และประวัติการชำระหนี้ ชำระสินค้าด้วยบัตรเครดิต และสถานะบัญชี เช่น สินเชื่อนั้น ๆ เป็นสินเชื่อปกติ สินเชื่อที่ปิดบัญชีแล้ว สินเชื่อที่ค้างชำระเกิน 90 วัน สินเชื่อที่อยู่ในกระบวนการทางกฎหมาย ฯลฯ
เนื่องจากข้อมูลเครดิตเกี่ยวข้องกับประวัติชำระหนี้ จึงสามารถบ่งบอกวินัยและพฤติกรรมทางการเงินโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการชำระหนี้ ส่งผลต่อภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือของบุคคลหรือบริษัทนั้น ๆ ในเรืองการเงินได้ทันทีนั่นเอง
แล้วสงสัยกันไหมว่าข้อมูลเครดิตที่ว่าเริ่มเก็บอย่างไร คำตอบก็คือ สถาบันทางการเงินจะส่งข้อมูลเกี่ยวกับสินเชื่อของลูกค้ามาให้บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด เป็นรายเดือน หากมีกรณีที่บุคคลใดค้างชำระ ผิดนัดเกิน 90 วัน สถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด จะส่งข้อมูลการชำระหนี้ก้อนนี้อย่างต่อเนื่องอีก 5 ปีเลยทีเดียว
ทั้งนี้ทั้งนั้น บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด จะจัดเก็บข้อมูลของแต่ละบุคคลในฐานข้อมูลเป็นระยะเวลา 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับข้อมูลจากสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกนั่นเอง
ข้อดีของการตรวจเครดิตบูโร
แน่นอนว่า ข้อมูลเครดิตจะเป็นประโยชน์แก่สถาบันการเงิน หรือบริษัทต่าง ๆ ในการประเมินวินัยและพฤติกรรมการชำระหนี้ แต่การตรวจเครดิตบูโรอย่างสม่ำเสมอ ยังมีประโยชน์ต่อเราเองอีกด้วย โดยข้อดีของการตรวจข้อมูลเครดิตมีดังนี้
- ทำให้มั่นใจว่าได้ชำระหนี้ต่าง ๆ อย่างครบถ้วน ไม่มียอดใดค้างชำระ
- ทำให้มั่นใจว่าไม่มีหนี้ก้อนใหม่ หรือความเคลื่อนไหวแปลก ๆ ในชื่อของเรา ซึ่งข้อนี้สำคัญมาก เพราะในปัจจุบันมีการแอบอ้างตัวบุคคล ใช้เอกสารปลอมเพื่อทำธุรกรรมทางการเงินต่าง ๆ ตามข่าวที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนั่นแหละ
- ทำให้มั่นใจว่าข้อมูลเครดิตของเราที่มีในปัจจุบันถูกต้องครบถ้วน ในบางกรณีที่สถานะของสินเชื่อไม่ถูกต้อง การที่เราตรวจเช็คอย่างสม่ำเสมอจะทำให้เราขอแก้ไขได้อย่างทันท่วงที ไม่มีประวัติด่างพร้อยนั่นเอง
นอกจากนี้ เพื่อน ๆ สบายใจได้เลยว่า การขอตรวจเครดิตของตัวเอง ไม่มีผลต่อประวัติของเรา หรือทำให้การขอสินเชื่อยุ่งยากแต่อย่างใด
วิธีการในการเช็คเครดิตบูโร
เพื่อน ๆ ที่อยู่ในกรุงเทพคงเคยอาจจะเห็นศูนย์ตรวจเครดิตบูโรกันบ้าง ซึ่งนั่นวิธีที่หลาย ๆ คนคุ้นเคย แต่รู้หรือไม่ว่า เราสามารถตรวจเครดิตบูโรผ่านทางออนไลน์กันแล้ว ซึ่งมีตัวเลือกมากมายดังนี้
- ตรวจเครดิตบูโรผ่านแอปพลิเคชันธนาคาร แล้วรับผลทางอีเมล ได้แก่
ธนาคารกรุงเทพ รับผลทันที
ธนาคารเกียรตินาคินภัทร รับผลทันที
ธนาคารกรุงไทย รับภายใน 24 ชั่วโมง
ธนาคารออมสิน รับภายใน 24 ชั่วโมง
ธนาคารทีทีบี รับภายใน 24 ชั่วโมง
ธนาคารกรุงศรี รับภายใน 3 วันทำการ
ทั้งนี้ทั้งนั้น อาจมีเงื่อนไขอื่นๆ เช่น สามารถเช็คข้อมูลสำหรับบุคคลธรรมดาเท่านั้น เป็นต้น
- ตรวจเครดิตบูโร ผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ซึ่งจะได้รายการข้อมูลเครดิตแบบสรุปเท่านั้น
สำหรับเพื่อน ๆ ที่อยู่ต่างจังหวัด และต้องการไปขอกับเจ้าหน้าที่โดยตรงนั้น สามารถทำได้ดังนี้
- เคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทย กรุงศรี ธอส. แลนด์แอนด์เฮ้าส์ และธ.ก.ส.ทุกสาขา
- กดผ่านตู้เอทีเอ็ม โดยใช้บัตรเอทีเอ็มธนาคารกรุงไทย หรือไทยพาณิชย์
- ที่ทำการไปรษณีย์
โดยตัวเลือก 3 ข้อข้างต้นจะได้รายงานภายใน 7 วันทำการผ่านไปรษณีย์ลงทะเบียน
ทั้งนี้ทั้งนั้นเงื่อนไขข้างต้นอาจมีการเปลี่ยนแปลง เพื่อน ๆ สามารถเช็คสถานที่การขอตรวจข้อมูลเครดิตผ่านเว็บไซต์ของ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ได้ที่ https://www.ncb.co.th/
เป็นยังไงกันบ้าง หวังว่าเพื่อน ๆ จะรู้จักข้อมูลเครดิตกันมากขึ้น และรู้วิธีการขอข้อมูลเครดิตแบบง่าย ๆ กันนะ ข้อสำคัญที่สุดคือ เราจะต้องสร้างประวัติการชำระหนี้ที่ดี เพื่อทำให้ข้อมูลเครดิตเป็นประโยชน์กับเราในการทำธุรกรรมในอนาคตนะ
ที่มา:
https://www.ncb.co.th/ncb-infographic/credit-bureau-check-report-money-kiosk-5
https://www.ncb.co.th/ncb-infographic/credit-bureau-always-check-good-5
https://www.ncb.co.th/check-your-credit-bureau/where-to-check-credit-bureau
บทความ: MULA Learning
รูปประกอบ: MULA Learning