การค้นหาแบบครอบคลุมทั้งหมดยังไม่ได้เปิดใช้งาน
ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

Blog entry by Anuntapong Chuen-im

เช็คให้ชัวร์ 5 ข้อเตือนใจก่อนจะซื้อถลุงเงินไปกับ “Back Friday”

แม้ว่าแต่ก่อนเจ้าเทศกาล Black Friday (วันศุกร์ในสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนพฤศจิกายนของทุกปี) นั้นจะดูเป็นเรื่องไกลตัวนักชอปชาวไทยอยู่มากเลยทีเดียว ก็อย่างว่าแหละ มันเป็นประเพณีของต่างชาติใช่ไหมล่ะ? แต่ด้วยความที่เดี๋ยวนี้อะไร ๆ ก็เปลี่ยนไป โดยโลกของเราได้ก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัว นั่นจึงทำให้เหล่าแอปซื้อขายของออนไลน์ต่าง ๆ เริ่มนำเทศกาลที่ว่านี้มาเป็น “ตัวกระตุ้น” ให้เหล่าขาชอปอย่างเราเสียเงินกันมากขึ้นนั่นเอง ซึ่งตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ก็จะมีทั้ง 1.1 , 2.2 , ... , 11.11 และกำลังจะไปถึง 12.12 โอ้ย เยอะแยะเต็มไปหมด

ทั้งนี้การที่แอปทั้งหลายต่างโหมประโคมเทศกาลลดราคากันแทบทุกเดือนอย่างสม่ำเสมอ ก็ได้ทำพฤติกรรมของเรา ๆ เปลี่ยนไป เริ่มจับจ่ายซื้อของออนไลน์กันมากขึ้น และทำให้เทศกาล Black Friday นั้นกลายเป็นอีกหนึ่งเทศกาลที่คนไทยขาชอปรอคอยกันมากที่สุดแห่งปีเลยก็ว่าได้ เพราะส่วนลดของมันนั้นแรงแซงเทศกาลอื่น ๆ ไปแบบไม่ติดฝุ่นเลย

โดยปกติแล้ว สิ่งที่เราจะหาซื้อได้ภายในเทศกาล “Back Friday” ก็จะมีทั้ง เสื้อผ้า รองเท้า เครื่องสำอางค์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องประดับ ที่พักรีสอร์ตราคาพิเศษ หรือแม้แต่ตั๋วท่องเที่ยวสวนสนุก เรียกได้ว่าครบทุกแขนงเลยแหละ แต่ทว่า! ความครบที่ว่านี้แหละ เป็นเรื่องที่น่ากลัว โดยมันนั้นอาจจะทำให้เราสร้าง “ภาระ” ให้กับตัวเองโดยไม่จำเป็น เพราะถึงแม้เราจะได้ของราคาถูกกว่าปกติก็จริง แต่ในบางครั้ง ของเหล่านี้อาจจะไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการตั้งแต่แรกเลยก็ได้ เพียงแค่ข้อเสนอสุดพิเศษเหล่านี้มันชักจูงเราเท่านั้นเอง โดยชักจูงมาก ๆ เข้า ก็ซื้อของมาเยอะขึ้น ใช้เงินเยอะขึ้น ท้ายที่สุด “ภาระ” ที่ว่านี้อาจจะทำให้เราเครียดไปอีกหลายเดือนเลยก็เป็นได้ ต้องระวังให้ดีเลย

 

ฉะนั้นแล้ว เพื่อป้องกันเหตุการณ์ข้างต้น ทุก ๆ ครั้งก่อนที่จะตัดสินใจถลุงเงินไปกับ “Back Friday” เรามาเช็คให้ชัวร์กับ 5 คำถามเตือนใจก่อนใช้จ่ายเพื่อป้องกันไม่ให้เราก้าวพลาดกันดีกว่า จะมีอะไรบ้าง ไปดูกันเลย

 

 

 

คำถามที่ 1 : ของเหล่านี้จำเป็นมากแค่ไหน? ถ้ามันไม่ Sale แล้วจะยังอยากได้อยู่รึเปล่า?

นี่ถือเป็นหนึ่งในคำถามสุดคลาสสิก ที่ทางเราอยากให้เพื่อน ๆ ทุก ๆ คน ถามตัวเองในทุก ๆ ครั้งก่อนที่จะจับจ่ายใช้สอยเสมอ โดยไม่จำเป็นจะต้องเป็นของชิ้นเล็กที่ลดราคาในเทศกาล Black Friday เพียงอย่างเดียว เพราะแม้แต่ของชิ้นโตอย่างบ้าน หรือ รถ ต่างก็ต้องคิดให้ถี่ถ้วนก่อนจะซื้อทั้งสิ้น มิฉะนั้นอาจจะสิ้นเปลืองเงินที่มีโดยใช่เหตุ และส่งผลให้เราต้องใช้เงินแบบเดือนชนเดือน จนไม่มีเงินเก็บก็เป็นได้

 

ทั้งนี้สำหรับการตัดสินใจซื้อสินค้าลดราคาใน Black Friday เรายิ่งต้องต้องเช็คให้ดีถึงความจำเป็นของมันมากกว่าปกติเสียอีก เนื่องด้วยเรากำลังถูก “ชักจูง” จากส่วนลดที่แสนจะดูดี ดีเสียจนเรายอมซื้อของที่เราไม่คิดจะซื้อมาก่อนนั่นเอง ฉะนั้นแล้วก่อนจะตัดสินใจจ่ายเงินไปกับของ Sale เหล่านี้ ลองถามตัวเองดูสักนิดว่าถ้าไม่ใช่เพราะของชิ้นนั้นลดราคา ตัวเรานั้นจะยังอยากได้มันอยู่ไหม ยกตัวอย่างเช่น กระเป๋าสุดปังที่ Sale จากราคา 2,000 บาท เหลือ 1,500 บาท ก็ฟังดูน่าสนใจไม่น้อยเลยใช่ไหม? แต่ในทางกลับกันหากกระเป๋าใบนั้นขายราคา 1,500 บาท ตั้งแต่แรก เราจะยังอยากซื้ออยู่รึเปล่านะ?

 

คำถามที่ 2 : แน่ใจหรือไม่ว่าเราจะจ่ายไหว? จะเดือดร้อนทีหลังหรือไม่?

หลังสำรวจตัวเองอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้วว่าของที่เราเล็งไว้ว่าจะชอปนั้นมีความจำเป็นต่อเราอย่างแท้จริง ปัจจัยต่อมาก็คือ การตระหนักถึงค่าใช้จ่ายที่เราจะต้องเจอ ซึ่งเป็นเหมือนเงาตามตัว อยากซื้อของ ก็ต้องเสียเงินถูกไหมล่ะ? แต่ถ้าซื้อมาแล้วดันจ่ายไม่ไหว หรือซื้อมาแล้วอาจจะไม่ชอบ หรือไม่ใช้ รับรองว่าคุณจะเสียใจไปอีกนานเลยทีเดียวเชียว

 

โดยการคิดแบบนี้ก็เพื่อให้เรานั้นแน่ใจว่าหลังจากที่เราซื้อไอเท็มนี้ไป มันจะไม่สร้างปัญหาให้เราในภายหลังจริง ๆ นั่นเอง ซึ่งปัญหาหลัก ๆ ที่หลายคนจะเผชิญหลังจากซื้อของเกินตัวก็คือเรื่องเงินนี่แหละ ยกตัวอย่างเช่น สมมุติว่าเราซื้อกระเป๋าราคาแพงมาก ๆ รีบเอฟอย่างไว แล้วพบว่า บิลค่าน้ำ ค่าไฟฟ้าก็ยังไม่ได้จ่าย หรือมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าผ่อนมือถือค้างอยู่อีก กระเป๋าที่ว่าก็อาจจะทำให้เราเดือดร้อนได้ไม่ยากเลย

 

ทั้งนี้ทางออกที่ดีของเรื่องนี้ก็คือ การคำนวณค่าใช้จ่ายอย่างละเอียดถี่ถ้วน ให้มั่นใจว่าสามารถจ่ายไหวโดยไม่เดือดตัวเราเอง ถ้ามั่นใจว่าเรารับไหวชัวร์ ก็ไปเช็คคำถามข้อต่อไปกันได้เลย

 

คำถามที่ 3 : เรากำลังใช้เงินเก็บเพื่อซื้อมันหรือไม่?

คำถามข้อที่ 3 นี้จะเป็นสิ่งที่คอยสนับสนุนเราให้นั้นคำนึงถึง “ความเสี่ยง” ที่อาจจะเกิดขึ้นในภายภาคหน้า และสามารถเผชิญกับมันได้อย่างรอดปลอดภัยโดยไม่สะดุด เพราะในทุก ๆ วันนี้ การตกงานไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป บางคนคำนวณรายรับ - รายจ่าย อย่างเสร็จสรรพ คิดไว้แล้วว่าเอฟของชิ้นนี้แล้วจะจ่ายไหวแน่นอน แต่กลับลืมคิดถึงความไม่แน่นอนในอาชีพเข้าไปด้วย พอตกงานมาที เงินสำรองก็ไม่มี ทีนี้แหละงานเข้าเลยก็ว่าได้! อย่าลืมเก็บเงินเผื่อไว้ให้มาก ๆ เข้าล่ะ จะได้ไม่ต้องมากังวลเอาทีหลัง หากใช้เงินเก็บซื้อของ ก็อย่าใช้มันจนหมดเชียวล่ะ เหลือเผื่อไว้สำหรับเรื่องไม่คาดฝันเอาไว้ด้วย

 

คำถามที่ 4  : เงินที่จะซื้อของชิ้นนี้ สามารถเอาไปทำอะไรได้อีกบ้าง?

หลังจากตอบคำถามทั้ง 3 ข้อด้านบนแบบครบถ้วนแล้ว ก็จะมาถึงคำถามอีกข้อที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าข้ออื่น ๆ เลยก็คือ เราสามารถทำอะไรได้อีกในเงินจำนวนเดียวกันหากไม่ได้ซื้อของเหล่านี้ ซึ่งเป็นการเตือนใจให้เราเห็นถึง “โอกาส” อื่น ๆ ของการจับจ่ายใช้สอยนั่นเอง เพราะบางทีของที่เราอยากได้ แม้จะมีส่วนลดมากมาย แต่ราคาก็ยังคงสูงอยู่ดี บางทีการเอาเงินก้อนดังกล่าวไปทำประโยชน์อย่างอื่น อาจจะส่งผลดีต่อตัวเราในระยะยาวมากกว่าก็เป็นได้

 

ฉะนั้นแล้วก่อนควักเงินซื้อของฟุ่มเฟือย และหลงไปกับส่วนลดสุดปังของ Black Friday ลองหันกลับมาดูเรื่องอื่น ๆ ในชีวิตของเราก่อน ว่าหากเรานั้นเก็บเงินจำนวนนั้นเอาไว้ จะเอาไปทำอะไรได้บ้าง เอาไปลงทุน เอาไปจ่ายค่าอาหารได้ตั้งกี่เดือน ถูกไหมล่ะ?

 

 

 

คำถามที่ 5 : รู้ถึงนโยบายการคืนสินค้า / คืนเงินก่อนตัดสินใจซื้อแล้วหรือยัง?

ข้อดีของการซื้อของออนไลน์กับเทศกาล Black Friday ก็คือผลิตภัณฑ์หรือบริการออนไลน์ส่วนใหญ่มักจะมาพร้อมกับนโยบายการคืนสินค้าหรือการคืนเงินเสมอ ฉะนั้นแล้วก่อนเราจะเลือกซื้ออะไรก็ตาม เรานั้นควรต้องทราบเกี่ยวกับนโยบายที่แน่นอนก่อนเสมอ เพราะก่อนเราจะซื้อเราไม่มีทางชัวร์เลยว่าของชิ้นดังกล่าวนั้นจะถูกใจเรามากแค่ไหน และถ้ายิ่งเป็นของแพง ๆ ด้วยล่ะก็... ถ้าไม่ถูกใจก็เสียดายเงินแย่เลย ดังนั้นการรู้ถึงนโยบายการคืนเงินหรือการคืนสินค้าจะช่วยเราได้ถ้าหากคุณไม่พึงพอใจกับบริการหรือผลิตภัณฑ์ขึ้นมานั่นเอง

 

ท้ายที่สุดนี้ หลังจากเพื่อน ๆ ทุกคนตอบคำถามที่ว่านี้ครบทั้ง 5 ข้อแล้ว ก็คงจะเห็นภาพการใช้จ่ายสำหรับของชิ้นโตเป็นแน่แท้ เพราะฉะนั้นแล้วก่อนจะตัดสินใจเอฟของอะไรก็ตาม เราขอให้เพื่อน ๆ ท่องคำถาม 5 ข้อนี้ไว้ในใจ แล้วหาคำตอบให้ตัวเองให้ได้ก่อนจะจ่ายเงิน รับรองเลยว่าเพื่อน ๆ จะกลายเป็นนักชอปรุ่นใหม่ที่ใช้จ่ายอย่างชาญฉลาด และไม่ตกหลุมพรางนักการตลาดอย่างแน่นอน

 

บทความ: MULA Learning
รูปประกอบ: MULA Learning
 

  • แชร์