การค้นหาแบบครอบคลุมทั้งหมดยังไม่ได้เปิดใช้งาน
ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

Blog entry by Anuntapong Chuen-im

รวมข้อสงสัยเงินชราภาพประกันสังคม: ใคร และเมื่อไหร่ถึงจะได้เงิน

มูลาทราบดีว่า เพื่อน ๆ ชาวมูลาหลาย ๆ คนเป็นหนึ่งในผู้ประกันตนกับกองทุนประกันสังคม เพราะนอกจากจะเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดให้นายจ้างทำเรื่องขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนแล้ว กองทุนประกันสังคมเองก็มีสิทธิประโยชน์ครอบคลุมในหลากหลายเหตุการณ์ กล่าวคือ กรณีเจ็บป่วยหรือประสบอันตราย กรณีคลอดบุตร กรณีทุพพลภาพ กรณีเสียชีวิต กรณีสงเคราะห์บุตร กรณีชราภาพ และกรณีการว่างงาน ซึ่งความครอบคลุมในกรณีชราภาพนี้เป็นหัวข้อยอดฮิตที่ผู้ประกันตนหลายคนสงสัยถึงเงื่อนไขต่าง ๆ เพราะหวังว่ากองทุนนี้จะช่วยให้ชีวิตหลังวัยเกษียณไม่ยากลำบากจนเกินไป มีเงินในการใช้ชีวิตอย่างต่อเนื่อง วันนี้มูลาจึงขอไขข้อสงสัยเรื่องเงินขราภาพกองทุนประกันสังคมว่าเงื่อนไขอะไร ใครและเมื่อไหร่ที่จะได้เงินส่วนนี้ ว่าแล้วไปอ่านกันเลย

 

            เงินชราภาพประกันสังคมมีแบบไหนบ้าง ใครและเมื่อไหร่จะได้

            เงินชราภาพจากกองทุนประกันสังคมนี้สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่ รูปแบบบำเหน็จ (จ่ายเงินก้อนเดียว) และรูปแบบบำนาญ (ทยอยจ่ายเงินรายเดือนตลอดชีวิต) โดยผู้ประกันตนที่จะขอรับเงินชราภาพได้นั้นจะต้องเข้าเงื่อนไขเหล่านี้เสียก่อน

  1. ผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 / มาตรา 39 อายุ 55 ปีบริบูรณ์ สิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน หรือเสียชีวิต หรือสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง
  2. ผู้ประกันตน ตามมาตรา 40 อายุ 60 ปีบริบูรณ์ แจ้งสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน หรือเสียชีวิต

คำถามถัดมาก็คือ เราในฐานะผู้ประกันตนจะสามารถเลือกได้หรือไม่ว่าจะรับเงินเป็นแบบบำเหน็จหรือบำนาญ คำตอบก็คือ ไม่ได้ ในปัจจุบันกองทุนประกันสังคมมีข้อกำหนดว่าใครจะได้เงินรูปแบบใดตามระยะเวลาที่ผู้ประกันตนส่งเงินสมทบ ใช้ระยะเวลาสมทบ 180 เดือนเป็นเกณฑ์หลัก

  1. หากระยะเวลาสมทบไม่เกิน 180 เดือน จะเข้าเกณฑ์รับเงินบำเหน็จ
    - ระยะเวลาสมทบน้อยกว่า 12 เดือนจะได้รับเงินสมทบเฉพาะที่ผู้ประกันตนสะสมไว้
    - ระยะเวลาสมทบตั้งแต่ 12 เดือนแต่ไม่ถึง 180 เดือน จะได้รับเงินส่วนที่ผู้ประกันตนสะสมไว้และส่วนที่นายจ้างสมทบ รวมทั้งผลตอบแทนรายปี
  2. หากระยะเวลาสมทบตั้งแต่ 180 เดือน จะเข้าเกณฑ์รับเงินบำนาญ
    - คิดระยะเวลาสมทบที่ 180 เดือน จะได้ 20% ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย
    - เงินสมทบส่วนที่เกิน 180 เดือน จะได้รับเงินเพิ่มขึ้น 1.5% ของการจ่ายสมทบทุก 12 เดือน

ทั้งนี้ฐานเงินเดือนสำหรับเงินบำเหน็จ บำนาญที่ว่าจะไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือนสำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 และไม่เกิน 4,800 บาทต่อเดือนสำหรับผู้ประกันตนมาตรา 39 ส่วนผู้ประกันตนที่มีอาชีพอิสระตามมาตรา 40 จะมีตัวเลือกในการรับบำเหน็จอย่างเดียวเท่านั้น โดยก่อนหน้านี้ต้องจ่ายเงินสมทบเป็นจำนวน 100 บาทหรือ 300 บาทต่อเดือนเท่านั้น จำนวนเงินบำเหน็จจะแบ่งได้ตามนี้

  1. เงินสมทบ 100 บาทต่อเดือน จะได้เงิน 50 บาท * จำนวนเดือนที่สมทบ + ผลตอบแทนรายปี
  2. เงินสมทบ 300 บาทต่อเดือน จะได้เงิน 150 บาท * จำนวนเดือนที่สมทบ + ผลตอบแทนรายปี

และหากว่าก่อนหน้านี้ผู้ประกันตนมาตรา 40 ส่งเงินเงินสมทบ 300 บาทต่อเดือน และจ่ายสะสมตั้งแต่ 180 เดือนขึ้นไปจะได้รับเงินเพิ่มอีก 10,000 บาทด้วยนะ

 

            ยื่นขอรับเงินชราภาพได้อย่างไรบ้าง

            เมื่อเราเป็นผู้ประกันตนที่เข้าข่ายตามที่บอกไปก็ควรรู้ต่อไปว่า เราจะสามารถยื่นรับเงินชราภาพ ไม่ว่าจะเป็นบำเหน็จหรือบำนาญได้อย่างไรบ้าง อ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานประกันสังคม ขั้นตอนการยื่นมีดังนี้

  1. ผู้ประกันตน/ทายาทผู้มีสิทธิ ต้องกรอกแบบ สปส. 2-01 ลงลายมือชื่อและนำมายื่นที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่หรือสำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสาขา หรือยื่นขอรับทางไปรษณีย์หรือยื่นผ่านอีเมล ตามประกาศสำนักงานประกันสังคมเรื่องช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับติดต่อสำนักงานประกันสังคม พ.ศ.2566 โดยมีหลักฐานครบถ้วน
  2. เจ้าหน้าที่ตรวจหลักฐานและพิจารณา
  3. สำนักงานประกันสังคมมีหนังสือแจ้งผลการพิจารณา
  4. พิจารณาสั่งจ่าย ในรูปแบบต่างๆ กล่าวคือ เงินสด/เช็ค (ผู้ประกันตน/ผู้มีสิทธิมารับด้วยตนเองหรือมอบอำนาจให้บุคคลอื่นมารับแทน) ส่งธนาณัติให้ผู้ประกันตน โอนเข้าบัญชีธนาคารตามบัญชีของผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนหรือบัญชีพร้อมเพย์ที่ลงทะเบียนด้วยเลขประจำตัวประชาชน

หลักฐานที่ต้องใช้ยื่นได้แก่ แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ (สปส. 2-01) และสำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารหน้าแรก ซึ่งมีชื่อและเลขที่บัญชี (กรณีขอรับเงินทางธนาคาร)

 

            อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขและหลักฐานในการยื่นอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ ฉะนั้นเราจึงควรติดตามข่าวอย่างใกล้ชิด หรือสอบถามเจ้าหน้าที่เพื่อให้เราได้รับข้อมูลครบถ้วน และได้สิทธิประโยชน์จากน้ำพักน้ำแรงอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยนั่นเอง จะให้ดีนอกจากเราจะส่งเงินสมทบเพื่อเงินในช่วงเกษียณจากประกันสังคม เราควรวางแผนอย่างอื่นเพิ่มเติม เพื่อให้ชีวิตหลังเกษียณมั่นคงและปลอดภัยขึ้นด้วยล่ะ

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

https://www.sso.go.th/wpr/main/service/%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A1_detail_detail_1_125_695/235_235

https://www.fpo.go.th/main/General-information-public-service/FAQ/2803/2933.aspx

https://www.kwilife.com/blog/detail/social-security-old-age-money-2023-when-can-i-get-it-back-who-is-eligible

https://www.prd.go.th/th/content/category/detail/id/31/iid/303450

https://www.krungsri.com/th/krungsri-the-coach/life/retirement/calculate-money-social-security-retire

https://www.krungsri.com/th/krungsri-the-coach/life/retirement/calculate-money-social-security-retire

https://www.thaipbs.or.th/news/content/336101

 

บทความ: MULA Learning
รูปประกอบ: MULA Learning

  • แชร์