การค้นหาแบบครอบคลุมทั้งหมดยังไม่ได้เปิดใช้งาน
ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

Blog entry by Anuntapong Chuen-im

เบื่อแล้วบัญชีเงินฝาก…ทางเลือกเพื่อการออมเงินอื่น ๆ

เรื่องการออมเงินเนี่ย เป็นเรื่องแสนเบสิกสำหรับใครที่อยากมีสุขภาพทางการเงินที่ดี ไม่ว่าจะอยากมีเป้าหมายใด ๆ ที่ต้องใช้เงิน การออมเงินเป็นสิ่งที่เราไม่ทำไม่ได้ เป็นประตูด้านแรกสำหรับความมั่งคั่งนั่นเอง ก่อนหน้านี้มูลาได้แนะนำกลเม็ดเคล็ดลับในการออมเงินให้เราออมเงินได้อย่างต่อเนื่องกันมาบ้างแล้ว คราวนี้มูลาจะขอมาบอกเล่าช่องทางสำหรับการออมเงินกันบ้าง ถ้าใครนึกออกแต่บัญชีเงินฝากแล้วล่ะก็ ต้องอ่านบทความตอนนี้เลย รับรองว่าจะได้เห็นทางเลือกอื่น ๆ ที่เราจะออมเงินได้ มาดูกัน

 

เรื่องเบสิกของการออม

ไม่ว่าจะออมเงินผ่านช่องทางใด เราควรเข้าใจวัตุประสงค์หลักของการออมเสียก่อน อ้างอิงข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย การออมคือการแบ่งรายได้ส่วนหนึ่ง เพื่อวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายที่เราต้องการ หากจะออม เราควรแบ่งการออมออกเป็น 4 จุดประสงค์หลัก อันได้แก่

  1. การออมเพื่อกรณีฉุกเฉิน เช่น เจ็บป่วยหนัก ต้องเข้าโรงพยาบาล
  2. การออมเพื่อวัยเกษียณ เพราะเราคงไม่สามารถทำงานหาเงินไปได้ตลอด
  3. การออมเงินเพื่อเติมฝัน แตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล เช่น ออมเงินเพื่อซื้อบ้าน ออมเงินเพื่อซื้อของที่อยากได้
  4. การออมเพื่อการลงทุน

 

ถ้าจะเลือกช่องทางการออม ควรดูอะไรบ้าง

อ้างอิงจากแหล่งข้อมูลเดียวกัน เพื่อน ๆ ควรพิจารณาเรื่องดังนี้

  1. ผลตอบแทนว่ามากพอ หรือสมเหตุสมผลหรือไม่
  2. ระยะเวลาในการออม เช่น บางผลิตภัณฑ์ทางการเงินระบุชัดว่าเราต้องออมเงินอย่างน้อยกี่เดือน หรือกี่ปี
  3. สภาพคล่องของผลิตภัณฑ์ บางครั้งเราจำเป็นต้องนำเงินออมมาใช้เพื่อเกิดเหตุจำเป็นจริง ๆ สินทรัพย์เหล่านั้นสามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดพร้อมใช้ได้รวดเร็ว สะดวกแค่ไหน
  4. อัตราค่าธรรมเนียม เช่น บางผลิตภัณฑ์ทางการเงินมีข้อกำหนดพิเศษว่าห้ามถอนเงินมาใช้เกินกี่ครั้ง
  5. ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ส่วนมากดอกเบี้ยมักจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% แต่ก็มีข้อยกเว้นในบางกรณี

 

ทางเลือกทางการออมที่ไม่ใช่บัญชีเงินฝาก

เอาล่ะ หากใครเบื่อแล้วกับการออมด้วยบัญชีเงินฝาก ลองดูผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ใกล้เคียง เพื่อการออมเหล่านี้เลย

  • สลากออมทรัพย์

หลายคนต้องรู้จักข้อนี้อย่างแน่นอน ยิ่งถ้าเป็นใครที่ชอบซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลแล้วล่ะก็ อาจจะถูกใจกับทางเลือกการออมข้อนี้แน่นอน เพื่อน ๆ สามารถเลือกซื้อสลากออมทรัพย์จากสถาบันทางการเงิน สลากที่ว่ามีอายุกำหนดชัดเจน เช่น 3 ปี 5 ปี และสามารถรอลุ้นรางวัลรายเดือน หากเราถือจนครบกำหนด เราก็จะได้ดอกเบี้ยตามข้อกำหนดของสลากนั้น ๆ โดยมากผู้ออกสลากจะเป็นสถาบันการเงินของรัฐ ยกตัวอย่างสลากออมทรัพย์ที่มีในปัจจุบัน เช่น สลากออมสิน สลากธ.ก.ส. สลากธอส. ซึ่งมีรูปแบบให้เลือกหลากหลาย เพื่อน ๆ ควรหาข้อมูลประกอบการตัดสินใจให้ดี

  • ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์

ข้อนี้หากใครได้ติดตามบทความก่อนหน้า มูลาได้แนะนำผลิตภัณฑ์ทางการเงินตัวนี้ไปแล้ว สรุปโดยย่อ คือ เป็นประกันที่คุ้มครองชีวิต ที่เราสามารถสะสมเงินได้ด้วย เพราะเมื่อครบกำหนดกรรมธรรม์ เราจะได้เงินคืนพร้อมดอกเบี้ย แถมในบางปี กรมสรรพากรยังประกาศให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับผู้ที่ต้องเสียภาษีและมีประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ แต่ถ้าหากเพื่อน ๆ อยากรู้ข้อมูลเพิ่มเติม ลองหาอ่านได้จากบทความก่อนหน้าของมูลาได้เลย

  • พันธบัตร ตราสารหนี้ หุ้นกู้

3 ข้างต้นนี้ความจริงแล้วคือ สิ่งเดียวกัน เรียกรวม ๆ เป็นประเภทใหญ่ว่า ตราสารหนี้ อ้างอิงจากกลุ่มตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตราสารหนี้คือ ตราสารทางการเงินที่ผู้ถือ มีสถานะเป็นเจ้าหนี้ แก่หน่วยงานที่ออกตราสารหนี้นั้น ๆ เมื่อเจ้าหนี้ลงทุนเป็นเงิน ตามระยะเวลาข้อกำหนด หน่วยงานที่ออกตราสารหนี้จะต้องจ่ายเงินต้นคืนพร้อมดอกเบี้ย
ประเภทของตราสารหนี้จึงแตกต่างกันออกไปตามหน่วยงานที่เป็นผู้ออกตราสารนั่นเอง กล่าวคือ

“พันธบัตร” เป็นตราสารหนี้ที่ภาครัฐเป็นผู้ออก ไม่ว่าจะเป็น กระทรวง รัฐวิสาหกิจ หรือธนาคารแห่งประเทศไทย

“หุ้นกู้” เป็นตราสารหนี้ที่บริษัทเอกชนเป็นผู้ออก เพื่อระดมทุนจากนักลงทุน

ไม่ว่าจะเป็นตราสารหนี้เป็นประเภทใด ๆ ตราสารหนี้เป็นช่องทางการลงทุนที่ความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ และให้ผลตอบแทนค่อนข้างสม่ำเสมอ อย่างไรก็ดี มีโอกาสในการขาดทุนอยู่เหมือนกันนะ

  • กองทุนรวมตลาดเงิน

ข้อนี้อาจไม่ใช่การออมเงินที่ไม่มีความเสี่ยง แต่เป็นการลงทุนที่ถือว่ามีความเสี่ยงต่ำมาก ๆ อ้างอิงข้อมูลจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา กองทุนรวมตลาดเงิน เป็นกองทุนรวมประเภทหนึ่งที่ลงทุนในเงินฝาก และ/หรือ ตราสารหนี้ที่มีคุณภาพ ทั้งในไทยและต่างประเทศที่มีอายุคงเหลือไม่เกิน 1 ปี
มีสิทธิได้ผลตอบแทนมากกว่าเงินฝาก แต่ก็มีสิทธิที่เราจะขาดทุนได้เช่นกัน

 

เห็นแล้วใช่ไหมว่า การออมเงินไม่ได้มีแค่การฝากเงินในบัญชีธนาคารเท่านั้น แต่ยังมีผลิตภัณฑ์ใกล้เคียงอื่น ๆ ที่มีข้อดี ข้อเสียต่างกันไป เพื่อน ๆ อย่าลืมพิจารณาจากปัจจัยข้างบน รวมทั้งความเหมาะสม หรือความสนใจของเรา เพื่อให้เรื่องออมเงินเป็นเรื่องสนุก และได้รับผลตอบแทนตามที่เราต้องการนะ

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

https://www.bot.or.th/th/satang-story/rights-responsibility/savings-alike.html

https://www.krungsri.com/th/krungsri-the-coach/life/good-life/better-ways-saving-money

https://www.bot.or.th/th/satang-story/money-plan/saving.html

https://www.gsbresearch.or.th/wp-content/uploads/2017/11/7MC_hotissue_save_ex.pdf

https://www.cimbthai.com/th/personal/blog/financial-guru/5-tips-for-manage-money.html

https://www.ananda.co.th/blog/thegenc/%E0%B8%AA%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B9%84%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%96%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B9%83%E0%B8%88%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%A5%E0%B8%B8%E0%B9%89%E0%B8%99-%E0%B8%AD%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B9%83%E0%B8%88%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B9%80%E0%B8%87%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B8%99/

https://www.setinvestnow.com/th/bond

https://www.setinvestnow.com/th/bond/types-of-bonds

 

บทความ: MULA Learning
รูปประกอบ: MULA Learning 

 

  • แชร์