13
Decemberรู้จัก “บัญชีม้า” ให้ดียิ่งขึ้น
สารพัดข่าวที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตทางการเงิน หรือบรรดามิจฉาชีพ เรามักได้ยินว่าเกี่ยวข้องกับบัญชีม้า หรือใช้บัญชีม้าเป็นเครื่องมือในการหลอกลวงคนอื่น ว่าแต่เรารู้จักคำว่า “บัญชีม้า” และความเสียหายที่เกี่ยวข้องกับบัญชีม้าได้มากน้อยขนาดไหน หรือเรารู้วิธีป้องกันความเสียหายได้หรือยัถ้าเพื่อน ๆ ตอบว่า “ยัง” แล้วละก็ บทความนี้เลยจะมาอธิบาย ไขข้อข้องใจที่เกี่ยวข้องกับบัญชีม้าแบบเบื้องต้นให้เพื่อน ๆ มาเริ่มกันเลย
บัญชีม้า คืออะไร
อ้างอิงคำนิยมจากธนาคารแห่งประเทศไทย “บัญชีม้า” คือ บัญชีเงินฝากธนาคารของผู้อื่น ที่นำมาเป็นเครื่องมือหรือช่องทางทำธุรกรรมทางการเงิน โดยเป้าหมายของการเปิดบัญชีม้า คือการทำให้ตรวจสอบเส้นทางทางการเงินเป็นไปได้ยากขึ้น หรือตามหาผู้กระทำความผิดตัวจริงได้ยากมากขึ้น ผู้ที่ใช้บัญชีม้าจึงไม่ใช่คนเราทั่ว ๆ ไป แต่เป็นบรรดามิจฉาชีพที่พยายามหาเงิน หรือจัดการเงินที่ได้รับมาอย่างผิดกฎหมายนั่นเอง
บัญชีม้า จึงเป็นการแอบอ้างใช้บัญชีของคนอื่น เพื่อมาทำในสิ่งที่ผิด สร้างความเสียหายให้กับคนอื่นและมีความผิดทางกฎหมายแน่นอน
วิธีการหลัก ๆ ที่ใช้เปิดบัญชีม้า
ใคร ๆ ก็รู้ว่า บัญชีม้าเป็นช่องทางธุรกรรมทางการเงินที่ผิดกฎหมาย แล้วทำไมบัญชีม้าถึงยังเปิดได้อยู่ หรือมีกันให้เห็นตามข่าวหน้าหนังสือพิมพ์ อ้างอิงข้อมูลจากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ การเปิดบัญชีม้ามีวิธีการหลัก ๆ อยู่ 3 รูปแบบกล่าวคือ
- การถูกหลอก หรือถูกบังคับให้เปิด
หลายครั้งมิจฉาชีพเลือกหลอกคนที่รู้ไม่เท่าทันเทคโนโลยี เช่น ผู้สูงอายุ ให้เปิดบัญชีธนาคารให้ เพื่อแลกกับเงินสดหรือสิ่งของมีค่าต่าง ๆ โดยไม่รู้ว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ส่วนในกรณีที่ถูกบังคับให้เปิดนั้น มักเป็นกลุ่มลูกหนี้นอกระบบ โดยบอกว่า จะใช้บัญชีนี้ในการรับเงินที่ค้างชำระ เป็นต้น - การขายข้อมูลผู้ให้บริการ
หลายคนถูกเปิดบัญชีม้าในชื่อของเราโดยที่เราไม่รู้ตัว แต่มีผู้ให้บริการที่เราลงทะเบียนใส่ข้อมูลเราไป นำข้อมูลของเราไปขายต่อให้มิจฉาชีพ ผู้ให้บริการที่ว่า อาจเป็นบรรดาเว็บพนัน หรือเว็บไซต์ที่ให้เราลงทะเบียนแลกรับของรางวัลต่าง ๆ เป็นต้น - การรับจ้างเปิดบัญชีม้า
ข้อนี้ หลายคนมีความจำเป็นทางการเงิน จนรับจ้างเปิดบัญชีม้าให้กับบรรดามิจฉาชีพ
ความผิดที่เกี่ยวข้องกับบัญชีม้า
เพราะมิจฉาชีพใช้บัญชีม้าเหล่านี้เป็นช่องทางในการทำความผิดทางการเงิน เช่น หลอกให้โอนเงินชำระสินค้า หลอกให้โอนเงินค่าปรับ และข้ออ้างอื่น ๆ ของบรรดาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ จึงสร้างความเสียหายให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์ และย่อมมีโทษทางกฎหมาย
ในตอนนี้ บ้านเราบังคับใช้พระราชกำหนด มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 มีระบุความผิดของบัญชีม้าไว้คือ
“เจ้าของบัญชีม้า หรือเบอร์ม้า ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี
หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงผู้ที่เป็นธุระจัดหา
โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใดๆ เพื่อให้มีการซื้อ ขาย ให้เช่าหรือให้ยืม
บัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์ บัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนเลขหมาย
โทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งลงทะเบียนผู้ใช้บริการในนาม
ของบุคคลหนึ่งบุคคลใดแล้ว แต่ไม่สามารถระบุตัวผู้ใช้บริการได้
ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 - 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 200,000 - 500,000 บาท
หรือทั้งจำทั้งปรับ”
วิธีป้องกันไม่ให้คนอื่นแอบอ้าง
ถึงแม้ว่าเราไม่รู้อิโหน่อิแน่ แต่เราก็จะพลอยติดร่างแหว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการมิจฉาชีพได้ เพราะฉะนั้นเราควรรู้จักป้องกันตัวเอง ไม่ให้เกี่ยวข้องกับความผิดเหล่านี้ เช่น
- อย่าให้ข้อมูลส่วนตัวกับบุคคลอื่น ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ
หากมีใครแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หรือหน่วยงานสถาบันทางการเงินต่าง ๆ แล้วแอบอ้างว่า ต้องการข้อมูลส่วนตัวเหล่านั้นจริง ๆ ควรหาวิธียืนยันว่าบุคคลที่ติดต่อเรามาจากหน่วยงานนั้นจริง ๆ หรือไม่ ดูเบอร์โทรศัพท์ หรือช่องทางการติดต่อสื่อสารว่าตรงกับที่ระบุในเว็บไซต์ทางการหรือเปล่า เป็นต้น - อย่าให้สมุดบัญชี บัตรเอทีเอ็มและรหัสผ่านกับผู้อื่น
- ตรวจสอบเว็บไซต์ให้ดีก่อนกรอกข้อมูลส่วนบุคคลลงไป
- ดูแลเอกสารทางการเงิน หรือเอกสารส่วนบุคคลให้ดี
หากทำหาย ควรรีบแจ้งความ หรือทำบันทึกประจำวัน เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจต่อเจ้าหน้าที่ หากมีการเปิดบัญชีทางการเงินใด ๆ โดยใช้เอกสารที่หายไป อย่างน้อยในข้อนี้อาจใช้ยืนยันตัวเราได้
แม้ว่าบัญชีม้าดูเป็นเรื่องที่ไกลตัว แต่ใครก็สามารถเป็นเหยื่อได้ทั้งนั้น เพราะบรรดามิจฉาชีพก็สรรหาวิธีการใหม่ ๆ ในหลอกล่อและสร้างความเสียหายให้เรา เพราะฉะนั้นเราควรติดตามข่าวสาร และป้องกันตัวเองไม่ให้ไปเกี่ยวพันกับความผิดเหล่านี้ไว้จะเป็นการดีที่สุด
ขอบคุณข้อมูลจาก
https://www.prd.go.th/th/content/category/detail/id/31/iid/225752
https://www.bangkokbiznews.com/news/news-update/1098365
บทความ: MULA Learning
รูปประกอบ: MULA Learning